ข่าว

อั้นไม่ไหวแล้ว "มาม่า" ปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 15 ปี คาด มีผลต้น พ.ค.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอเส้นเอาไงดี "มาม่า" อั้นไม่ไหวแล้ว ประกาศปรับขึ้นราคาขายส่ง ครั้งแรกในรอบ 15 ปี คาด มีผลต้น พ.ค.2565 เป็นต้นไป

นับเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทยอยปรับขึ้นราคา โดยล่าสุด บมจ. ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด(TFMAMA) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา "มาม่า" ซัพพลายเออร์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ ได้ทยอยแจ้งการปรับขึ้นราคาสินค้าไปยังคู่ค้าต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี เนื่องจากต้นทุนผลิตพุ่งต่อเนื่อง หลังจากที่พยายามตรึงราคามาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา 

ทางผู้ผลิต แจ้งว่า การปรับราคา "มาม่า" ขึ้นครั้งนี้ เป็นผลมาจากทั้งปัญหาค่าขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบสำคัญ โดยเฉพาะ แป้ง น้ำมันพืช ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอก ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่มาม่า แจ้งปรับราคา หลัก ๆ จะเป็นกลุ่มเส้นสีเหลือง อาทิ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ เป็นต้น โดยมีการปรับราคาขายส่งเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บาท/กล่อง (30 ซอง) หรือ 10-14 บาท/ลัง (6 กล่อง หรือ 180 ซอง) ส่วนเส้นขาว เช่น เส้นหมี่น้ำใส และมาม่า คัพ จะยังไม่มีการปรับราคา

 

การปรับขึ้นราคาขายส่งดังกล่าว จะทำให้ราคาขายมาม่าปรับเป็นกล่องละ 145 บาท จากเดิม 143 บาท และลังละ 870 บาท จากเดิม 858 บาท และในตลาดจะเริ่มทยอยใช้ราคาใหม่นี้ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ "มาม่า" ยังไม่มีการประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีก แต่คาดว่าหลังราคาขายส่งปรับขึ้นดังกล่าวในอีกสัก 1-2 สัปดาห์ หรืออย่างช้า 1 เดือน ราคาขายปลีกในท้องตลาด ก็จะทยอยปรับขึ้นตามมา โดยอาจจะปรับขึ้นเฉลี่ยซองละ 0.50-1 บาท จากเดิมที่ขายในราคา 6 บาท

 

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 รายใหญ่ ทั้งแบรนด์ มาม่า และ แบรนด์ ไวไว  ของบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย ได้ปรับขึ้นราคาขายส่งตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เฉลี่ยประมาณ 3 บาท/กล่อง ที่มีจำนวน 30 ซอง หรือประมาณ 0.083 สตางค์ต่อซอง ขณะที่อีก 2 แบรนด์ คือ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ยำยำ ของบริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ และผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์นิสชิน ของบริษัท นิสชินฟูดส์ ยังไม่มีการแจ้งปรับราคาขายส่ง แต่คาดว่าอาจจะแจ้งตามมาในเร็ว ๆ นี้

 

อย่างไรก็ตาม "มาม่า" ปรับราคาขายครั้งล่าสุดเมื่อช่วงไตรมาส 4 ปี 2550 โดยมีการปรับราคามาม่าทั้งแบบซองและแบบถ้วยคัพ เพิ่มอีก 1 บาท เพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม บริษัทจึงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนต่อไปได้

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ 18 หมวด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หมวดอาหารสด (ไข่ไก่ เนื้อสัตว์) อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ บริการผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ