โควิด-19

เช็คด่วน 3 อาการหลัก "โอไมครอน" พบชัดแล้วในประเทศไทย เป็นแบบนี้ใช่แน่นอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัปเดต 3 อาการหลัก โควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" ที่พบจากผู้ติดเชื้อ 53,709 ราย ในประเทศไทย เจอมากที่สุดคือ ไม่มีอาการ

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอไมครอน" ระบุว่า ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนเริ่มฉีดในเด็กเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด (ข้อมูล ถึงวันที่ 20 ก.พ.65) เข็มที่ 1 จำนวน 53,126,900 ราย หรือ 76.4%  ส่วน 2 เข็มฉีดแล้ว 49,471,890  ราย หรือ 71.1% ส่วนเข็ม 3 ขึ้นไปฉีดแล้ว 19,126,536 ราย หรือ 27.5% จะพบว่า มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดขอให้มารับบริการ และคนที่ฉีด 2 เข็มแล้ว หากจะป้องกัน "โอไมครอน" ดีขึ้นต้องฉีดเข็ม 3 โดยพบว่า ผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 ไปแล้ว 27.7% หวังว่าหากขึ้นไปถึง 70% การป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในผู้สูงอายุจะลดลงได้ ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดแล้ว 7.7% ซึ่งฉีดเพิ่มต่อเนื่อง จึงเชิญชวนเด็ก ๆ ที่ต้องไปโรงเรียน และที่บ้านมีผู้สูงอายุ ขอให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจะป้องกันทั้งในเด็กและผู้สูงวัย
 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกกว่า 424 ล้านราย เฉพาะวันนี้ มีรายงานกว่า 1.2 ล้านราย ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 5.9 ล้านราย อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1 ล้านกว่าราย สะสมทั้งสัปดาห์วันละ 12.4 ล้านราย เสียชีวิตสะสมรายสัปดาห์ 66,266 ราย ภาพรวมยุโรป สหรัฐอเมริกา ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง มาทางเอเชีย แต่รัสเซียก็ยังสูงอยู่ที่ 1.2 ล้านคน สถานการณ์ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่เวียดนามตัวเลขก็ยังสูง ทั้งสัปดาห์ติดเชื้อ 2.6 แสนราย เรียกว่ารอบ ๆ บ้านเราติดเชื้อขาขึ้น จึงต้องติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาพรวมทั่วโลกเริ่มลดลงในฝั่งยุโรป อเมริกา แต่มาเพิ่มฝั่งเอเชีย ส่วนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก 

 

 

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน 15,981 ราย ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 507,763 ราย สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน  โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย โดยแบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และโรงพยาบาลสนาม 89,326 ราย อยู่ในโรงพยาบาลมีอาการน้อย ๆ อยู่ที่ 76,275 ราย 

 


"กรณีปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันนี้ ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 796 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 202 ราย เสียชีวิตวันนี้ 32 ราย โดยเฉลี่ยเสียชีวิต 14 วันอยู่ที่ 25 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นผู้สูงวัยและผู้มีโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 60% ไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม และไม่ฉีดบูสเตอร์โดส อย่างวันนี้เสียชีวิต 32 รายอยู่ในกลุ่ม 608 ซึ่งมี 16 รายไม่ฉีดวัคซีนสักเข็ม หรือฉีดเพียง 1 เข็ม จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้กลุ่มนี้รับวัคซีน" นพ.จักรรัฐ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลวันที่ 13-19 ก.พ.2565 กรณีผู้ติดเชื้อระลอก ม.ค. รวมจำนวน 115,917 ราย เป็นคนไทย 96.1%  นอกนั้นต่างชาติประมาณ 3%  โดยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ หรือเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน ร้านอาหาร อันนี้คือ 54% ส่วนอีก 44.5%  ผู้สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว หรือกลุ่มใกล้ชิดเสี่ยงสูง

 

 

สำหรับอาการป่วย "โอไมครอน" จากข้อมูล 53,709 ราย พบว่า ไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำ ๆ เป็น 3 อาการหลัก ๆ ที่เราเจอตอนนี้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้น สังเกตอาการแรก ๆ หากตากฝนมา มีเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK ทันที

 

ส่วนที่ผ่านมา อาการ "โอไมครอน" ในประเทศไทย ในระยะแรก จะพบ 8 อาการ ที่พบมากที่สุด คือ

 

  • อาการไอ 54 %
  • เจ็บคอ 37 %  
  • มีไข้ 29 %
  • ปวดกล้ามเนื้อ 15 %
  • มีน้ำมูก 12 %
  • ปวดศีรษะ 10 %
  • หายใจลำบาก  5 %
  • ได้กลิ่นลดลงมีเพียง  2 %  
  • และพบว่า 48% ไม่มีอาการ

 

ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มเด็ก 0.9 ปี เริ่มพบมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนทำงาน พบปะคนก็มีโอกาสติดเชื้อสูง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ต้องเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากการติดเชื้อตอนนี้ แบ่งสีเป็นส้ม และแดง โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 13-19 ก.พ.2565) พบว่า ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศแล้ว เป็นพื้นที่สีแดงและสีส้ม โดยสีแดงมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ต่อประชากรแสนคน ส่วนสีส้มประมาณ 10-99 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งกลุ่มอายุที่ติดเชื้อพบว่า เพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่มากสุดคือ วัยทำงาน และวัยเด็ก ดังนั้น การทำงาน การทานข้าวด้วยกัน การมีกิจกรรมร่วมกัน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอาการปอดอักเสบในกลุ่มวัยต่าง ๆ นั้น กลุ่มเด็กแม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ป่วยหนักไม่เพิ่มมาก ถ้าเทียบกับอายุ 60 ปีขึ้นไปอาการจะมากขึ้น ส่วนวัยทำงานถ้าอายุ 50 กว่าปี ที่มีโรคประจำตัวก็จะทำให้เพิ่มขึ้นได้ 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ