เด่นโซเชียล

หมอดื้อ ยืนยัน "ฉีดวัคซีน" ให้เด็กได้ทุกวัย แต่ต้อง "ชนิดเชื้อตาย" เท่านั้น

08 ก.ย. 2564

"หมอธีระวัฒน์" ยืนยัน "ฉีดวัคซีน" ให้เด็กได้ทุกช่วงอายุ แต่ต้อง "ชนิดเชื้อตาย" เท่านั้น หวั่น mRNA-ไวรัสเวกเตอร์ ไม่ปลอดภัยกับเด็กทุกกลุ่ม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับคมชัดลึกออนไลน์ ถึงแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้เด็ก โดยระบุว่า ที่ผ่านมามีรายงานว่า เด็กสามารถติดโควิด-19ได้เช่นกัน แม้ว่าการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กจะไม่มีอาการรุนแรงก็ตาม แต่จุดประสงค์ของการฉีดวัคซีนให้เด็กจึงเป็นไปเพื่อป้องกันการนำเชื้อกลับมาติดให้กับคนในครอบครัว ดังนั้นการฉีดวัคซีนให้กับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ แต่การฉีดวัคซีนในเด็ก สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความกังวลถึงแนวทาง และความชัดเจนในกลุ่มอายุที่จะสามารถเข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้ ดังนั้นแนวทางการฉีดวัคซีนให้เด็กนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะขณะนี้ข้อมูลความปลอดภัยสำหรับการใช้วัคซีนในเด็กยังมีไม่มากพอ

ดังนั้นอาจจะต้องพิจารณาเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าวัคซีนเชื้อตายเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยกับเด็กมากกว่า mRNA หรือ ไวรัสเวกเตอร์ เนื่องจากข้อเท็จจริงตามธรรมชาติของวัคซีนเชื้อตายนั้น จะมีความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว แต่สำหรับวัคซีนชนิด mRNA หรือ ไวรัสเว็กเตอร์ หากจะนำมาใช้ในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มาอายุตั้งแต่ 12-18 ปีขึ้น ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจอักเสบเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งอาจจะมีอันตรายกลับเด็กทุกกลุ่ม ดังนั้นการใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดอาจจะยังไม่เหมาะสมกับเด็กมากหนัก แม้ว่าในต่างประเทศจะมีงานวิจัยว่าผลข้างเคียงน้อยแต่ความจริงก็ไม่ควรเอาชีวิตของเด็กมาเสี่ยง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หากจะเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กทั่วไปเพื่อป้องกันโควิด-19 ควรเป็นวัคซีนเชื้อตายเท่านั้น เพราะมีความปลอดภัยและสามารถฉีดให้ได้ทุกคนโดยไม่จำกัดช่วงอายุ ตัวอย่างเช่นประเทศจีนที่ระดมฉีดวัคซีนเชื้อตายให้เด็กทั่วประเทศ เพื่อ    ยับยั่งการแพร่เชื้อ ดังนั้นไม่ว่าจะฉีดวัคซีนให้กลุ่มเด็กอายุเท่าไหร่ขึ้นไป หากเป็นการนำวัคซีนเชื้อตายมาฉีดก็สามารถฉีดให้เด็กได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจจะกังวลว่าการใช้ฉีดวัคซีนเชื้อตายให้กับเด็กแล้วอาจจะเกิดภาวะภูมิคุ้มกันขึ้นช้า และตกเร็ว ตนแนะนำว่าควรจะฉีดให้ครบ 2 เข็มก่อน หลังจากนั้นจึงกระตุ้นเข็มสามด้วยยี่ห้อ หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่อาจจะพิจารณาขีดเข้าใต้ชั้นผิวหนังแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งก็ได้ภูมิคุ้มกันสูงเช่นกันและมีความปลอดภัยกับเด็กมากกว่าด้วย.