ข่าว

ส่องเบื้องหลังซูเปอร์โพลยก"บิ๊กป้อม"คะแนนพุ่งปรู๊ดติดอันดับบุคคลแห่งปี

ส่องเบื้องหลังซูเปอร์โพลยก"บิ๊กป้อม"คะแนนพุ่งปรู๊ดติดอันดับบุคคลแห่งปี

28 ธ.ค. 2564

ส่องเบื้องหลังซูเปอร์โพล สำรวจความนิยมบุคคลแห่งปีด้านต่างๆ แม้แต่คอการเมืองต้องตะลึงยก"บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับความนิยมในหลายๆด้าน เผยซูเปอร์โพลสร้างพันธมิตร รับทำโพลให้ภาครัฐ สถานศึกษาเพียบ

 

กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทางการเมือง ภายหลัง ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง บุคคลของสังคมแห่งปี2564 ในใจประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,124 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่21 – 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา 

 

ผลของการสำรวจครั้งนี้จะไม่ฮือฮาขึ้นมาได้เลย ถ้าไม่มีการสอบถามความนิยมในหัวข้อ บุคคลแห่งปีที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาสังคม หนี้นอกระบบ ที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ และอื่น ๆ ลดความเดือดร้อนปัญหาปากท้องของประชาชน    และ การสอบถาม บุคคลแห่งปีที่เป็นหลักดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศ  ซึ่งปรากฎว่า  "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งสองหัวข้อ และสื่อมวลชนก็หยิบยกไปพาดหัวข่าวในทำนอง "ซูเปอร์โพล" เปิดผลสำรวจยก "พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลแห่งปี " 

 

 

ทั้งที่หากพิจารณาจากผลสำรวจฉบับเต็ม เริ่มต้นให้ความสำคัญ คนดีของสังคมแห่งปี 2564  ที่มีบทบาทสำคัญช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ด้อยโอกาส ระดมทุนบริจาคเพื่อความดีส่วนรวมของสังคม พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ตูน บอดี้สแลม อาทิวราห์ คงมาลัย อันดับที่ 2 ได้แก่ ปวีณา หงสกุล และอันดับที่ 3 ได้แก่ บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี 

 

ถัดมา ซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจ คุณหมอของสังคมแห่งปีช่วยวิกฤตโควิด พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 หมอ ยง ภู่วรวรรณ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 2 ได้แก่ หมอ เหรียญทอง แน่นหนา โรงพยาบาล มงกุฏวัฒนะ  และอันดับที่ 3 ได้แก่ หมอ นิธิ มหานนท์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ

 

ก่อนที่จะมาสอบถามบุคคลแห่งปี ที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาสังคม หนี้ นอกระบบ ที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ และอื่นๆ ลดความเดือดร้อนปัญหาปากท้องของประชาชน พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ รองนายกรัฐมนตรี 

 

โดยมีการให้เหตุผลว่าเพราะเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลใส่ใจแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยเฉพาะความ 2 เดือดร้อนทุกข์ยากของคนฐานราก เช่น หนี้นอกระบบ ที่ดินทำกิน ปัญหาค้ามนุษย์ เป็นปัญหาเรื้อรังยากต่อ การแก้ไขแต่ พล.อ.ประวิตรฯ เกาะติดใช้ความตั้งใจจริงทุ่มเทกำกับดูแลแบบกัดไม่ปล่อยจนช่วยเหลือเหยื่อ ขบวนการหนี้นอกระบบ จัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนฐานรากจำนวนมาก และแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ได้ผลที่น่าพอใจมากกว่าอดีต

 

อันดับที่ 2 ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอันดับที่ 3 ได้แก่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามลำดับ 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการสอบถามความนิยม บุคคลแห่งปีที่เป็นหลักดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของประเทศ  กลับพบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อันดับที่ 2 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอันดับที่ 3  พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

 

ยังไม่หมด "ซูเปอร์โพล" ทำแบบสอบถาม บุคคลแห่งปีที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้มีบารมีทางการเมือง  พบว่า 3 อันดับแรก มีพล.อ.ประวิตร ติดกลุ่มเช่นกัน โดยอันดับที่ 1 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร  อันดับที่ 2 ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและรองนายกรัฐมนตรี  และอันดับที่ 3  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

 

กล่าวโดยสรุปผลการสำรวจบุคคลแห่งปีด้านต่างๆ มีชื่อ พล.อ.ประวิตร  ติดกลุ่มความนิยมมากกว่าใครเพื่อน จึงไม่แปลกที่บรรดาคอการเมืองตั้งข้อสังเกตการทำงานของ "ซูเปอร์โพล" 

 

ระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา  ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงผลสำรวจที่ออกมา มีความแม่นยำ เที่ยงธรรม เพียงพอหรือไม่ เพราะบ่อยครั้งผลสำรวจออกไปในทางสนับสนุนหรือเป็นผลบวกกับคนในรัฐบาล ขณะที่คนในฝ่ายค้านมักได้รับผลสำรวจออกไปทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งไม่ต่างกับการสำรวจบุคคลแห่งปีในครั้งนี้ก็มีกล่าวถึงเช่นกัน  

 

กล่าวถึง "ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา"  ก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เป็นบุคคลหนึ่งที่มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัย “เอแบคโพลล์” ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) มาก่อน และก็เคยถูกสื่อมวลชนหลายสำนักตั้งคำถามในลักษณะเดียวกับที่มาเป็นผอ.ซูเปอร์โพล เช่นกัน 

 

เมื่อครั้งที่เป็นผอ.เอแบคโพล  "ดร.นพดล" ถูกกล่าวหาว่าในช่วงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ บริหารงาน จนเกิดความเสียหายกว่า 48.4 ล้านบาท 

 

ข้อมูลจาก"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ได้นำเสนอ รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่ปรากฏในรายงานประกอบวาระการประชุมสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2558 ระบุว่า ช่วงที่ ดร.นพดล ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เกิดปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ผลต่างการทำโพลล์สาธารณะที่ไม่มีการแสดงรายการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 11 ล้านบาท และคณะกรรมการมีข้อเสนอแนะว่ามหาวิทยาลัยควรมอบให้ทนายความดำเนินการกับบุคคลที่มีส่วนในการรับผิดชอบ

 

อย่างไรก็ดี "ดร.นพดล"  ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ทำทุกอย่างถูกต้อง และชี้แจงกับอธิการบดีเอแบคไปแล้ว และเรื่องนี้จบไปแล้ว

 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดร.นพดล จึงมาก่อตั้ง "ซูเปอร์โพล" เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

 

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า "ซูเปอร์โพล" ถูกจดทะเบียนในชื่อ บริษัท ซูเปอร์โพล จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 28 ต.ค.2558 ทุนปัจจุบัน 5 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 899/191 ถนนอ่อนนุช ประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 

 

วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปรากฏชื่อ นายนพดล กรรณิกา นางสาววันทนา ปุณยธร เป็นกรรมการ นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 13,957,026 บาท รายจ่ายรวม 12,666,493 บาท กำไรสุทธิ 1,290,533 บาท

 

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า ระหว่างปี 2560-2564 บริษัท ซูเปอร์โพล จำกัด เป็นคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ อย่างน้อย 30 สัญญา รวมวงเงิน 26.05 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างปรึกษา จ้างปรับปรุงการทำแบบสอบถาม จ้างจัดฐานข้อมูล เป็นต้น

 

กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายซูเปอร์โพล

 

เมื่อเข้าไปตรวจสอบเว็ปไซต์ของซูเปอร์โพล ยังได้นำเสนอภาพ "กลุ่มลูกค้าและเครือข่ายซูเปอร์โพล"  ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม  สถาบันทางการศึกษา  องค์กรมหาชน ร่วมใช้บริการ"ซูเปอร์โพล" จำนวนมาก   

 

ขณะที่ ดร.นพดล ผอ.ซูเปอร์โพล เปิดเผย ถึงการทำสำรวจบุคคลแห่งปี 2564 ในผลการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ ยังเห็นการทำดี ทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องสำคัญ ที่สังคมไทยยังให้การยอมรับ เห็นคุณค่าและยกย่อง เชิดชู

 

"เห็นได้จาก มีผู้ใหญ่ใจดีที่คอยดูแล เป็นที่พึ่งแก้ปัญหาปากท้อง หนี้สินนอกระบบ น้ำและที่ดินทำกินในภาพรวม เพื่อช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกัน มีคนผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของบ้านเมือง คอยดูแลความ ปลอดภัยส่วนรวมและความสงบเรียบร้อยของสังคม มีนักการเมืองที่เป็นผู้ใหญ่และมีบารมีพอ เป็นที่พึ่ง สร้างบรรทัดฐานที่ดีและจริยธรรมทางการเมือง" ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว 

 

ทั้งนี้ เราต้องสนับสนุนและให้กำลังใจกันและกัน ไม่ด่าทอ ว่าร้าย เสียดสีกัน เพียงเพราะอคติ การแสดงความคิดเห็นต่างเชิงสร้างสรรค์ ถือเป็นเรื่องดีของสังคมในวิถีประชาธิปไตย ที่เราต่างต้องเดินหน้า พัฒนาสังคมและอยู่ร่วมกันในประเทศอันเป็นที่รักของเราทุกคน