ข่าว

มนัญญา เย้ย ม็อบกดดันไม่มีผล รอมติคกก.วัตถุอันตรายพรุ่งนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มนัญญา ระบุ ม็อบเสื้อดำกดดันไม่มีผล ทุกอย่างดำเนินตามกฎหมาย ขอรอฟังมติกก.วัตถุอันตรายพรุ่งนี้ ก่อนตัดสินใจไปต่ออย่างไร แต่ถ้าลบล้างมติเดิมต้องเหตุผลหนักแน่น

 

 

25 พฤศจิกายน 2562 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าการแบน 3 สารเคมี ว่า ในวันพรุ่งนี้คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีการประชุมพิจารณา หลังกรมวิชาการเกษตรเสนอชะลอการแบน 3 สารเคมี จากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ออกไปอีก 6 เดือน 

 

 

โดยอ้างว่าจำเป็นต้องแจ้ง WTO ก่อน ซึ่งส่วนตัวก็ต้องรอฟังมติวันพรุ่งนี้ หากมีมติให้ชะลอ คณะกรรมการฯ ก็ต้องชี้แจงเหตุผล ว่ามีความจำเป็นอะไรที่ไปลบล้างมติครั้งแรก แต่ก็มีมาตรการดำเนินต่อไปอยู่แล้ว ขอเก็บไว้เป็นความลับ ยังไม่ขอพูดตอนนี้ 


ส่วนที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากมีการชะลอ จะให้ น.ส.มนัญญา แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง  น.ส.สนัญญา กล่าวว่า ขอให้ถึงวันพรุ่งนี้ก่อน พร้อมพูดติดตลกว่า หากมีการแสดงสปิริตจริงก็ให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แสดงก่อน (ยืนอยู่ใกล้กัน)


ส่วนการที่มีการทำประชาพิจารณ์ว่าคนส่วนใหญ่ กว่า 70% ไม่อยากให้ยกเลิก 3 สารเคมีนั้น / น.ส.มนัญญา ถามกลับว่า ประชาพิจารณ์ไปเอามาจากไหน มีคำสั่งให้ทำหรือไม่ ทุกอย่างต้องมีลายลักษณ์อักษร และอยากรู้ว่าใครเป็นคนสั่งให้ทำ เพราะไม่ได้อยู่ในข้อตกลกที่กำหนดไว้ การทำประชาพิจารณ์ต้องถามเกษตกรทุกฝ่าย ไม่ใช่ถามแค่บางกลุ่ม


น.ส.มนัญญา ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบเสื้อดำ ที่ต่อต้านการแบน 3 สารเคมีครั้งนี้ ไม่มีผลต่อการพิจารณา เพราะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะเดินหน้าไปแบบไหน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย 

 

ส่วนที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นด้วยกับกลุ่มที่ต่อต้านนั้น ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่เจอหรือพูดคุยกัน แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ที่จะลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในประเทศไทยให้น้อยลง พร้อมยืนยัน ต้องทำตามนโยบาย เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม 


ทั้งนี้ หากมีการยกเลิก 3 สารเคมี ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จะไม่มีการนำสารเคมีตัวใหม่เข้ามาทดแทน เพราะสารเคมีในประเทศไทยมีมากอยู่แล้ว โดยได้เตรียมการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาว่าเครื่องจักรแบบไหน เหมาะกับพืชแบบไหน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ