ข่าว

"หมอธีระ" เผยไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ มากเป็นอันดับ 7 ของโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" เผยไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ มากเป็นอันดับ 7 ของโลก แนะ 5 ข้อเตรียมรับมือ "ตุนเสบียง-ของจำเป็น-ยาสามัญประจำบ้าน" ไว้สัก 2-4 สัปดาห์

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ว่า

 

 

 

ประเมินแล้วพบว่า หากมีจำนวนติดเชื้อใหม่เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยมองว่าคนต้องกักตัว 14 วัน โดยจะจัดบริการให้บุคลากรทางการแพทย์โทรไปติดตามอาการ 2 ครั้งต่อวัน 

 

หากจำกัดเวลาที่ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยแต่ละคนเพียง 10 นาที และระบบทำงานตลอด 24 ชั่วโมง
จะต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานพร้อมกันประมาณ 3,500 คน ซึ่งเป็นไปแทบไม่ได้ เนื่องจากกำลังคนส่วนใหญ่ต้องรับมือกับการดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมากอยู่แล้ว 

 

แต่หากตัวเลขที่รายงานแบบเป็นทางการ เป็นตัวเลขที่ตรวจและยืนยันตามวิธีมาตรฐานเท่านั้น โดยมิได้รวมตัวเลขการตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจน (antigen test kit) ซึ่งมีคนตรวจแล้วได้ผลบวกอีกจำนวนมาก ดังนั้นระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน คงต้องมีกำลังในการทำงานมากกว่าที่ประมาณไว้ข้างต้นอีกมาก 

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมคิดว่าโอกาสดูแลทั่วถึงคงยากมาก และอาจต้องพิจารณาโมเดลอื่นมาเสริมหรือทดแทน รวมถึงประยุกต์ใช้เรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ มาให้บริการด้วย 

 

ทั้งนี้ หมอธีระ ยังเผยถึงสถานการณ์โควิดทั่วโลก 28 กรกฎาคม 2564 อีกว่า สาย ๆ วันนี้จะทะลุ 196 ล้าน ในขณะที่ฝรั่งเศสมียอดรวมเกิน 6 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 562,129 คน รวมแล้วตอนนี้ 195,921,795 คน ตายเพิ่มอีก 9,258 คน ยอดตายรวม 4,192,173 คน 

 

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อเมริกา อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล และอิหร่าน 

 

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 52,111 คน รวม 35,342,750 คน ตายเพิ่ม 309 คน ยอดเสียชีวิตรวม 627,379 คน อัตราตาย 1.8% 

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 42,928 คน รวม 31,483,411 คน ตายเพิ่ม 640 คน ยอดเสียชีวิตรวม 422,054 คน อัตราตาย 1.3% 

 

บราซิล ติดเพิ่ม 41,411 คน รวม 19,749,073 คน ตายเพิ่ม 1,320 คน ยอดเสียชีวิตรวม 551,906 คน อัตราตาย 2.8% 

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 23,032 คน รวม 6,172,812 คน ตายเพิ่ม 779 คน ยอดเสียชีวิตรวม 155,380 คน อัตราตาย 2.5% 

 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 26,871 คน ยอดรวม 6,026,115 คน ตายเพิ่ม 28 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,695 คน อัตราตาย 1.9% 

 

อันดับ 6-10 เป็น สหราชอาณาจักร ตุรกี อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และสเปน ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชีย และยุโรปที่ยังคงรุนแรง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม ล้วนติดหลักพันอย่างต่อเนื่อง 

 

แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ส่วนอิหร่านนั้นติดเพิ่มกว่า 34,000 คน และอิรักก็ติดเพิ่มหลักหมื่นมาแล้วเช่นกัน กำลังเผชิญระลอกสามที่หนักกว่าที่เคยมีการระบาดมา 

 

กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีนและไต้หวันติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกงติดน้อยกว่าสิบ 

 

 

สำหรับสถานการณ์ของไทยเรา ตอนนี้มียอดติดเชื้อรวมอยู่ที่อันดับ 46 ของโลก อีก 2-3 วันจะแซงคาซัคสถานขึ้นเป็นอันดับ 45 ได้ 

 

ไทยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ มากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก เป็นรองเพียงอินเดีย อเมริกา บราซิล โคลอมเบีย อิหร่าน และเม็กซิโก แต่หากดูเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นอันดับ 1 

 

หากประเมินสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ด้วยมาตรการที่ดำเนินการอยู่ สิ่งที่เราควรเตรียมรับมือ มีดังนี้ 

 

1.การติดเชื้อใหม่จะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั้งนี้ต่างจังหวัดในเขตเมืองจะมีมากขึ้น 

 

2.จังหวัด/เกาะ ที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น การระบาดจะเริ่มเห็นเพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มจะชัดเจนมากช่วงปลายสิงหาคม โดยปัจจัยหลักเกิดจากกิจกรรมกิจการต่าง ๆ ที่มีมากขึ้นในพื้นที่ ทำให้พบปะกัน สัมผัสกัน สังสรรค์กัน กระตุ้นให้การติดเชื้อแฝงในชุมชนที่มีอยู่เดิมนั้นขยายวงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวให้เข้มแข็ง ปรับรูปแบบการดำเนินกิจการกิจกรรมต่าง ๆ ให้เน้นความปลอดภัย 

 

3.ด้วยจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันมีมาก ระบบการดูแลไม่ว่าจะที่บ้าน ที่พักคอย ที่รพ.สนาม หรือที่โรงพยาบาล ไม่มีทางเพียงพอ ดังนั้นบทบาทของชุมชนจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะประคับประคองดูแลคนในพื้นที่ ปัญหาการติดเชื้อภายในที่อยู่อาศัยจะยังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเมินแล้วคาดว่า shortcut ที่จำเป็นต้องทำคือ การเปิดวัดและโรงเรียนเพื่อรับผ่องถ่ายจากบ้านมาอยู่ที่นี่แทน จึงจะมีโอกาสลดทอนการแพร่เชื้อภายในบ้านได้ โดยอาจต้องขอกำลังพระภิกษุและคุณครูมาเป็นผู้ช่วยดูแลกำกับหรือประสานงาน 

 

4.เตรียมเสบียงและสิ่งของจำเป็นไว้ในบ้าน ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้านไว้สัก 2-4 สัปดาห์ ก็จะเป็นประโยชน์ยามฉุกเฉิน การทบทวนสิ่งสำคัญ ข้อมูลสำคัญส่วนตัว และบันทึกไว้ในที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย หากไม่สบายและมีข้อจำกัดในการดูแลรักษาตัว ก็จะสามารถส่งต่อให้กับสมาชิกในครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วง 

 

5.วางแผนการใช้จ่าย ระมัดระวังเรื่องการลงทุน หลีกเลี่ยงการกู้ยืมเงินโดยไม่จำเป็นจริง ๆ และระวังมิจฉาชีพที่จะหลอกลวงด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งการค้าขาย การโฆษณาเกินจริง การล่อด้วยกิเลสให้เข้าถึงการรักษา หยูกยา รวมถึงวัคซีนต่าง ๆ 

 

หมอธีระ ยังเน้นย้ำว่า "ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก ด้วยรักและห่วงใย" 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ