ข่าว

ญี่ปุ่นพบปลาน้ำลึกชนิดใหม่ นักล่าบนสุดในอ่าวซูรูงะ เรียกขานตามชื่อชั้นสูงสุดของซูโม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิจัยญี่ปุ่นพบปลาน้ำลึกชนิดใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน นอกชายฝั่งชิซูโอกะ ตั้งชื่อว่า โยโกสึนะ ขั้นสูงสุดของซูโม่ 


ทีมนักวิจัยจากสำนักงานเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์โลก-ทะเลของญี่ปุ่น ( JAMSTEC) ค้นพบปลาที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนระหว่างการสำรวจวิจัยใต้ทะเลลึกในอ่าวซูรูงะ นอกชายฝั่งจังหวัดซิซูโอกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ ในปี 2559 โดยจับได้ทั้งหมด 4 ตัว  ที่ระดับความลึก 2,100-2,600 เมตร  เกล็ดเป็นสีฟ้า คล้ายกับปลาซีลาแคนท์  ปลาน้ำลึกที่มักเรียกกันว่าฟอสซิลมีชีวิต มีความยาวตั้งแต่ 122 - 138 ซม. หนัก 15-25 กก. ผลซีทีสแกนและวิเคราะห์พันธุกรรมต่อมาพบว่า เป็นปลาในวงศ์  Alepocephalidae หรือ สลิคเฮด แต่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปลาชนิดนี้กว่า 90 ชนิดพันธุ์ที่โดยมากเติบโตสุดมีความยาวเพียง 30 ซม. 

 

ญี่ปุ่นพบปลาน้ำลึกชนิดใหม่ นักล่าบนสุดในอ่าวซูรูงะ เรียกขานตามชื่อชั้นสูงสุดของซูโม่

JAMSTEC

 

ปลาสลิคเฮด หรือปลาหัวเนียน ญี่ปุ่นเรียก เซกิโทริ อิวาชิ คำว่า เซกิโทริ หมายถึงนักมวยปล้ำอาชีพในสองดิวิชันสูงสุดของญี่ปุ่น นักวิจัยเชื่อว่าปลาชนิดใหม่ เป็นผู้ล่าที่อยู่บนสุดของระบบนิเวศน้ำลึกของอ่าวซูรูงะ ประกอบกับขนาดใหญ่สุดในตระกูล จึงเติมคำว่า โยโกสึนะ ซึ่งป็นอันดับชั้นสูงสุดของซูโม่อาชีพเข้าไปด้วย จึงกลายเป็นชื่อ ปลาอิวาชิโยโกสึนะ และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  "Narcetes shonanmaruae"  

 

ญี่ปุ่นพบปลาน้ำลึกชนิดใหม่ นักล่าบนสุดในอ่าวซูรูงะ เรียกขานตามชื่อชั้นสูงสุดของซูโม่

ภาพ JAMSTEC

ปลาในตระกูลนี้มักกินแมงกะพรุน และแพลงตอนเป็นอาหาร แต่นักวิจัยพบกระเพาะอาหารของปลาอิวาชิโยโกสึนะ มีเศษปลาที่ย่อยแล้วอยู่บางส่วน และมีฟันคมเล็กๆสำหรับใช้จับปลาอื่นได้ นอกจากนี้ กล้องที่หย่อนลงไปเก็บภาพใต้ทะเลลึก ยังจับภาพปลาชนิดใหม่ยาวกว่า  1 เมตร ขณะว่ายน้ำเร็วอยู่ใกล้พื้นทะเลและมีปากขนาดใหญ่สำหรับจับเหยื่อ นักวิจัยจึงได้ข้อสรุปว่า มันเป็นผู้ล่าที่ดำรงชีวิตด้วยการกินปลาชนิดอื่นๆ และอยู่บนสุดของห่วงโซ่ระบบนิเวศในอ่าวซูรูงะ

 

ญี่ปุ่นพบปลาน้ำลึกชนิดใหม่ นักล่าบนสุดในอ่าวซูรูงะ เรียกขานตามชื่อชั้นสูงสุดของซูโม่

 

โยชิฮิโร ฟูจิวาระ นักวิจัยอาวุโสของ JAMSTEC  อธิบายว่า พื้นที่ใต้ทะเลลึกคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งของมหาสมุทรโลก แต่ผู้ล่าบนสุด มีความแตกต่างกันไปตามระบบนิเวศหลากหลาย และยังมีความรู้ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับผู้ล่าน้ำตื้น อย่างเช่น วาฬเพชฌฆาต  หากการทำประมงน้ำลึก ทำให้ผู้ล่าตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์  ระบบนิเวศอาจเสียสมดุลอย่างมีนัยสำคัญได้ นักวิจัยจึงต้องการสำรวจชนิดและบทบาทของผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน 

 

 

 

 

รายละเอียดการค้นพบตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ของอังกฤษ ฉบับ 25 ม.ค.  

ที่มา  Japan News 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ