ข่าว

"ม็อบ 24 มิ.ย." ชุมนุมไล่"นายกฯ" เข้าข่าย ผิด 5 ข้อหา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บชน. สรุป ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำผิดเข้าข่ายหลายข้อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ-พ.รบ.รักษาความสะอาด-พ.ร.บ.จราจร และพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา" ขณะพนักงานสอบสวน แบ่งงานตรวจสอบถอดเทปเนื้อหาการปราศรัย รวมถึงผิดเงื่อนไขศาลหรือไม่

25 มิ.ย. 2564 เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 25 มิถุนายน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  และพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปผลการปฏิบัติหลังจากการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา
 

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวานนี้ มีด้วยกันในหลายพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกลุ่มแรก กลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยมีนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา กลุ่มราษฎร โดยนายอานนท์ นำภา และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุม โดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้นัดหมายทำกิจกรรมจุดเทียนเริ่มเวลา 05.30 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปรัฐสภาบริเวณแยกเกียกกายทำกิจกรรมปราศรัย เวลา 12.40น. -16.00 น. และได้ประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่สกายวอล์คแยกปทุมวันตั้งแต่เวลา 17.00 น.-20.30 น. จึงได้ประกาศยุติการชุมนุม

กลุ่มไทยไม่ทน หรือสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย โดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้นัดรวมพลที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าและทำกิจกรรมปราศรัยเวลา 16.00 น. จากนั้นได้เคลื่อนขบวนมาบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิจ ถ.พิษณุโลกและทำการปราศรัยจนถึงเวลา 19.45 น. จึงได้ประกาศยุติการชุมนุม

กลุ่มประชาชนคนไทยโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา ได้นัดรวมพลที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ในเวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนมาทำการปราศรัยอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจนถึงเวลาประมาณ 20.30 น. ได้ประกาศยุติการชุมนุม

วันนี้คณะพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำโดย พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น.จะได้ประชุม และสรุปผลการดำเนินคดี กับกลุ่มผู้ชุมนุม จากเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการกระทำเข้าข่ายเป็นความผิดต่อกฎหมายดังนี้

1.จัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโดยฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

2. การจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคมีความผิดตามพ.ร.บ. โรคติดต่อฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3.ตั้งวางหรือกองวัตถุใด ๆ บนพื้นถนนเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

4. กีดขวางการจราจรตามพ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

5. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

สำหรับสถานีตำรวจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว ได้แก่ สน.ชนะสงคราม, สน.นางเลิ้ง, สน.พญาไท, สน.สามเสน, สน. บางซื่อ, สน.สำราญราษฎร์, สน.เตาปูน, สน.บางโพและสน.ปทุมวัน ซึ่งทาง บช.น. ได้สั่งการให้ทำการพิสูจน์ทราบบุคคลว่าเป็นผู้ใดบ้าง และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาการปราศรัยต่างๆ ในวันนี้พนักงานสอบสวนจะแบ่งงานตรวจสอบและถอดเทป ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ส่วนผู้ชุมนุมที่ทำผิดคดีอาญามาก่อนหน้านี้ ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ หากพบว่ามีความผิดจะรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลต่อไป

ส่วนกรณีที่วันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย. ) ที่กลุ่มไทยไม่ทน และกลุ่มประชาชนคนไทย ประกาศชุมนุมอีกครั้ง ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล แจ้งเตือนว่า ผู้ที่ชักชวนไม่ว่าด้วยวิธีการใด หรือผู้สนับสนุน ล้วนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความสะอาด พ.ร.บ.ควบคุมโรค และความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนจะมีการตั้งสิ่งกีดขวางหรือไม่นั้น พล.ต.ต.ปิยะ เผยว่า จะทำเท่าที่จำเป็นตามพฤติกรรมและการข่าวเพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด หากมีความเสี่ยงต่อการรักษาความสงบ ก็มีความจำเป็นต้องตั้งสิ่งกีดขวาง ตามการข่าวและพฤติกรรมของผู้ชุมนุม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ