ข่าว

รู้ไหม "โรคไข้เลือดออก" ยิ่งแข็งแรง ยิ่งเสี่ยง "คนหนุ่มสาว" เจอป่วย-ตายหนัก

รู้ไหม "โรคไข้เลือดออก" ยิ่งแข็งแรง ยิ่งเสี่ยง "คนหนุ่มสาว" เจอป่วย-ตายหนัก

21 ก.พ. 2565

"โรคไข้เลือดออก" เปิดข้อมูลย้อนแย้ง ทำไม ยิ่งแข็งแรง ยิ่งเสี่ยงสูง แถม "คนหนุ่มสาว" มีโอกาสป่วย-ตาย หนัก วัคซีน หากยังไม่เคยเป็นห้ามฉีด

"โรคไข้เลือดออก" นับว่าเป็นอีกหนึ่งโรคประจำถิ่นของประเทศไทย ที่อยู่มายาวนานจนชินหู เพราะเรามักจะพบเจอกับป้ายรณรงค์ รวมไปถึงวิธีกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของ "ยุงลาย" พาหะตัวฉกาจที่เป็นชนวนของโรคนี้อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบัน โรคไข้เลือดออก ยังเป็นโรคที่ผู้ปกครองหลายคนกังวลว่า จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานของตัวเอง เพราะในขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรค ยังคงเป็นการรักษา ด้วยการประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ป่วยกว่า 350,000 ราย โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งนับว่าเป็นเลขที่น่ากังวล และที่น่าแปลกคือ "คนหนุ่มสาว" เมื่อเป็นแล้ว มีโอกาสอาการหนักสูง

 

 

 

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โรคไข้เลือดออกมีพาหะที่สำคัญคือ "ยุงลาย" สามารถเพาะพันธุ์ที่ไหนก็ได้ และโรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่แปลกตรงที่ เราอาจจะเคยติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เพราะส่วนมากคนที่ติดเชื้อจะ "ไม่มีอาการ" โดยจะมีผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการอยู่ประมาณ 20-30% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด มากไปกว่านั้น สำหรับผู้ป่วย เมื่อติดเชื้อครั้งแรก อาจจะไม่มีอาการ แต่ถ้าติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 ก็อาจจะมีอาการมาก-น้อยก็เป็นได้ หรือในการติดเชื้อครั้งที่ 3-4 ก็อาจจะกลับมาไม่มีอาการอะไร แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ยังสามารถติดเชื้อและเป็นเสมือนพาหะนำไวรัสไปได้อีกหลายที่ ฉะนั้นการป้องกันยุงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ทั้งนี้ ข้อมูลอัตราป่วย-เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกย้อนหลังเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วต่อปี มีรายงานผู้ป่วยประมาณ 7-8 หมื่นราย ขณะเดียวกัน
อัตราของผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 1:1,000 ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของการป่วย เด็กวัยเรียน อายุ 5-14 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มที่มีอัตราป่วยรองลงมาคือ กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี แต่ในช่วงหลังก็พบว่า กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

 

"เมื่อเป็นวัยรุ่นหลาย ๆ คนเมื่อมีไข้ เขาก็จะทนไม่ไปหาหมอ หรือไม่ไปตรวจวินิจฉัย ซื้อยารับประทานเอง หลาย ๆ คนอยู่หอพักคนเดียว หรือต้องไปทำงาน เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มทำงาน หรือเป็นนักศึกษาอยู่หอพักคนเดียว เราก็จะพบว่ากลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มมารักษาค่อนข้างช้า หลังจากที่มีอาการไข้ก็ทำให้เสียชีวิตมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โรคไข้เลือดออกนับเป็นโรคประหลาด เพราะคนที่มีร่างกายแข็งแรงที่สุด กลับพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ขณะเดียวกันคนที่ไม่แข็งแรง-ภูมิต้านทานไม่ดี กลับมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการเป็นโรครุนแรง"

 

 

ศ.พญ.กุลกัญญา ขยายความว่า กระบวนการกำจัดไวรัสจะเหมือนกับการอยู่ในสนามรบและยิงปืนต่อสู้กับข้าศึก ซึ่งผลที่ตามมาคือ ปืนทำให้บ้านพังไปด้วย ฉะนั้นอาการต่าง ๆ ของโรคไข้เลือดออก กลายเป็นการอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับไวรัส สำหรับอาการของโรคที่หนัก เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดจากกระบวนการต่อสู้ของระบบภูมิต้านทาน ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่ไข้ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยช็อก และก็อาจจะทำให้อวัยวะทำงานล้มเหลวได้

"ยิ่งคนหนุ่มสาววัยกำลังแข็งแกร่งที่สุดอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะคนที่อวบ ๆ แข็งแรง ๆ สูง จะเสี่ยงต่อโรครุนแรงที่สุด และระบบภูมิต้านทานจะแรงมากในการต่อสู้กับไวรัส" ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่มีอาการอะไรก็ยังไม่น่ากังวล เพราะโรคไข้เลือดออกสามารถหายเองได้ แต่ที่ต้องกังวลจริง ๆ นั่นก็คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนต้องเข้า ICU ซึ่งส่วนมากจะมาพร้อมกับอาการมีไข้สูง ปวดกระบอกตา ปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้อาเจียน ทานข้าวไม่ได้ มากไปกว่านั้นก็จะมีสัญญาณเตือนอาการที่บ่งบอกถึงภาวะรุนแรง เช่น อาเจียนมาก ปวดหัวรุนแรง อ่อนเพลียรุนแรง คลื่นไส้ไม่สามารถทานอะไรได้ นอกจากนี้ หากเจาะเลือดก็จะพบว่า มีเกล็ดเลือดต่ำลงอย่างรวดเร็ว หรือมีระดับค่าตับสูง

 

 

 

ศ.พญ.กุลกัญญา อธิบายว่า อาการรุนแรงของโรคจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ 

 

  1. เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย บางคนอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือเลือดออกตามผิวหนัง 
  2. บางคนดูเหมือนไข้จะลด แต่มีเหงื่อออก ตัวเย็นจนเกิดอาการช็อก 
  3. อวัยวะถูกคุกคามอย่างรุนแรง เช่น สมองอักเสบ ตับอักเสบ ตับวาย บางรายมาด้วยอาการทางหัวใจ มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น

 

 

 

ส่วนการจะต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกนั้น ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า ยังต้องอาศัยตัวช่วยหลาย ๆ อย่างเข้ามาใช้ร่วมด้วย และตัวช่วยสำคัญก็คือ "วัคซีน" สำหรับการระบาดในทุกโรค เมื่อหายแล้วคนจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่ม แต่โรคไข้เลือดออก แม้ติดเชื้อ มีภูมิคุ้มกันก็สามารถเป็นใหม่ ที่สำคัญ โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประหลาด หากไม่เคยติดเชื้อแล้วรับวัคซีน ก็จะเปรียบเหมือนการติดเชื้อครั้งแรก และเมื่อเกิดการติดเชื้อครั้งที่ 2 ตามธรรมชาติ อาการก็อาจจะรุนแรงขึ้นได้

 

 

"ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีวัคซีนในฝัน เรามีวัคซีนที่ใช้อยู่ในตลาดตอนนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่ว่า ยังใช้ยาก ราคาแพง เวลาจะใช้ต้องเจาะเลือดก่อน ยังไม่เคยติดเชื้อก็ห้ามฉีด แต่หากเคยติดเชื้อแล้วฉีดได้ ก็หวังว่าในอนาคต จะมีวัคซีนที่ฉีดแล้วสามารถป้องกันได้เลย ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อหรือไม่" ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุ

 

 

 

 

 

ที่มา : thecoverage