ข่าว

(หน้า 1 อี 2) ศาลอุทธรณ์สั่ง สธ.จ่าย 3 ล้านคดีน้องนิก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(หน้า 1 อี 2) ศาลอุทธรณ์สั่ง สธ.จ่าย 3 ล้านคดีน้องนิก ศาลอุทธรณ์สั่งสาธารณสุขชดใช้เงิน 3.4 ล้าน กรณีแพทย์ รพ.นครพนมรักษาผิดพลาดจนต้องตัดขาเด็กหญิงทิ้ง "น้องนิก" วอน สธ.ไม่ยื่นอุทธรณ์ศาลฎีกา ขอมีโอกาสได้เรียนต่อ เผยหลังถูกตัดขาทนทุกข์มานานถึง 6 ปี ครอบครัวแตกแยก ไม่มีเงินเรียนต่อ ////////////////////// เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม ที่ห้องพิจารณาที่ 5 ศาลจังหวัดนนทบุรี น.ส.วัจนาถ วังตาล ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิจาราณาคดี ที่ จ.ส.อ.เจริญ สร้อยคำ ยื่นฟ้องแพทย์และโรงพยาบาลนครพนม ที่ร่วมกันรักษาลูกสาวคือ ด.ญ.ดริษา สร้อยคำ หรือน้องนิก ด้วยความประมาทจนได้รับความพิการต้องตัดขาทิ้ง และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 3,027,230 บาท ต่อมากระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ที่รักษาได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น และเพิ่มเงินค่าเสียเวลาที่ทางโจทก์ได้เรียกเพิ่มในขณะที่ดูแลและนำคนไข้ตระเวนไปรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขชดเชยเป็นเงินจำนวน 3,424,010 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระหมด คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 ด.ญ.ดริษา ขณะนั้นอายุ 14 ปี ล้มหัวเข่ากระแทกพื้นมีอาการปวดบวมที่เข่าซ้าย จนพ่อต้องนำส่งโรงพยาบาลค่ายพระยอดเมืองขวาง แต่เนื่องจากเครื่องมือไม่พร้อม ทางโรงพยาบาลจึงส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพนม โดยมี นพ.ชัยมงคล จันทศ เป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยโรค ก่อนที่จะลงความเห็นว่า ด.ญ.ดริษา มีอาการกระดูกเคลื่อน จึงใส่เฝือกดามไว้ โดยไม่ต้องผ่าตัด ต่อมา ด.ญ.ดริษา มีอาการปวดบวมที่เท้าก่อนที่จะพบว่าที่ปลายเท้ามีสีเขียวคล้ำและไม่มีความรู้สึก ไม่สามารถจะขยับนิ้วเท้าได้ แพทย์จึงผ่าเฝือกออกเพราะสงสัยว่าเส้นเอ็นข้อเท้าของ ด.ญ.ดริษา ฉีกขาด หลังจากนั้นก็นำเฝือกมาใส่ใหม่ จากนั้นไม่นาน ด.ญ.ดริษา มีอาการไข้ขึ้นสูงและมีความเจ็บปวดทรมานที่เฝือกมาก จนเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2547 ญาติต้องขอร้องให้แพทย์ผ่าเฝือกออก เพราะทนเห็น ด.ญ.ดริษา เจ็บปวดไม่ไหว เมื่อแพทย์ผ่าเฝือกออกมาปรากฏว่าขาซ้ายมีอาการเน่า แพทย์ที่รักษาจึงส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งแพทย์เห็นว่าต้องตัดขาซ้ายที่เน่าทิ้ง ญาติไม่สามารถยอมรับได้ จึงนำตัวคนไข้ไปรักษาแบบพื้นบ้าน แต่ต่อมาคนไข้ไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้ ญาติจึงนำส่งโรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อให้แพทย์ตัดขาซ้ายที่เน่าทิ้งจนกลายเป็นเด็กหญิงพิการขาซ้ายด้วน จ.ส.ต.เจริญ จึงตัดสินใจฟ้องแพทย์ที่รักษาและโรงพยาบาลนครพนม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย จ.ส.ต.เจริญกล่าวด้วยความดีใจว่า ตนและลูกขอขอบคุณที่ศาลให้ความเมตตา และอยากจะฝากเตือนไปถึงแพทย์ ว่าเวลารักษาคนไข้อย่าได้วิเคราะห์แบบขอไปที เพราะผลกระทบที่ได้รับคือคนไข้ต้องรับกรรมไปตลอดชีวิต ส่วน น.ส.ดริษา ซึ่งมีอายุ 18 ปี แล้วกล่าวว่า อยากจะกราบวิงวอนให้กระทรวงสาธารณสุขอย่าได้ฎีกาเลย เพราะอยากเรียนหนังสือ ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยื่นฎีกา การต่อสู้ก็จะยืดเยื้อไปอีกนาน คงไม่มีโอกาสได้เรียน จึงอยากขอความเมตตาจากท่าน ต่อมาเวลา 11.30 น. นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้นำ น.ส.ดริษา พร้อมบิดา เข้ายื่นคำร้องต่อ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อศาสฎีกา และอยากให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยเหลือครอบครัวนี้ เพราะจากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ครอบครัวน้องนิกแตกแยก หลังจากเกิดเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ทำให้ต้องเป็นหนี้ถึง 6 แสนบาท จากการกู้ยืมเงินเพื่อนำมารักษา ทำให้ภรรยา จ.ส.อ.เจริญ ต้องไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อหาเงิน แต่ภายหลังมีแฟนใหม่ ทิ้งลูกให้อยู่กับ จ.ส.อ.เจริญที่มีเงินเดือนเล็กน้อย และไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและค่ารักษา อีกทั้งขณะนี้น้องนิกอายุ 18 ปีแล้ว และอยากเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ในปีหน้า จำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งหากกระทรวงสาธารณสุขอุทธรณ์อีก อาจต้องรอเวลาอีก 3 ปี จะทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนๆ ได้ "ที่ผ่านมาน้องนิกได้รับความทุกข์อย่างมาก หลังจากตัดขาแล้ว ต้องใส่ขาเทียม และจากน้ำหนักตัวที่มาก ทำให้ต้องเปลี่ยนขาเทียมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากรับน้ำหนักตัวไม่ไหว โดยขาเทียมมีราคาแพงมาก อยู่ที่ 3 หมื่นบาท ซึ่งน้องนิกเป็นลูกข้าราชการ จึงไม่มีสิทธิ์รับขาเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะเดียวกัน สวัสดิการข้าราชการก็ไม่ครอบคลุมเรื่องนี้ เพราะถือว่าการรักษาได้เสร็จสิ้นไปแล้ว" นางปรียานันท์กล่าว นางปรียานันท์กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือแล้ว นายกิตติศักดิ์ ประเสริฐสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับฟังข้อร้องเรียน และได้แสดงความเห็นใจอย่างมาก โดยจะนำเรื่องรายงานต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาทางไกล่เกลี่ยเช่นเดียวกับกรณีของนางดอกรัก เพ็ชรประเสริฐ ที่ตาบอดจากโรคสตีเว่น จอห์นสัน ซินโดรม ที่เป็นอาการจากการแพ้ยา ที่กระทรวงไม่ยื่นฟ้องต่อ
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ