โควิด-19

"หมอธีระ" แนะคิดให้ดี เปิดประเทศ - เปิดการท่องเที่ยว เสี่ยงเจอหนังม้วนเดิม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แนะคิดให้ดี เปิดประเทศ - เปิดการท่องเที่ยว รับชาวต่างชาติ 1 ต.ค. เสี่ยงเจอหนังม้วนเดิม ซัด นโยบายกล่องทราย เริ่มเห็นผลที่ตามมา

วันที่ 17 กันยายน 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ในประเทศไทย กรณี "เปิดประเทศ" เปิดการท่องเที่ยว ว่า จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้ยังคงสูงเป็นอันดับ 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตใหม่นั้นสูงเป็นอันดับ 13 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

หมอธีระ ระบุต่อว่า ผลลัพธ์จากนโยบายกล่องทราย และ 7+7 ดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า หลังดำเนินการตามนโยบายไป เราพอจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าตามหลักวิชาการว่า การระบาดในพื้นที่ต้องทวีความรุนแรงขึ้น และมักเห็นชัดเจนราว 6-8 สัปดาห์ ภูเก็ตเริ่มไปเมื่อ 1 กรกฎาคม ส่วน 7+7 เริ่มไปเมื่อ 15 กรกฎาคม 

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บอกล่วงหน้าว่าจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ในพื้นที่กล่องทรายได้ราวช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป 

 

หลักการจัดการการระบาดที่หนักขึ้นดังที่เห็นนั้นคือ ลดการเคลื่อนไหวของคน ลดการพบปะติดต่อและใกล้ชิดกัน ตรวจให้มาก ปูพรมให้ครอบคลุม นำผู้ติดเชื้อไปดูแลรักษา แยกกักตัวคนสัมผัสความเสี่ยงออกมาจากชุมชนและครอบครัวเพื่อลดโอกาสแพร่ เพราะโอกาสที่จะแพร่ได้มากที่สุดคือช่วงที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการจนถึงมีอาการช่วงวันแรก ๆ 

 

การติดเชื้อโควิดนั้นสามารถแพร่ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการราว 2-3 วัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แพร่ไปได้เยอะโดยไม่รู้ตัวทั้งคนติดเชื้อและคนรับเชื้อ หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดเสมอ 

 

การจะไปฝากความหวังไว้ที่วัคซีนเพื่อจัดการการระบาดนั้น อยากเตือนว่าไม่ควรทำเช่นนั้น เพราะชัดเจนว่า ฉีดแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ และนำเชื้อไปแพร่ต่อได้ ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนเป็นเพียงการลดโอกาสป่วย ป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต แต่ก็ไม่ได้การันตี 100% 

 

 

ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงคือ หากปล่อยให้มีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้การตายจะไม่มาก หรือลดลงจากการฉีดวัคซีน แต่ผู้ที่ติดเชื้อก็จะเกิดผลกระทบตามมาระยะยาวได้ เช่น ภาวะอาการคงค้างจากโควิด ที่เรียกว่า Long COVID นั่นเอง 

 

จากที่เคยเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้ว่า งานวิจัยหลากหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าโอกาสเกิดภาวะอาการคงค้าง Long COVID นี้มีสูงทีเดียว ฝั่งตะวันตกมีรายงานได้สูงถึงกว่า 40% ในขณะที่ของจีน พบว่ามีถึง 68% ที่มีอาการคงค้าง ณ 6 เดือน และมีถึง 49% ที่มีอาการคงค้าง ณ 12 เดือน 

 

อาการคงค้างมีได้มากมายหลายแบบ ตั้งแต่เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก มีปัญหาเรื่องความคิดความจำสมาธิ เครียด ซึมเศร้า ชัก ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร หรือภาวะอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ดังนั้นการไม่ติดเชื้อย่อมจะดีที่สุด 

 

ในต่างประเทศมีการเตรียมระบบสาธารณสุขเพื่อช่วยให้คำปรึกษา และดูแลรักษาภาวะ Long COVID อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาดำเนินการเช่นกัน เพราะจำนวนเคสติดเชื้อกว่าล้านคน ยังไงต้องมีผู้ที่มีภาวะ Long COVID อย่างแน่นอน และหากไม่ได้รับการดูแลก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และผลิตภาพในการทำงานด้านต่าง ๆ 

 

ที่หยิบยกประเด็นนี้มา เพราะต้องการชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป ที่มีความพยายามจะผลักดันนโยบายเปิดการท่องเที่ยวมากมายหลายจังหวัด ตลอดจนแผนในการ "เปิดประเทศ" ในขณะที่สถานการณ์ระบาดยังรุนแรง กระจายไปทั่ว ก็ย่อมจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีการติดเชื้อแพร่เชื้อในคนจำนวนมากขึ้นดังที่ปรากฏให้เห็นกันจากบทเรียนกล่องทรายและ 7+7 

 

จึงขอให้พิจารณาให้ดี มิฉะนั้นอาจเห็นเหมือนหนังม้วนเดิมเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่จะเกิดผลกระทบหนักกว่าเดิม เพราะสถานการณ์พื้นฐานทั้งเรื่องการระบาดตอนนี้ที่หนักกว่าปีก่อน และทรัพยากร ต้นทุนของประชาชนร่อยหรอลงไปมาก การตัดสินใจนโยบายจึงไม่สามารถพลาดได้อีกแล้ว 

 

ปีก่อนเป็น Blue คริสตมาสและปีใหม่ แต่หากหนักกว่าเดิมจะเป็น Black จากผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมพร้อม ๆ กัน 

 

"ชะลอการเปิดการท่องเที่ยวหลากหลายจังหวัด และการเปิดประเทศไปก่อนเถิดครับ" 

 

ขอให้ประชาชนอย่างพวกเราดำรงชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวเสมอ ใส่หน้ากากฯสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า และวางแผนเรื่องการเงินการใช้จ่าย และการลงทุนให้ดี และระวังเรื่องมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ เชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายระมัดระวัง เราจะประคับประคองกันไปอย่างปลอดภัย 

 

"หมอธีระ" แนะคิดให้ดี เปิดประเทศ - เปิดการท่องเที่ยว เสี่ยงเจอหนังม้วนเดิม

 

สำหรับสถานการณ์ "โควิด-19" ทั่วโลก 17 กันยายน 2564 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 541,821 คน รวมแล้วตอนนี้ 227,771,443 คน ตายเพิ่มอีก 8,996 คน ยอดตายรวม 4,681,636 คน 

 

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย บราซิล ตุรกี และสหราชอาณาจักร 

 

อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 134,120 คน รวม 42,616,662 คน ตายเพิ่ม 1,830 คน ยอดเสียชีวิตรวม 686,899 คน อัตราตาย 1.6% 

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 34,649 คน รวม 33,380,522 คน ตายเพิ่ม 318 คน ยอดเสียชีวิตรวม 444,278 คน อัตราตาย 1.3% 

 

บราซิล ติดเพิ่ม 34,407 คน รวม 21,069,017 คน ตายเพิ่ม 637 คน ยอดเสียชีวิตรวม 589,277 คน อัตราตาย 2.8% 

 

สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 26,911 คน ยอดรวม 7,339,009 คน ตายเพิ่ม 158 คน ยอดเสียชีวิตรวม 134,805 คน อัตราตาย 1.9% 

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 19,594 คน รวม 7,214,520 คน ตายเพิ่ม 794 คน ยอดเสียชีวิตรวม 195,835 คน อัตราตาย 2.7% 

 

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น 

 

หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.71 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน 

 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน 

 

แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ติดเพิ่มกันหลักหมื่น ส่วนญี่ปุ่น เมียนมา อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา สิงคโปร์ และลาว ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ 

 

ที่มา Thira Woratanarat

 

 

logoline