Lifestyle

จากเด็กฝึกงานสู่พนักงานโรงแรม5ดาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเรียนในสายอาชีพที่ทักษะฝีมือเป็นอาวุธสำคัญเป็นใบเบิกทางสู่การสร้างงานสถานประกอบคัดตัวเข้าทำงานทันทีตั้งแต่ยังไม่พ้นรั้วสถานศึกษา : เกศกาญจน์  บุญเพ็ญ

         การเรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติงานจริง จะทำให้ได้ฝึกปรือฝีมือ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เป็นความรู้จะจดจำได้ยาวนานมากกว่าการอ่านจากตำรา หรือฟังคำบรรยายจากครูอาจารย์
        "การเรียนอาชีวะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ให้ทั้งความรู้ และให้ประสบการณ์ โดยเฉพาะการเรียนในระบบทวิภาคี ทำให้หนูได้มีโอกาสฝึกงานในโรงแรมระดับ 5 ดาวตลอดระยะเวลา 9 เดือนได้เรียนรู้ ทำงานแบบที่พี่ๆพนักงานทำ ที่สำคัญทันทีที่ฝึกงานเสร็จและจบการศึกษา หนูก็ได้โอกาสเข้าทำงานเป็นพนักงานที่โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ลด้วย และจะเริ่มงานในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งทำให้หนูคิดว่าหนูเลือกไม่ผิดจริงกับการเรียนสายอาชีพ”น้องพู่กัน- ฐิติรัตน์ สุดสาย ปัจจุบันจบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ หนึ่งในศึกษาที่ฝึกประสบการณ์ในระบบทวิภาคีกับโรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล และได้รับคัดเลือกให้เข้าทำงานเป็นพนักงาน เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

จากเด็กฝึกงานสู่พนักงานโรงแรม5ดาว

น้องพู่กัน

       น้องพู่กัน เล่าว่า ในช่วงแรกได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานส่วนหน้า เช่น เคาท์เตอร์ ล็อบบี้ มีหน้าที่ดูแลและให้บริการแขก รวมทั้งรับผิดชอบในส่วนร้านกิ๊ฟช็อป จำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ของโรงแรมโอเรียนเต็ล ต่อมาก็ได้รับมอบหมายให้ประจำที่ แบมบูบาร์ เป็นบาร์เหล้าของโรงแรม ซึ่งเมื่อมาเริ่มทำงานในฐานะพนักงานก็ได้รับมอบหมายให้ทำในส่วนนี้เช่นเดิม

        ทั้งนี้ การทำงานในส่วนแบมบูบาร์ จะทำตั้งแต่รับออเดอร์ เสริฟ ไปจนถึงผสมเครื่องดื่มต่างๆ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์สำคัญ ได้พบเจอแขกที่มีความหลากหลาย บางครั้งก็เจอสถานการณ์ที่ทำให้ต้องคิดแก้ไขเฉพาะหน้า เช่น แขกเข้าใจบางอย่างผิดๆก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจ หรือถ้าเกินความสามารถที่เราจะแก้ไขได้ ก็จะบอกพี่ๆเขาก็จะช่วยเหลือและแนะนำว่าถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ต้องรับมือยังไง

      "สิ่งที่ได้จากการทำงาน เป็นประสบการณ์ที่เราไม่มีทางเจอเลยจากในห้องเรียน จากตำราเรียน บางงานอย่าง เช่น การปูเตียง ที่เราเรียนกับที่ได้ทำจริงก็ต่างกัน แต่พอมาเห็นบรรยากาศการทำงานจริงๆทำให้รู้ด้วยว่างานบริการของโรงแรมนั้น จะดีแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้แต่ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์เป็นไปตามมาตรฐานของโรงแรม ซึ่งแต่ละแห่งก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ในช่วงที่ฝึกงานนั้นก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่ บางวันแม้จะครบชั่วโมงการทำงานซึ่งต้องเลิกตอน 5 ทุ่ม แต่ถ้าแขกยังมากจะอยู่ช่วยพี่ๆต่อจนถึงประมาณตี 2 หรือตี 3 เป็นการต่อชั่วโมงบินให้ตัวเอง ระหว่างฝึกงานทางโรงแรมก็ให้เงินเดือนๆละ 6,000 บาทและมีทิปจากแขกด้วยซึ่งก็ทำให้มีรายได้ระหว่างเรียนด้วย”น้องพู่กัน ระบุ

      เช่นเดียวกับ น้องบูม-.เบญญาภา หอมสมบัติ ปวส.2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น ที่ได้รับเลือกเป็นพนักงานของโรงแรมแมนดารินโอเต็ล  บอกว่า ระหว่างการฝึกงานต้องรับผิดชอบในส่วนของล็อบบี้ บาร์ และบางครั้งไปเสริมในส่วนของซิก้าช็อป จะเริ่มงานตั้งแต่ 08.00-18.00 น.ทุกวัน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้มาฝึกงานที่โรงแรมสอนหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องบุคลิกภาพ เพราะการทำงานบริการต้องสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น การต้องรู้จักควบคุมอารมณ์รับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ 

จากเด็กฝึกงานสู่พนักงานโรงแรม5ดาว

น้องบูม

         ที่สำคัญคือ เรื่องภาษาอังกฤษ ตรงนี้สิ่งที่ได้เรียนมาจากสถานศึกษา เช่น คำศัพท์เฉพาะวิชาชีพที่เรียน กับที่ใช้แตกต่างกัน ต้องมีการปรับและเรียนรู้ใหม่ เป็นต้น ซึ่งการมาฝึกงานที่โรงแรมก็ทำให้เจอกับประสบการณ์จริง ได้พบเจอลูกค้าหลากหลาย มีเรื่องใหม่ๆให้ได้เรียนรู้ทุกวัน โดยจะมีพี่ๆที่โรงแรมคอยให้แนะนำถ้าเกิดปัญหาติดขัด

       “ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกงานที่โรงแรม จะเป็นพื้นฐานการทำงานที่ติดตัวเราไป สามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานในสายงานอื่น หรืออาชีพอื่นๆ ต่อไปได้ ส่วนตัวบูมเห็นว่าการเรียนอาชีวะในระบบทวิภาคี เป็นเรื่องที่ดีมากอย่างหนูเองที่ต้องทำงานพิเศษด้วย เรียนไปด้วยเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว การเรียนสายอาชีพก็จะเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้ทักษะวิชาชีพเฉพาะืเป็นโอกาสในการมีงานทำทันทีที่เรียนจบด้วย”

จากเด็กฝึกงานสู่พนักงานโรงแรม5ดาว

        ในฐานะครูฝึกของโรงแรมแมนดารินฯ สมพูน ถนอมมงคล Human Resources Coordinator ให้ความเห็นว่า หัวใจสำคัญของการทำงานโรงแรมคือ ใจรักงานบริการ ซึ่งเป็นงานที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่บอกต่อได้ว่าการบริการที่นั่น ที่นี่ดี เพราะฉะนั้น คนทำงานไม่ใช่แค่ทำงานเป็นต้องมีใจรัก ทันทีสวมใส่ชุดพนักงานเรื่องราวกังวลใดๆต้องวางให้หมดก่อน เพราะฉะนั้น การให้นักศึกษาได้มาฝึกประสบการณ์ทำงานจริงที่โรงแรม ให้ได้เจอกับสถานการณ์จริง นักศึกษาจะเกิดการเรียนรู้ด้วยโดยจะมีระบบการทำงานเป็นตัวกำกับ

       ความรับผิดชอบเหล่านี้ระบบพี่เลี้ยงจะหล่อหลอมให้เขาเป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น การเรียนอาชีวะในระบบทวิภาคี ถือได้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินมาถูกทางในการพยายามสร้างแรงงานระดับกลาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการณ์อย่างมาก

จากเด็กฝึกงานสู่พนักงานโรงแรม5ดาว

       “การสร้างแรงงานเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้แก้ไขให้เข้มแข็งยั่งยืนตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรการผลิตให้ตรงกับความต้องการแต่ละสาขาอาชีพ อาจารย์ผู้สอนต้องมีองค์ความรู้แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาโรงแรมแมนดารินมีการจัดอบรมอาจารย์ผู้สอนโดยให้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อที่จะได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่เด็กได้ เพราะวันหนึ่งเด็กกลุ่มนี้ก็จะหมุนเวียนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ที่สำคัญที่อยากให้ สอศ.เร่งแก้ไขคือ การสื่อสารภาษาอังกฤษ ยิ่งเวลานี้มีการรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานทั้งที่ไทยมากขึ้น เขามีข้อได้เปรียบเรื่องภาษามากกว่าเด็กไทย อยากให้ปรับปรุงรูปแบบการสอนใหม่ให้เด็กเห็นความสำคัญ”สมพูน ฝากถึงการพัฒนาเด็กอาชีวะ

      การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ไม่เพียงช่วยให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ ได้ทำงานกับกูรูผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ยังตอบโจทย์ในแง่การผลิตกำลังคนของอาชีวะที่ตรงกับความต้องการของประเทศ

      งานนี้วิน-วินทุกฝ่าย เพราะสถานประกอบการได้คนตามสเปกที่ต้องการ ตัวเด็กเองได้ทั้งความรู้ แถมได้อาชีพที่ค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งปัจจุบันสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ มีจำนวน 414 แห่ง ผู้เรียน 113,729 คนเอกชน มีจำนวน 97 แห่ง ผู้เรียน 9,961 คน ในจำนวนนี้มีสถานประกอบการร่วมมือจัดการศึกษาระบบทวิภาคี 21,019 แห่ง

 

ภาพประกอบ : คุณสมพูน และ ประชาสัมพันธ์ สอศ.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ