ข่าว

เตือนคนกทม.ระวังโรคน้ำท่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรค เตือน คนกทม. ระบุ ต้องทนน้ำท่วมขังที่เน่าเหม็นอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ สั่งเฝ้าระวัง "โรคฉี่หนู" หลังน้ำลด ย้ำ ห้ามลุยน้ำเด็ดขาด

           นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีประชาชนหวาดกลัวโรคระบาดจากน้ำท่วมขังที่เริ่มเน่าเสียว่า แบคทีเรียในน้ำเน่าจากการท่วมขังเป็นเวลานานนั้น มีสิ่งปฏิกูลเหมือนกันทุกจังหวัดไม่แตกต่างกันทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และกทม. ไม่ได้หมายความว่า กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำจะต้องรับเชื้อโรคมากกว่าจังหวัดอื่น 

           ทั้งนี้ แบคทีเรียในน้ำไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะไม่สามารถทะลุผ่านชั้นผิวหนังได้ ยกเว้นคนที่ผิวหนังมีบาดแผล หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำที่มีสีดำและมีกลิ่นเหม็นเพื่อเดินทางไปทำงานเป็นประจำทุกวันยังสามารถทำได้โดยไม่เป็นอันตราย

           "เพียงแต่กลิ่นเหม็นของน้ำจะสร้างความรำคาญให้เท่านั้น ประชาชนจึงไม่ควรเดินลุยน้ำเท้าเปล่า และต้องล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งหลังเดินลุยน้ำ"

 

น้ำลด ระวัง โรคฉี่หนู" ย้ำ ห้ามลุยน้ำเด็ดขาด

 

           อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงน้ำท่วมขังในขณะนี้  ยังไม่พบโรคระบาดรุนแรงที่ต้องเป็นกังวล โดยช่วงที่น่าเป็นห่วง คือ ขณะที่น้ำลดใกล้แห้ง หนูสามารถออกหากินตามกองขยะที่ถูกทิ้งสะสม

           "ในระหว่างนั้น ต้องประกาศเตือนห้ามเดินลุยน้ำอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะเกิดการระบาดของโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ จะเสียชีวิตภายใน 7-10 วัน"

 

เร่งรณรงค์ลดขยะ-แยกขยะ

 

           เขาบอกด้วยว่า ในระหว่างนี้ กรมควบคุมโรค ขอรณรงค์ให้ประชาชน ลดการทิ้งขยะและคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยขอให้แยกขยะแห้งจำพวกพลาสติก โฟม กระป๋อง หรือกระดาษเก็บไว้ภายในที่พักรอจนน้ำลดค่อยนำออกทิ้ง หรือขายสร้างรายได้เสริม ในระหว่างที่น้ำยังท่วมขังอยู่ขอให้ เลือกทิ้งเฉพาะขยะเศษอาหารที่เน่าเสียได้เท่านั้น

 

เตือน ไม่ปล่อยเด็กเล่นน้ำ หวั่นโรค "เชื้อราขึ้นสมอง"

 

            ผู้สื่อข่าวถามถึงความเสี่ยงจากโรคเชื้อราขึ้นสมอง เช่นเดียวกับอดีตนักร้องวงดีทูบี  น.พ.พรเทพ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากโปโตซัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำครำหรือน้ำโสโครก โดยโปโตซัวชนิดนี้สามารถขึ้นไปเจริญเติบโตในสมองได้ ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้บัตรหลานเล่นน้ำ จนสำลักน้ำ  หรือมีน้ำเข้าปากหรือจมูก

           นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนที่ไม่ยอมอพยพออกไปยังสถานพักพิงที่ราชการจัดเตรียมไว้ โดยเลือกที่จะพักอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน ไม่ควรขับถ่ายลงน้ำ รวมทั้งผู้ที่พักอาศัยตามคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเมนท์ ซึ่งน้ำท่วมบ่อเกรอะหรือบ่อบำบัดใต้อาคาร ควรจะขับถ่ายลงในสุขาฉุกเฉิน และเก็บสิ่งปฏิกูลใส่ถุงดำฆ่าเชื้อด้วยปูนขาวก่อนทุกครั้ง

           เขาบอกว่า หากประชาชนยังขับถ่ายตามปกติ  น้ำเน่าและสิ่งปฏิกูลจะไม่ไหลไปบ้านคนอื่น แต่จะวนกลับมาอยู่ที่บ้านของท่านเอง และท่านเองที่ต้องจมอยู่กับสิ่งสกปรกเน่าเหม็น

           "เรายังต้องทนรำคาญและอยู่กับน้ำเน่าที่ท่วมขังอีก2-3สัปดาห์ จึงต้องอดทนกับมันอย่างถึงที่สุด หากไม่ช่วยกันรักษาความสะอาดและลดการทิ้งขยะ แยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง สถานการณ์จะยิ่งลำบาก ตอนนี้ทุกบ้านมีหน้าที่เก็บขยะ อย่าให้หนูมีอาหาร. มิเช่นนั้นขยะที่เน่าเหม็นจะวนกลับมาหาท่าน อีเอ็มบอลที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะบำบัดน้ำเสียได้ เพราะเรามีน้ำเน่าเสียมากถึง 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ