ข่าว

รัฐเดินหน้าแก้"ท่วม-แล้ง"กลุ่มน้ำสะแกกรัง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตาม"บิ๊กฉัตร"ตะลุยเหนือตอนล่าง เดินหน้าแก้"ท่วม-แล้ง"กลุ่มน้ำสะแกกรัง

 

              น้ำท่วมผ่านไปภัยแล้งกำลังมา ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของสภาพภูมิอากาศประเทศไทยที่วนเวียนซ้ำซากเช่นนี้เรื่อยมา สำหรับพื้นที่ประเทศไทย ล่าสุดลำน้ำมูลตื้นเขินหนักสันดอนโผล่ เร่งขุดลอกช่วยชาวบุรีรัมย์ขาดน้ำผลิตประปา ขณะภาคเหนือตอนล่างอย่างแม่น้ำสะแกกรังก็กำลังจะวิกฤติน้ำหลังฝนทิ้งช่วงยาวนานมาตั้งแต่ต้นปี กระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ลงพื้นที่เดินหน้าลุยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากในลุ่มน้ำสะแกกรัง หวังดับทุกข์ชาวปากน้ำโพและอุทัยธานี 

            “ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ตามคณะรองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” ลงพื้นที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และนายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

              พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า ลุ่มน้ำสะแกกรัง เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมซ้ำซากมาอย่างยาวนาน เนื่องจากยังขาดแหล่งเก็บกักน้ำที่มีความจุเพียงพอกับปริมาณน้ำจำนวนมากของลุ่มน้ำสะแกกรังในช่วงฤดูฝน รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ สทนช.ศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 58 ตำบล 10 อำเภอใน จ.นครสวรรค์ และอุทัยธานี มีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม จำนวน 124,200 ไร่ และพื้นที่ภัยแล้ง จำนวน 375,900 ไร่ ในจำนวนดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่เดียวกันมากถึง 29,500 ไร่ รวมเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด 529,600 ไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 56,700 ครัวเรือน และมีปริมาณน้ำขาดแคลนด้านการเกษตรประมาณ 214 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และปริมาณน้ำส่วนเกินท่วมขัง 120 ล้าน ลบ.ม. เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

             รองนายกรัฐมนตรี เผยต่อว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่วงก์ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ในปี 2555 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำแม่วงก์ เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน และเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง แต่โครงการถูกระงับไป เนื่องจากติดปัญหาผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ จึงทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ที่สนับสนุนโครงการและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการโครงการ 

            รัฐบาลปัจจุบันจึงพยายามให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน มีการรับฟังข้อเสนอการบริหารจัดการน้ำจากกลุ่มอนุรักษ์ ทั้งการเก็บน้ำในลำน้ำ โดยทำประตูระบายน้ำเขาชนกัน การขุดลอกทางน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้ สทนช. ศึกษา SEA (การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์)  ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพื่อวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2563 พร้อมเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ (Area Based) ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่างอย่างเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤติภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืนต่อไป

           ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน สทนช.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในปี 2562 โดยได้เตรียมแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ใน 3 จังหวัดคือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี จำนวน 133 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 3.59 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 4,883 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 5,167 ครัวเรือน 

              ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ระยะที่ 1) ปริมาณน้ำต้นทุน 0.61 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 523 ครัวเรือน 2.การก่อสร้างฝายหมู่ 7 คลองวังหลวงพร้อมระบบส่งน้ำ ต.ไผ่เขียว อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี พื้นที่ชลประทาน 1,200 ไร่ ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 150 ครัวเรือน 3.การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยใหญ่ หมู่ 10 ต.สร้อยละคร อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำต้นทุน 0.19 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 187 ครัวเรือน 

              4.การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยหินลับตอนบน บ้านตะกุด หมู่ 5 ต.วังซ่าน อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำต้นทุน 0.38 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 375 ครัวเรือน 5.ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นาขนาด 1,260 ลบ.ม. ใน อ.ลาดยาว 5 แห่ง และ 6.การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองอุทัยธานี ระยะที่ 5 จ.อุทัยธานี พื้นที่ได้รับการป้องกันและลดผลกระทบ 1,786 ไร่

     

        นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำต่อเนื่องใน 2 จังหวัดคือ นครสวรรค์ และอุทัยธานี อีกจำนวน 208 โครงการ เพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 3.14 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 29,080 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 5,660 ครัวเรือน ประกอบด้วย การขุดขยายลำน้ำแม่น้ำตากแดด จ.อุทัยธานี จำนวน 21.000 กม. มีพื้นที่ที่ลดผลกระทบ 60,000 ไร่ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบึงขุมทรัพย์พร้อมปรับปรุงลำน้ำ พื้นที่ที่ลดผลกระทบ 3,000 ไร่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบริเวณเขาหลวง ปริมาณน้ำต้นทุน 0.95 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 210 ครัวเรือน 

             การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำสะแกกรัง หมู่ 5-หมู่ 7 (หน้าวัดบางกุ้ง) ต.สะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ป้องกันตลิ่ง 1,000 เมตร  การวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำ หมู่ 3 ต.ดอนขวาง ถึงหมู่ 3, 2, 5, 6, 1 และ 4 ต.หนองไผ่แบน อ.เมือง จ.อุทัยธานี ประชาชนได้รับประโยชน์ 310 ครัวเรือน และการจัดทำข้อมูลชุมชนและแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย (Watershed Profile) จำนวน 19 ลุ่มน้ำย่อย

             ทั้งนี้ หากการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้จะช่วยลดปัญหาภาวะวิกฤติน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากในพื้นลุ่มน้ำสะแกกรังทั้ง 3 จังหวัดได้เป็นอย่างดี

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ