โควิด-19

"ประกันโควิด" จ่ายค่าเคลมล่าช้า คปภ. กำหนดเพิ่ม 4 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คปภ. กำหนดเพิ่มเติม 4 มาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหา บริษัทประกัน จ่ายค่าเคลม "ประกันโควิด" ล่าช้า ฮึ่มฟันโทษบริษัทฯที่มีเจตนาประวิงการ จ่ายค่าสินไหมทดแทน

จากกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหลายรายมีการร้องเรียนถึงประเด็น "บริษัทประกัน" จ่ายค่าเคลม "ประกันโควิด" ล่าช้า นั้น ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ "คปภ." ได้เพิ่ม 4 มาตรการเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยแก่ประชาชน 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่มี บริษัทประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทน "ประกันภัยโควิด" ล่าช้า สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย 

 

โดยได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์และติดตามการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้มีการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และคณะทำงานชุดย่อยทั้ง 4 ชุด ของสำนักงาน คปภ. เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายกับบริษัทที่มีเจตนาประวิงการ "จ่ายค่าสินไหมทดแทน" ตามกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 

 

โดยได้เชิญ ผู้บริหารบริษัทประกันภัย มาให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่บริษัทฯ ปฏิเสธและปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของ ผู้เอาประกันภัย ที่เข้าร้องเรียนและติดตามทวงถามการจ่ายเคลม ประกันโควิด-19 รวมถึงกรณีที่ไม่สื่อสารที่สร้างความเข้าใจให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนได้แจ้งมาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการ หากยังคงฝ่าฝืนคำสั่งฯ และประกาศฯ ที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ "คปภ." ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วน 4 มาตรการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้ 

 

1. เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีบริษัทกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ในวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 และหากพบว่าบริษัทประกันภัยแห่งใด จงใจฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ 

 

2. ให้บริษัทฯ เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณีเพื่อให้สามารถยุติเรื่องร้องเรียนโดยเร็ว 

 

3. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงหน่วยงานรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 โดยเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย และให้นำระบบออนไลน์มาใช้ในการบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและการติดตามความคืบหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่บริษัทฯ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้เอาประกันภัย 

 

4. ให้บริษัทฯ เร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน 

 

สำนักงาน คปภ. ขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนว่าจะดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกับทุกบริษัทที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมทั้งจะติดตามและดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้บริหารจัดการการ "จ่ายค่าสินไหมทดแทน" ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนจะบูรณาการเพื่อแก้ไขกรณีการจ่ายเคลม ประกันภัยโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเชื่อว่าปัญหาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้าจะคลี่คลายโดยเร็ว 

 

ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect หรือ website คปภ. www.oic.or.th 

 

"ประกันโควิด" จ่ายค่าเคลมล่าช้า คปภ. กำหนดเพิ่ม 4 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา

 

ที่มา กระทรวงการคลัง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ