ข่าว

เริ่มปี65 "หลักกสูตรอาชีวะ” ใหม่ "สุเทพ" ชูโมดูลสู่โลกอาชีพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สุเทพ" รับลูก “รมว.ศธ.” ปี2565 ปรับ “หลักกสูตรอาชีวะ” ใหม่ทั้งระดับปวช-ปวส. ตอบโจทย์ผู้เรียนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ชูหลักสูตรมีทั้งแบบโมดูล-เครดิตแบงก์ เพื่อก้าวสู่โลกอาชีพหลากหลาย

“หลักสูตรอาชีวะ” ถือเป็นนโยบายสำคัญในระดับต้นๆของ นางสาวตรีนุช  เทียนทอง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ที่สั่งการให้มีการขับเคลื่อน เพื่อรองรับโลกของออาชีพที่เปลี่ยนแปลงไป หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

 

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) เปิดเผยว่า จากนโยบาย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)

 

ทบทวนปรับปรุงหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย รับการเปลี่ยนแปลงกับโลกอาชีพ ซึ่งตั้งเป้าเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2565 

โดยขณะนี้ สอศ. ได้วางแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาด

 

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำหรับการแนวทางการปรับและพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้อาชีวศึกษาแนวใหม่ ซึ่งจะนำไปใช้ทั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

 

และใช้ในการจัดการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และระบบทวิภาคี สอศ.จะดำเนินการในส่วนของการปรับหลักสูตร ให้มีความยืดหยุ่น และเชื่อมโยงการสำเร็จการศึกษา และการมีงานทำ

โดยการปรับลดรายวิชาสามัญ เพิ่มรายวิชาชีพที่สร้างสมรรถนะให้แก่ผู้เรียน และบูรณาการวิชาสามัญและวิชาชีพในชุดวิชาเดียวกัน ที่เรียกว่าการจัดหลักสูตรแบบโมดูล (Modular System) เพื่อส่งเสริมผู้เรียนในด้านสมรรถนะของงานอาชีพ 

 

และจัดการเรียนรู้ แบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือเรียกว่าธนาคารหน่วยกิต หรือเครดิตแบงก์ (Credit Bank) ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ โดยกำหนดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นตามความต้องการของผู้เรียน สามารถสะสมผลการเรียนรู้ในแต่ละวิชา แต่ละทักษะ องค์ความรู้ที่ต้องการ และนำมาสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่าง ๆ

 

พร้อมทั้งส่งเสริมจัดการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง Block course และพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับให้กับกลุ่มผู้ที่สำเร็จการศึกษาและยังไม่มีงานทำ กลุ่มผู้เรียนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และคนวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้องการ Up-Skill, Re-Skill

 

รวมถึงการเรียนรู้ในห้องเรียน และการเรียนรู้แบบออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานะการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มีความซับซ้อน

 

โดยการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น และการทบทวนทักษะความชำนาญ ให้มีมิติในห่วงโซ่คุณค่าของสาขาอาชีพ ทั้งด้านตำแหน่งงาน งานวิกฤติ สมรรถนะกำลังคนและความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เร่งดำเนินการจัดทำร่างและแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรเพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผ่านคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 คณะได้แก่

 

คณะอนุกรรมการฯ ด้านหลักสูตรอาชีวศึกษาและมาตรฐานคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา ด้านการกำหนดนโยบายเป้าหมายการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และกฎหมาย ด้านความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา และด้านการติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษาและการมีงานทำ รวมถึงคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ อศ.) 

 

พร้อมทั้งการดำเนินการ ในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 รวมทั้งกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถดำเนินการประกาศใช้หลักสูตร และรูปแบบการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาแนวใหม่ในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ