ข่าว

สัมปทาน( ธุรกิจสีเทา)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธุรกิจสัมปทานหมายถึงธุรกิจที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล จะโดยการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง หรือได้รับจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผลประโยชน์ ในรูปแบบของการกินหัวคิวอีกทอดหนึ่งก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นการรับสัมปทานทางด้านงานบริการ หรือภาคการผลิตที

 ประเทศไทยมีธุรกิจผูกขาดหรือธุรกิจที่ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐมากมาย เช่น การทำป่าไม้, การทำเหมืองแร่, การตั้งโรงงานผลิตสุราในอดีต ไม่เว้นแม้แต่การเดินรถโดยสาร ซึ่งควรเป็นงานสาธารณะที่น่าจะปล่อยให้มีการแข่งขันกันตามระบบการค้าเสรี โดยมีรัฐทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลเท่านั้นก็ตาม

 การเข้าไปประมูลสัมปทานใดๆ จากรัฐ ย่อมหมายความว่าผู้ที่ชนะการประมูลควรต้องได้รับการคุ้มครองที่ดีจากรัฐ   เช่น เมื่อประมูลผูกขาดการผลิตสุราขึ้นมาได้ รัฐก็ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้มีใครมาผลิตสุราแข่งขันขึ้นมาอีก หรือเมื่อจ่ายค่าสัมปทานสำหรับการเดินรถโดยสารระหว่างจังหวัด ให้กับรัฐหรือหน่วยงานในสังกัดของรัฐไปแล้ว รัฐย่อมต้องไม่ปล่อยให้มีผู้ประกอบการรายอื่น มาประกอบธุรกิจรถโดยสารบนเส้นทางเดียวกันอีก

 แต่ในความเป็นจริงของธุรกิจสัมปทานของประเทศไทย คนที่เข้าประมูลโดยยอมจ่ายเงินค่าสัมปทานให้กับรัฐ ยังต้องออกมาปกป้องผลประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานส่วนตัวขึ้นมาทำหน้าที่ หรือมิฉะนั้นก็ต้องจ่ายเงินพิเศษให้กับหน่วยงานรัฐ ที่โดยปรกติควรเป็นหน้าที่ปฏิบัติอยู่แล้ว ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่พึงปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

 กล่าวโดยตรงหมายความว่าคนที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจสัมปทานใดๆ จากรัฐ ต้องมีพลังอำนาจนอกระบบคอยเกื้อหนุนอย่างเข้มแข็งเอาการ ชนิดที่ต้องยอมถูกตราหน้าเรียกว่าเป็นเจ้าของธุรกิจชนิด “ผู้มีอิทธิพล” นั่นเอง จึงจะสามารถป้องกันการเข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์จากผู้ที่มิได้จ่ายเงินค่าสัมปทานให้รัฐได้  

 วิธีการที่รัฐใช้แก้ไขการแย่งชิงผลประโยชน์ จากธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ นับตั้งแต่มีการให้สัมปทานเกิดขึ้นในประเทศไทย วิธีแรกคือการเข้าไปจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่เข้ามาประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับสัมปทาน รูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับธุรกิจใหญ่ๆ ที่ผู้รับสัมปทานมีอิทธิพลทางการเมืองและการเงินสูง เช่น ธุรกิจค้าเหล้าในอดีต

 วิธีที่สองที่หน่วยงานของรัฐเลือกใช้ปฏิบัติก็คือ เมื่อมีการละเมิดสัมปทานกันมากขึ้น ก็เปิดให้ผู้กระทำผิดละเมิดสัมปทานเหล่านั้น เข้ามาขึ้นทะเบียนเพื่อให้กลายเป็นคนประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น กับผู้ที่ตกลงจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐ เช่น ในธุรกิจการเดินรถโดยสารทั้งหลาย ที่มีการละเมิดด้วยการเอารถโดยสารขนาดเล็กบ้าง รถตู้บ้าง หรือแม้แต่รถเก๋งมาวิ่งทับเส้นทางที่ได้รับสัมปทาน

 แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตาม จะเห็นได้ว่าการประกอบธุรกิจด้วยการรับสัมปทานจากรัฐนั้น ล้วนแต่เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญหาอาชญากรรม เป็นแหล่งเงินรายได้ที่ปกปิดซ่อนเร้นไม่สามารถตรวจสอบได้ และเป็นแหล่งรวมของกลวิธีในการกอบโกยโกงกิน ในลักษณะของการคอรัปชั่นทั้งสิ้น  

 ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน จะต้องหันมาทบทวนการทำสัญญาสัมปทานทั้งหลายอย่างจริงจัง ธุรกิจจะได้ดำเนินการไปตามวิถีของธุรกิจ ไม่ใช่เป็นไปในแบบของธุรกิจแอบซ่อนดังเช่นทุกวันนี้ครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ