ข่าว

สานพลังท้องถิ่น-ภาคีเครือข่าย แก้ ‘บูลลี่-ความเครียด’ ใน ‘โรงเรียน’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เวทีเสวนา ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในระดับภูมิภาค สช.สานพลัง ‘ศธ.-ท้องถิ่น’ ใช้เครื่องมือ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จัดการปัญหา ‘บูลลี่-ความเครียด’ ในโรงเรียนทั่วประเทศ

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศในระดับภูมิภาค” ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะล่าสุดที่ได้มีการจับมือลงนามขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา’ ร่วมกับ ศธ. เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

สำหรับธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นกรอบทิศทางหรือข้อตกลงร่วมในเชิงยุทธศาสตร์ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการส่งเสริมสังคมสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน โดยขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานรัฐและเอกชน ให้นักเรียนได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี มีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันสถานศึกษาก็จะมีสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะชัดเจนมากขึ้น

 

 

“เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นสังคมสุขภาวะ ซึ่ง สช. เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้มากว่า 16 ปี และเชื่อว่าการจะทำให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย คือการบูรณาการความร่วมมือ เพราะหากทำคนเดียวผลสำเร็จก็จะได้น้อย แต่การจับมือร่วมกันจะทำให้งานน้อยกลายเป็นมาก งานยากกลายเป็นง่าย โดยหลังจากที่เราปักธงขับเคลื่อนไปทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการขยับเรื่องนี้ในระดับจังหวัด โรงเรียน นำไปสู่การเดินหน้าที่มีความจำเพาะเจาะจงตามบริบทของพื้นที่”

เวทีเสวนา ทิศทางการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในระดับภูมิภาค

 

 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สช. ยังมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่สำคัญ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งก็จะชักชวนเข้ามาร่วมบูรณาการ เชื่อมร้อยและขับเคลื่อนงานกับ ศธ. จากนี้ไปด้วยเช่นกัน บนเป้าหมายของการพัฒนาสุขภาพที่ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา กระจายลงไปสู่ชุมชนและโรงเรียน สอดคล้องตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 และเป้าหมายการปฏิรูประบบการศึกษา

สานพลังท้องถิ่น-ภาคีเครือข่าย แก้ ‘บูลลี่-ความเครียด’ ใน ‘โรงเรียน’

 

ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ปลัดศธ.) กล่าวว่า โครงสร้างของ ศธ. นอกจากการขับเคลื่อนงานของสำนักงานปลัดฯ ในส่วนกลางแล้ว ยังมีหน่วยงานส่วนภูมิภาค ทั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) หรือสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งเดิมบทบาทสำคัญในงานบริหารบุคคลจะอยู่กับ ศธจ. แต่ภายหลังเมื่อคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยกเลิกบทบาทนี้ให้ไปอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันทางสำนักงานปลัดฯ จึงได้กระจายอำนาจงานอื่นๆ ในบางส่วนลงไปแทน

 

สานพลังท้องถิ่น-ภาคีเครือข่าย แก้ ‘บูลลี่-ความเครียด’ ใน ‘โรงเรียน’

ทั้งนี้ ในส่วนของบทบาทใหม่ เช่น ศธภ. จะดูแลงานเสมือนเป็นสำนักงานปลัดฯ ในส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องการพัฒนาบุคคล วิทยฐานะ เลื่อนขั้น เงินเดือน ฯลฯ ส่วน ศธจ. จะเปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานมือขวาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนงานด้านวิชาการ นั่นจึงทำให้บทบาทของศึกษาธิการฯ เหล่านี้เปลี่ยนไป จากการนั่งหัวโต๊ะ กลายมาเป็นโซ่ข้อกลาง ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานให้เข้ามาร่วมดำเนินงาน

 

“การแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษาในพื้นที่ จึงต้องเกิดจากการเชื่อมโยงงานเข้าด้วยกัน บูรณาการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะหน่วยงานของศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานภายนอกอย่าง สช. เช่นเดียวกัน ซึ่งธรรมนูญสุขภาพที่เป็นเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็ใช้หลักการแนวคิดนี้เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ อาศัยโรงเรียนเข้าไปส่งเสริมเรื่องสุขภาพทั้ง 4 มิติ เช่น หากนักเรียนได้รับผลกระทบจากการถูกบูลลี่ หรือเครียดอยากจะกระโดดตึก เราจะทำอย่างไร จึงหวังว่าจะเป็นแนวทางที่ให้ ศธภ. ศธจ. นำไปบูรณาการจัดทำแผนในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้สำเร็จต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าว

สานพลังท้องถิ่น-ภาคีเครือข่าย แก้ ‘บูลลี่-ความเครียด’ ใน ‘โรงเรียน’

 

ด้าน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)  กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เชื่อว่าสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมายที่ต้องการ คือสัมพันธภาพและไมตรีจิต โดย สถ. ก็ได้มีการลงนามความร่วมมือการสนับสนุนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่ ร่วมกับ ศธ. เพื่อเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการศึกษาของชาติฉบับใหม่อย่างมีคุณภาพ

 

บนเป้าหมายบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ปัญหาด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีความสำคัญอย่างมากมาโดยตลอด ซึ่งภาพรวมของ อปท. มีอิสระในการบริหารจัดการด้านการศึกษา ผ่านการบริหารโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก ที่รวมกันทั่วประเทศเกือบ 2 หมื่นแห่ง ดูแลเด็กนักเรียนรวมประมาณ 1.3 ล้านคน ครูและบุคลากรการศึกษาอีกกว่า 6 หมื่นคน แต่กลับมีศึกษานิเทศก์เพียง 131 คน ใน อปท. ที่มีการจัดระบบระเบียบการศึกษา 932 แห่ง จากทั้งหมด 7,849 แห่ง

 

“ศึกษานิเทศก์ เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญแต่ยังมีจำนวนอยู่น้อยมาก การลงนามร่วมกับ ศธ. นี้จะทำให้ท้องถิ่นได้รับความช่วยเหลือในการนิเทศสถานศึกษา ให้นำไปสู่การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานที่มากยิ่งขึ้น เพราะตัวอย่างจากท้องถิ่นหลายแห่งที่บริหารจัดการด้านการศึกษาได้ดี ก็ด้วยการมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เข้ามาร่วมหนุนเสริมให้ท้องถิ่นสามารถปรุงแต่งระบบการศึกษาของเขาได้อย่างเหมาะสม บนเป้าหมายการส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ