คอลัมนิสต์

ลูกข้าวนึ่ง ‘ทักษิณ’ ปลุกทวงคืน ‘เชียงใหม่’ ศักดิ์ศรีบ้านใหญ่สันกำแพง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดตำนานบ้านใหญ่สันกำแพง ทักษิณ รุกทวงคืนเชียงใหม่ ซื้อใจพันธมิตรเดิม ปลุกกระแสนายกฯลูกข้าวนึ่ง ต้านปรากฏการณ์สีส้ม

ปิ๊กบ้านเฮา ทักษิณ เปิดยุทธการทวงคืนเชียงใหม่ ปลุกพลังบ้านใหญ่สันกำแพง ซื้อใจพันธมิตรเดิม ต้านการรุกคืบของก้าวไกล


เปิดตำนานบ้านใหญ่สันกำแพง บนถนนการเมืองชินวัตร รุ่น 3-4 คือเหตุผลที่ทักษิณ จะกลับเชียงใหม่กราบอัฐิพี่สาวคนโต เยาวลักษณ์ 


มีความชัดเจนเรื่องคิวแรกของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปต่างจังหวัด นั่นคือ การกลับไปไหว้อัฐิบรรพบุรุษ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
 

จากปากคำของลูกสาว อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567


เนื่องจากระหว่างที่ทักษิณ อยู่ต่างประเทศ เยาวลักษณ์ ชินวัตร พี่สาวคนโตเสียชีวิต ซึ่งยังไม่เคยได้ไปไหว้อัฐิเลย จึงมีความประสงค์จะกลับไปเชียงใหม่เป็นภารกิจแรก


อนึ่ง เยาวลักษณ์ ชินวัตร เสียชีวิตจากโรคไต ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่โรงพยาบาลพระราม 9 เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2552


ทำไม เจ๊ใหญ่-เยาวลักษณ์ จึงมีความสำคัญกับทักษิณ และตระกูลชินวัตร คนรุ่นหลังอาจไม่ทราบว่า เธอเป็นหัวหอกการเข้าสู่การเมืองของชินวัตร รุ่น 4 

บ้านใหญ่สันกำแพง
ผู้ที่อ่านหนังสือตาดูดาว เท้าติดดิน อัตชีวประวัติของ ทักษิณ ชินวัตร คงรู้ว่า พ่อเลิศ ชินวัตร กับแม่ยินดี ระมิงค์วงศ์ ปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่ อ.สันกำแพง ก่อนจะขยับเข้าไปทำธุรกิจในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่


อีกมุมหนึ่งที่มีคนพูดถึงน้อยมากคือ การเข้าสู่การเมืองของชินวัตร รุ่น 3 ประกอบด้วย 3 พี่น้องคือ เลิศ ชินวัตร สุรเจตน์ ชินวัตร และสุรพันธ์ ชินวัตร 


ช่วงปี 2510-2511 ชินวัตรรุ่น 3 กรุยทางสู่การเมือง ผ่านความสัมพันธ์ของ เลิศ ชินวัตร กับปรีดา พัฒนาถาบุตร ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเชียงใหม่ 


สำหรับก้าวแรกทางการเมืองของเลิศ ได้เข้าร่วมกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ เจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่


เลิศ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขต อ.สันกำแพง และเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่


ปี 2512 เลิศ ชินวัตร ได้ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในนามผู้สมัครอิสระ ได้รับเลือกเป็น สส.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นชินวัตร รุ่น 3 คนแรกที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง


ปี 2519 เลิศวางมือทางการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ โดยสังกัดกลุ่มประชาสันติ


เลือกตั้งปี 2529 สุรพันธ์ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ พาหลานสาว เยาวลักษณ์ ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดพรรคชาติไทย แต่สอบตก


เจ๊ใหญ่-เยาวลักษณ์ จึงเป็นชินวัตร รุ่น 4 คนแรก ที่เล่นการเมืองระดับชาติ ถัดมาจึงเป็นทักษิณ ตามมาด้วย เยาวภา, พายัพ และยิ่งลักษณ์

 

 

เจ๊แดง เยาวภา คนเดียวเอาไม่อยู่ จึงพึ่งบารมีพี่ชายทวงคืนเชียงใหม่

 

ปรากฏการณ์สีส้ม
ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในภาคเหนือตอนบน ถือว่าเป็นการหักปากกาเซียน นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังตกตะลึงกับปรากฏการณ์สีส้ม โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่


อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ The Momentum ว่าด้วยเรื่องการเมืองเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบัน


“เชียงใหม่มีระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะมีใครมาผูกขาดทรัพยากรได้ทั้งหมด..ตระกูลชินวัตรเองก็พยายามที่จะเข้าไปเชื่อมกลุ่มที่มีอิทธิพลย่อยๆ อย่างในชุมชน ก็จะมีคนผูกขาดทรัพยากรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ผูกขาดทั้งจังหวัด แบบจังหวัดเล็กๆ ทักษิณเองก็อยากจะไปเชื่อมกับคนพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ตัวชี้ขาด นโยบายของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดทั้งหมด”


อาจารย์อรรถจักร พยายามบอกว่า เชียงใหม่ไม่ใช่สุพรรณบุรี บ้านใหญ่สันกำแพง ก็แค่ทุนบ้านนอก และเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายทุนท้องถิ่นล้านนา 


ปี 2544 ทักษิณสร้างพรรคไทยรักไทย ปักธง ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ ด้วยการทำการเมืองเชิงนโยบายเอาชนะใจประชาชน ส่งผลให้ทักษิณครองใจคนเชียงใหม่ และคนไทยทั้งประเทศ


ชัยชนะของทักษิณในอดีต ไม่ใช่พลานุภาพแบบบ้านใหญ่ทั่วไป หากแต่เป็นเรื่อง ‘กระแส’ เพียงแต่วันนี้ กระแสนายกฯลูกข้าวนึ่งอ่อนแรงลงเยอะ และเสื้อแดงเปลี่ยนเป็นเสื้อส้ม 


พ.ศ.นี้ เพื่อไทยจะทวงคืนเชียงใหม่กลับมาได้ คงจะอาศัยเจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เพียงคนเดียวไม่ได้ หากไม่อาศัยบารมีของทักษิณ ชินวัตร คงยากที่จะฟื้นคืนความนิยมกลับมาได้ในเร็ววัน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ