เด่นโซเชียล

ออกโรงเตือน หยุดแชร์ข่าวปลอม "รถไฟญี่ปุ่น" วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้

22 ก.ย. 2564

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ออกโรงเตือนละเอียดยิบ หยุดแชร์ข่าวปลอม "รถไฟญี่ปุ่น" วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้ และไม่คุ้มค่าในการนำมาใช้

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แห่งประเทศไทย ประกาศชี้แจงทาง www.antifakenewscenter.com ระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารประเด็นเรื่อง รถไฟญี่ปุ่นมือสองที่บริจาคให้ไทย วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้ และไม่คุ้มค่าในการนำมาใช้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม พบว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

กรณีการให้ข้อมูลที่ระบุว่า รถไฟที่ญี่ปุ่นได้บริจาคให้กับไทยนั้น ถูกใช้งานมาแล้ว 30 – 40 ปี อีกทั้ง มีขนาดความกว้างของล้อ 1.06 เมตร ขณะที่รางรถไฟไทย มีขนาดกว้าง 1 เมตร ทำให้ รฟท. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงจำนวนมาก ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นดังกล่าวว่า

 

ปัจจุบันในแต่ละประเทศ หรือแต่ละภูมิภาค ใช้ขนาดความกว้างของรางรถไฟแตกต่างกันออกไป เช่น ยุโรป และจีนใช้ความกว้างของราง ขนาด 1.435 เมตร หรือเรียกว่า Standard Gauge ประเทศในแถบเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย ใช้ความกว้างของรางขนาด 1.60 เมตร ซึ่งการกำหนดความกว้างของรางนั้น เป็นเรื่องของการใช้พื้นที่ และการเชื่อมโยงกันในภูมิภาคเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ส่วนมากใช้ความกว้างของรางขนาด 1.00–1.067 เมตร โดย รฟท. มีขนาดความกว้างของราง 1.00 เมตร ส่วนรถไฟญี่ปุ่นมีขนาดกว้าง 1.067 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นรางมาตรฐานเดียวกันคือ Narrow Gauge โดยความกว้างของรางขนาด 1.00 เมตร ของ รฟท. นั้น สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟของประเทศมาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่าได้

 

ออกโรงเตือน หยุดแชร์ข่าวปลอม \"รถไฟญี่ปุ่น\" วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้

ในกรณีรถดีเซลราง จำนวน 17 คัน ของ JR Hokkaido ที่มอบมาให้นั้น รฟท. แค่นำมาปรับฐานล้อด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิคที่โรงงานมักกะสัน ก็สามารถนำออกมาให้บริการได้ทันที ซึ่งการปรับปรุงสภาพรถ และปรับขนาดความกว้างของฐานล้อ เป็นเรื่องที่ศูนย์แผนงานและการผลิต โรงงานมักกะสัน ฝ่ายการช่างกล ดำเนินการเป็นปกติทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็น 1.00 เมตร สามารถปรับได้มากถึง 2-3 คันต่อวัน ซึ่งการดันล้อที่มีพิกัดความกว้าง 1.067 เมตร ไปใช้ในความกว้าง 1.00 เมตร ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการซ่อมบำรุงล้อและเพลาตามปกติของ รฟท. แม้แต่รถโดยสารที่วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ก็ต้องมีการนำรถโดยสารเข้ามาตรวจสอบสภาพ ปรับฐานล้อให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการ

ออกโรงเตือน หยุดแชร์ข่าวปลอม \"รถไฟญี่ปุ่น\" วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้

ในด้านของความคุ้มค่านั้น ที่ผ่านมาในอดีต รฟท. เคยได้รับรถดีเซลราง และรถโดยสารปรับอากาศมาจาก JR West ประเทศญี่ปุ่นในปี 2540 จำนวน 26 คัน ปี 2542 จำนวน 28 คัน ปี 2547 จำนวน 40 คัน ปี 2553 จำนวน 32 คัน และรถโดยสารจากควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2538 จำนวน 21 คัน ซึ่ง รฟท. ได้นำรถที่ได้รับมอบเหล่านี้มาปรับความกว้างฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร เป็น 1.00 เมตร ซึ่งหลังจากปรับปรุงแล้วสามารถนำมาให้บริการได้จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้ว แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเองก็ตาม ได้มีการนำรถโดยสารที่ปลดระวางแล้วมาดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมภาพลักษณ์ สนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่ง รฟท. ได้นำรถโดยสารปรับอากาศ JR West ที่ได้รับ มาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถจัดเฉพาะเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ อาทิเช่น ตู้ SRT Prestige 
และ SRT VIP Train (ขบวนรถหรูสีน้ำเงินเข้มคาดทอง รถไฟชั้นเฟิร์สคลาส) และเคยเป็นขบวนรถไฟที่ให้บริการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เดินทาง และใช้ประชุม ครม.สัญจรหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในรูปแบบของขบวนรถท่องเที่ยว เช่น รถ OTOP Train อีกด้วย ถือเป็นขบวนรถไฟที่มีผู้โดยสารจองเช่าใช้บริการมากที่สุด เพราะมีความสวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

 

ออกโรงเตือน หยุดแชร์ข่าวปลอม \"รถไฟญี่ปุ่น\" วิ่งบนรางรถไฟไทยไม่ได้

โดยในปีงบประมาณ 2562 รฟท. มีรายได้จากการให้เช่ารถไฟเฟิร์สคลาส และขบวนรถพิเศษรวมกว่า 10 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2563 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้ลดลงเหลือประมาณ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังนำรถ JR West บางส่วนมาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถแค้มป์คาร์ของฝ่ายการช่างโยธา รถ Power car รถสำหรับผู้พิการ  Wheel chair ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ในการให้บริการแก่ประชาชนอีกด้วย และหากเปรียบเทียบกับการจัดซื้อใหม่แล้ว จะเห็นว่า รฟท. ประหยัดงบประมาณได้
เป็นจำนวนมาก

 

ส่วนรถโดยสารควีนแลนด์ ปัจจุบัน รฟท. ยังใช้ให้บริการในขบวนรถชานเมืองเป็นประจำทุกวัน โดยสังเกตได้จากขบวนรถที่ทำจาก Stainless คาดสีเขียว ซึ่งล้วนเป็นรถไฟที่ รฟท. ได้รับมา และดำเนินการซ่อมบำรุง และปรับปรุงความกว้างของฐานล้อทั้งสิ้น ซึ่งยังสามารถใช้การได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับรถโดยสารปรับอากาศ 10 คันที่ JR Hokkaido มอบมาก่อนหน้านี้ รฟท. มีแผนจะดัดแปลงเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ซึ่งในขณะนี้ได้ดำเนินการผ่านขั้นตอน การปรับปรุงความกว้างของฐานล้อ จาก 1.067 เมตรเป็น 1.00 เมตร เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันจอดอยู่ที่ ศรีราชา และ รฟท. อยู่ระหว่างประกาศการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อทำการดัดแปลงเป็นขบวนรถท่องเที่ยว ตามที่มีการร่วมมือกับ ทาง TCDC และมีการวางแผน ทางการตลาดไปก่อนหน้านั้น ส่วนขบวนรถ ดีเซลราง Kiha183 จำนวน 17 คันล่าสุดนั้น หลังจากรับเข้ามาแล้ว จะต้องทำการปรับปรุงให้เหมาะสมและเป็นไปตามแผนงานตามมาตรฐาน ของ รฟท. โดยคาดว่า จะสามารถทยอยนำออกให้บริการได้ ภายในต้นปี 2565

 

ส่วนประเด็นการนำเข้าอะไหล่ซ่อมบำรุงนั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมรถไฟ รวมถึงรถจักร และรถโดยสาร ดังนั้น การซ่อมบำรุงรถจักรล้อเลื่อน ส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น ยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ รถไฟฟ้า ทั้ง BTS และ BEM ก็ล้วนใช้อะไหล่นำเข้าทั้งสิ้น

 

สำหรับรถดีเซลรางที่ทางบริษัท JR Hokkaido ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเดินรถของประเทศญี่ปุ่น ได้มอบให้การรถไฟฯ ถือเป็นความร่วมมือ และการรักษาความสัมพันธ์อันดี ระหว่างการรถไฟฯ และบริษัทในเครือ JR ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยการรถไฟฯ มีหนังสือตอบรับมอบรถดีเซลราง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2560 แต่ติดปัญหาเรื่องการขนย้ายจึงทำให้ล่าช้ามา

 

จนถึงปัจจุบัน และเพื่อการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับบริษัท JR Hokkaido จึงได้ว่าจ้างบริษัททำการขนย้ายรถไฟทั้ง 17 คัน ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพตู้รถโดยสารในเบื้องต้น ขบวนรถดีเซลรางอยู่ในสภาพดี ได้รับการดูแลบำรุงรักษาจากทางญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากที่การรถไฟฯ ได้รับมอบตู้โดยสารแล้วจะมีการเข้าไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย และนำมาดัดแปลง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกครั้ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า จะนำตู้โดยสารดังกล่าวมาปรับปรุงเพื่อใช้ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง