ข่าว

3 ตัวชี้วัดฝ่าแนวต้าน "โควิด" ภาคการแพทย์รับไม่ไหว แถมเจอถูก "บูลลี่" หนัก

3 ตัวชี้วัดฝ่าแนวต้าน "โควิด" ภาคการแพทย์รับไม่ไหว แถมเจอถูก "บูลลี่" หนัก

22 ก.พ. 2565

"หมอนิธิพัฒน์" เตือน 3 ตัวชี้วัดฝ่าแนวต้าน "โควิด" อีกสัปดาห์ภาคการแพทย์ คงรับไม่ไหว แถมเจอถูก "บูลลี่" หนักอีก

"หมอนิธิพัฒน์" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "นิธิพัฒน์ เจียรกุล" ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด" สายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่ทำตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุดอยู่ในขณะนี้ โดย "หมอนิธิพัฒน์" ระบุว่า ไม่ทันขาดคำ เขาก็ทะลุสถิติเก่าไปไม่ยาก ที่กว่า 3.3 หมื่น ที่ห่วงหน่อยคือ ตัวเลขผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ที่ทยอยฝ่าแนวต้านขึ้นยกแผง สัปดาห์หน้าและสัปดาห์โน้น คงน่าจะเห็นการไปต่อของสามตัวชี้วัดอันหลังนี้ เพราะกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่หวังจะไปเที่ยวพักร้อนกันในอีกหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า ควรรีบไปเสียตอนนี้ ช้าอาจต้องคืนตั๋วคืนที่พัก เพราะเพื่อนร่วมงานเรียงหน้าผลัดกันป่วย แถมงานเข้าจากผู้ป่วยโควิดรุนแรงที่กำลังเพิ่มขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อ ภาคการแพทย์คงจะไม่ไหว สัปดาห์นี้ถ้าไม่เห็นแนวโน้มดีขึ้น คงต้องเข้มงวดมาตรการขึ้นบ้าง เพื่อลดการออกนอกบ้านของผู้คน มิฉะนั้นอาจจะต้องเดินพร้อมกุมขมับตามหลังหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเผชิญอยู่ในขณะนี้ แม้แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ยังสะเทือน

"หมอนิธิพัฒน์" ระบุว่า นอกจากการถูก "บูลลี่" จากคนในและคนนอก เรื่องเกี่ยวกับโควิดตามที่กล่าวไปแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ที่เน้นหนักเรื่องการทำวิจัย ยังมีโอกาสถูกบูลลี่จากเจ้านายในหน่วยงานด้านวิจัยที่ตัวเองสังกัด หรือจำเป็นต้องไปเข้าสังกัด หน่วยงานด้านวิจัยสำคัญ ๆ ของทั้งอเมริกาและอังกฤษ ล้วนโดนร้องเรียน และมีการสอบสวนบุคคลที่ถูกอุปโลกให้คนอื่นเรียกว่าเป็น “เจ้านาย” ของหน่วยงาน โดยพบว่าคนที่ใส่หัวโขนใหญ่สุด กลับทำตัวเป็นยักษ์มารมากกว่าเป็นตัวพระ (ไม่เกี่ยวกับศึกในสภาและนอกสภา ระหว่างพระราม สีดา และทศกัณฐ์ ที่กำลังมันส์หยดขณะนี้)
 

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานวิจัยแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อของอังกฤษ พบว่า 61% เคยถูก บูลลี่ หรือถึงขั้นถูกทำให้เสื่อมเสีย แต่มีเกินครึ่งของคนที่มีประสบการณ์แย่ ๆ นี้ ที่กล้าเปิดเผยเรื่องราวความเป็นจริงออกมา กว่าสามในสี่ของนักวิจัยเห็นว่า "วัฒนธรรมองค์กรการวิจัยที่แข็งกระด้าง" นี้ ช่วยบดบังความคิดสร้างสรรค์ที่จำเป็น สำหรับการดำเนินงานวิจัยไปเสียมากทีเดียว จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องเน้นหนักกัน แต่เรื่องปริมาณมากกว่าคุณภาพของงานวิจัย แรงกดดันทุกด้านของผู้บริหารหน่วยงานวิจัย ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเพศชายเสียด้วย ทำให้นักวิจัยหน้าใหม่ต้องทำตัวลีบ ไม่มีปากไม่มีเสียงก้มหน้าก้มตาผลิตผลงาน เพราะกลัวจะไม่ได้รับค่าตอบแทนที่มากพอ และไม่ได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้าต่อไป ใครที่ทนไม่ไหวก็ออกจากเส้นทางนี้ไป ใครที่อยู่ได้ก็ปรับตัวกันไป มีส่วนน้อยที่อาจเลือกการดัดแปลงผลงานวิจัยจนผิดรูป เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อถูกจับได้และถูกลงโทษ ทั้งในเชิงจริยธรรม และในทางกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงนี้ ล้วนมีบ่อเกิดมาจากการไม่รู้จักควบคุมอัตตาในตัวของมนุษย์ ไม่ยึดมั่นในศีลธรรม และไม่แน่นเหนียวกับการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

 

 

"หมอนิธิพัฒน์" โพสต์ทิ้งท้ายว่า แม้จะชนะแบบเสียไปถึงสองเม็ด พวกเราสาวกปิศาจแดงก็จะไม่บุลลี่ทีมคู่แข่งใกล้เคียง ก้มหน้าก้มตารับคำวิจารณ์และเดินสู่จุดหมายต่อไป ให้เหมือนการเผชิญกับโควิด ก่อนกลายเป็นโรคประจำถิ่น และเหมือนท้องฟ้าสงบเย็นก่อนอาทิตย์อัสดง