ข่าว

กมธ.การเงิน เชิญ รมช.คลัง สาง 'ดิจิทัลวอลเล็ต' -ก้าวไกล ห่วง ผู้ค้ารายย่อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน นัดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง   เข้าให้ข้อมูลว่าด้วย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ชี้การออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในนโยบาย เสี่ยงมีปัญหาเพราะมีรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำกับ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร  (  รองประธานคนที่สอง ) เปิดเผยว่า   วันพุธที่  15 คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ   ได้นัดพิจารณาการดำเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต  โดยได้เชิญ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง  มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯ ( กมธ. )

 

 

 

 

สำหรับประเด็นที่กมธ.  ต้องขอคำชี้แจง  อาทิ การออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าวสามารถทำได้หรือไม่ เพราะมีรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ กำกับอยู่โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ระบุว่าการกู้เงินนั้น ต้องจำเป็นเร่งด่วน  โดยในรายละเอียดนั้นต้องรอฟังคำชี้แจงว่าจะดำเนินการอย่างไร ส่วนข้อท้วงติงทางกฎหมายอื่นๆ หากพบว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมายแล้วจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยที่จะใช้ช่องทางของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ ต้องการให้ฝ่ายการเมืองรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่า 

 

 

 

 

ในกรณีที่ติดเงื่อนไขในกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ว่าด้วยความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายวินัยการเงินการคลังก่อน เพราะรัฐบาลคุมเสียงข้างมาก จึงมีช่องทางให้ทำได้    นอกจากนั้นคือหลักเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ ที่พบข้อกังวลของผู้ค้ารายย่อย ที่เมื่อประชาชนจ่ายเงินดิจิทัลแล้ว ไม่สามารถแลกเป็นเงินสดได้ ต้องนำไปซื้อสินค้าต่อ ซึ่งประเด็นที่พบความกังวล คือ ไม่สามารถนำไปซื้อวัตถุดิบในร้านค้ารายย่อย ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีได้ และมีข้อจำกัดให้ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้น  โดยหากเป็นเช่นนั้นอาจไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

 

 

 

" ผมเตรียมข้อเสนอแนะ เรื่องร้านค้ารายย่อยที่ต้องนำเงินดิจิทัลไปซื้อของในร้านที่อยู่ในระบบภาษีต่อ เพราะถือว่ากีดกันผู้ค้ารายเล็กในตลาดไม่ให้เข้าร่วมได้ เช่น กรณีผู้ค้าขายข้าวมันไก่ เมื่อได้รับเงินจากประชาชน ต้องนำเงินดิจิทัลซื้อไก่ ซื้อข้าวต่อ แต่ไม่สามารถซื้อจากตลาดทั่วไปได้ ต้องนำไปซื้อในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เพราะถือว่าอยู่ในระบบภาษี เท่ากับบีบร้านค้ารายย่อย และมีเพียงร้านค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้นที่เงินจะหมุนบรรจบซึ่งเป็นร้านของเจ้าสัว หากทำแบบนั้นเท่ากับไม่ตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก " นายวรภพ กล่าว

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ