เด่นโซเชียล

"ไส้กรอก" อันตราย อ.เจษฎ์ เผยเพราะเติมสารนี้เกินมาตรฐาน ทำเด็กป่วย 5 จังหวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ไส้กรอก" อันตราย หลังศูนย์พิษรามาฯ ประกาศแจ้งเตือนทำเด็กป่วย 5 จังหวัด ล่าสุด อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อข้องใจเผยแล้วเพราะเติมสารนี้เกินมาตรฐาน ก่อให้เกิดอันตรายได้

 

"ไส้กรอก" เมื่อไส้กรอกไม่มียี่ห้อทำให้พบผู้ป่วยกระจายทั่ว 5 จังหวัด หลังศูนย์พิษรามาฯ ประกาศแจ้งเตือนอย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ หลังพบว่าเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จากสาเหตุเดียวกัน ล่าสุดนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาไขข้อข้องใจถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้แล้ว

 

 

 

 

"ไส้กรอก" การเลือกทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อหรือไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจนอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้อย่างเช่นกับเหตุการณ์นี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนภัยว่า อย่ากินไส้กรอกจากแหล่งที่ไม่แน่ชัดหรือไม่น่าเชื่อถือ สัปดาห์ที่ผ่านมามีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด (เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย) โดยทั้งหกรายมีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีเอกสารกำกับ อาการของผู้ป่วยคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ เหนื่อย หายใจเร็ว เขียว ระดับออกซิเจนที่วัดปลายนิ้วต่ำ ในขณะนี้ยังไม่มีรายใดที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต

 

ซึ่งภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจนเช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้

 

 

ไส้กรอก, ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ, ภาวะเมทฮีโมโกลบิน

 

 

 

 

และล่าสุดนี้ (29 มกราคม 2565) ทางด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้อีกว่า สาเหตุของเรื่องนี้น่าจะเกิดจากการที่ไส้กรอกแบบไม่มียี่ห้อไม่มีแหล่งผลิตชัดเจนเหล่านี้ มีการเติมสารกลุ่ม ไนเตรท-ไนไตรท์ เข้าไปเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้

 

ปกติในการทำอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะไส้กรอก แฮม เบคอน แหนม ฯลฯ ก็จะมีการใส่สารพวก โซเดียมไนไตรท์ โซเดียมไนเตรท โปแตสเซียมไนไตรท์ ลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียอันตราย เช่น Clostridium botulinum คลอสทริเดียม โบทุลินั่ม เจริญเติบโตในระหว่างที่หมักเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเชื้อจะสร้างพิษอันตรายต่อผู้บริโภค

 

ซึ่งตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข กำหนดไว้ให้ใส่ไนเตรตหรือไนไตรต์รวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม เพราะถ้ามากเกินไปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น นำไปสู่การเป็นสารก่อมะเร็ง หรือทำให้เกิดสภาวะที่สารโปรตีน ฮีโมโกลบิน ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงของร่างกาย และมีหน้าที่นำพาออกซิเจน เปลี่ยนสภาพเป็น เฮทฮีโมโกลบิน ที่นำออกซิเจนไม่ได้ ซึ่งถ้าผู้บริโภคกินเข้าไปเป็นปริมาณมาก ๆ ในเวลาอันสั้น จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้ (ตัวอย่างเช่น ถ้ากินเข้าไปเกิน 32 mg ต่อน้ำหนักตัวคน 1 กิโลกรัม จะทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงได้) ดังที่เป็นข่าวครับ

 

ดังนั้น คำแนะนำที่ดีที่สุด คือ ให้เลือกกินแต่เฉพาะที่มีชื่อยี่ห้อ มีแหล่งผลิตชัดเจน มีชื่อผู้ผลิต และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจาก อย. เรียบร้อยแล้วเท่านั้น (รวมทั้งให้บริโภคได้ไม่มากเกินไปในแต่ละวัน คือ ไม่ควรเกินวันละ 100 กรัม)

 

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : Ramathibodi Poison Center , อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ 

 

 

 

logoline