โควิด-19

"โอไมครอน" คล้าย "ไข้เลือดออก" เช็คอาการ เหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โอไมครอน" ไม่ใช่แค่ใกล้ไข้หวัด แต่ยังคล้าย "ไข้เลือดออก" เช็คเลย เหมือน หรือ แตกต่างกันอย่างไร เพื่อหาวิธีรับมือ

จากกรณีที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ระมัดระวัง "โรคไข้เลือดออก" เนื่องจากอาการโควิด "โอไมครอน" นอกจากจะใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้น อาจจะเจอ "โรคไข้เลือดออก" ได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ และอ่อนเพลียเหมือนกัน หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบ ก็ให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้น ให้ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่น ๆ เช่น ไข้เลือดออก

 

 

อีกทั้งช่วงนี้ สภาพอากาศแปรปรวน ทั้งอากาศร้อนและมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขัง เกิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้หลายจังหวัด พบผู้ป่วย
เป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง แม้อาการของทั้งสองโรคนี้มีความคล้ายกัน
อย่างมาก จึงทำให้ยากในการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้น แต่สามารถจะแยกแยะได้เมื่อมีการดำเนินโรค เพื่อไม่ให้เป็นที่สับสน "คมชัดลึกออนไลน์" พาไปเช็คความแตกต่าง และทำความรู้จักกับสองโรคนี้
 

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก และ โควิด-19 เกิดจากอะไร

 

ไข้เลือดออก : เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

 

โควิดโอไมครอน : เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ทางละอองฝอย เสมหะน้ำลาย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุตา จมูก ปาก

 

อาการแตกต่างกันอย่างไร

 

ไข้เลือดออก : ไข้มักสูงลอยนานประมาณ 2-7 วัน (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 oc) หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือด ถ้ารุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็ก ๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอน้ำมูกหายใจลำบาก หรือปอดอักเสบ

 

โควิดโอไมครอน : ไข้ต่ำถึงสูง (มากกว่า 37.5 oc) ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ มีน้ำมูก หอบเหนื่อยหายใจลำบาก ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง ท้องเสียมีในบางราย ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง
 

 

"โอไมครอน" คล้าย "ไข้เลือดออก" เช็คอาการ เหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน

วินิจฉัยได้อย่างไร

นอกจากซักประวัติอาการ และอาการแสดงแล้ว จะมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย ดังนี้

 

ไข้เลือดออก : จะมีการตรวจเพิ่ม เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาความผิดปกติเม็ดเลือดขาว ความเข้มข้นเลือดและจำนวนเกล็ดเลือด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหาไวรัสเดงกี่ด้วยวิธี PCR, การตรวจหา NS1 แอนติเจนของไวรัส ซึ่งควรตรวจ ในช่วงวันแรก ๆ ของไข้ การตรวจดูภูมิคุ้มกัน (แอนตีบอดี) ต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ มักจะขึ้นหลังมีไข้ 4-5 วัน ปัจจุบันมี Rapid test ซึ่งอ่านผลเร็วใน 10-15 นาที

 

โควิดโอไมครอน : วิธีมาตรฐานจะใช้วิธีการป้ายจมูกและคอ ส่งตรวจ RT-PCR เพื่อหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเกิดผลบวกลวงในการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ ในผู้ป่วยโควิด19 จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความสับสนและล่าช้าในการวินิจฉัยโรคโควิด-19

 

การรักษาทำอย่างไร

 

ไข้เลือดออก : ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย

 

โควิดโอไมครอน : หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการปอดอักเสบ จะพิจารณาให้ยาหลายตัวร่วมกัน ซึ่งยาที่ใช้ในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้โดยตรง ยังอยู่ในช่วงวิจัยและทดลองยา ยาที่ถูกนำมาใช้รักษา คือ ฟาวิพิราเวียร์ และยาต้านไวรัสชนิดอื่น

 

ข้อแนะนำในการดูแลตัวเอง

 

โรคไข้เลือดออก : สามารถป้องกันได้ ด้วยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (ภาชนะที่อาจมีน้ำขัง) และป้องกันไม่ให้ยุงลายมากัดเราได้ เช่น นอนในมุ้ง หรือทาโลชั่นกันยุง

 

โควิดโอไมครอน : ฉีดวัคซีน และ วิธีการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการป้องกันการสัมผัสกับเชื้อไวรัส โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ขยี้ตา แคะจมูก และสัมผัสปาก พร้อมทั้ง

 

  • หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์นานอย่างน้อย 20 วินาที
  • ไอจามใส่แขนพับหลีกเลี่ยงการใช้มือป้องปากและจมูก หากใช้ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • รักษาระยะห่าง 1-2 เมตร (social distancing) และไม่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการทางระบบทางเดินหายใจเช่นไอจาม
  • เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยเช่น ราวบันได ลูกบิด ของเล่น ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงไปในสถานที่คนหนาแน่น เช่นตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง รถไฟฟ้า
  • ถ้าป่วยให้หยุดอยู่บ้าน และสวมหน้ากากอนามัย
  • จะเห็นว่าอาการป่วยเบื้องต้นของทั้งสองโรคมีส่วนคล้ายกันอยู่บ้าง แต่หากเป็นโรคโควิด-19 นอกจากจะมีไข้ ไอ แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับเหนื่อยหอบ 
  • หายใจลำบากร่วมด้วย หากมีอาการเหล่านี้แล้วไม่มั่นใจควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคจะดีที่สุด

 

 

"โอไมครอน" คล้าย "ไข้เลือดออก" เช็คอาการ เหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ