คอลัมนิสต์

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค." อะไรคือไฮไลท์ที่ต้องจับตา

 

                 นับเป็นความคืบหน้ามากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีการวางโรดแม็พเกี่ยวกับการเลือกตั้งในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา หลังมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งส.ส. และกกต.ประกาศวันเลือกตั้งออกมาแทบจะทันที

                 ตามกฎหมายกำหนดให้กกต.ประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน นับจากวันที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง การที่ กกต.เรียกประชุมและมีมติออกมาในวันเดียวกัน ด้านหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่า กกต.มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

                 “24 มีนาคม 2562” คือวันเลือกตั้ง และมีการประกาศขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างชัดเจน ตั้งแต่วันรับสมัครส.ส. วันลงทะเบียนล่วงหน้าสำหรับผู้ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกเขต วันเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และวันเลือกตั้งล่วงหน้า

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

 

                 หากไม่นับวันเลือกตั้งจุดที่เป็นไฮไลท์ที่สุดนับจากนี้ คือ ช่วงรับสมัครส.ส.ที่กำหนดไว้ในวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ เพราะนอกจากจะเห็นหน้าเห็นตาชัดๆ ว่าใครจะลงสมัครเขตใคร ใครจะอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไหนบ้าง ที่สำคัญที่สุดคือ “บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง”

                 รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพรรคที่จะส่งรายชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ จะต้องส่งรายชื่อต่อกกต.ก่อนที่จะมีการปิดรับสมัครส.ส. โดยแต่ละพรรคสามารถส่งได้ไม่เกิน 3 ชื่อ

                 รัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับ พรรคไหนจะส่งหรือไม่ส่งก็ได้ จะส่งมากที่สุดคือ 3 คน หรือจะส่งเพียงหนึ่ง หรือสองคนก็ได้

                 บัญชีนายกฯ ของพรรคที่ถูกจับตามากที่สุดไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะมีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้า คสช. นายกฯ คนปัจจุบัน อยู่ในบัญชีด้วยหรือไม่

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

 

                 น้ำเสียงและท่าทีของ “บิ๊กตู่” ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ม.ค.) ทำให้เข้าใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะตัดสินใจอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

                 "อันแรกพรรคการเมืองต้องมาเชิญผมก่อน และผมจะตอบรับใครหรือเปล่าก็ต้องคิดดู ถ้าคิดว่าจะต้องอยู่ต่อเพื่อทำงานต่อ ก็คงต้องอยู่พรรคใดพรรคหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องเป็นพรรคที่ทำงานด้วยความตั้งใจ เสียสละอย่างแท้จริง และทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า ไม่ใช่ไปล้มล้างทุกอย่างที่ทำมาทั้งหมด มันเสียเวลาเปล่า มีหลายอย่างที่สำเร็จมา”

                 ที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิมและถือว่าชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ “ถ้าคิดว่าจะต้องอยู่ต่อเพื่อทำงานต่อ ก็คงต้องอยู่พรรคใดพรรคหนึ่ง”

                 นั่นคือตัดช่องทาง “นายกฯ คนนอก” คือรอให้สภาเลือกนายกฯ ในบัญชีไม่ได้ในรอบแรก แล้วค่อยกลับเข้ามาตอน “ก๊อกสอง” เพื่อรักษาเนื้อรักษาตัว ไปได้เลย

                 พรรคที่เป็นไฮไลท์รองลงมา คือ พรรคเพื่อไทย จะส่งใครมาอยู่ในบัญชีนายกฯ บ้าง ที่สำคัญใครจะอยู่อันดับหนึ่งในบัญชีนั้น

                 ข้อมูลล่าสุดพรรคเพื่อไทยจะส่งเต็มโควตา 3 คน คือ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งในปฐพี” และพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค

                 แต่ใครจะเป็นอันดับหนึ่ง สอง สาม ยังต้องรอดู

                 ในช่วงหลังที่พรรคพยายามนำ “ชัชชาติ” ออกมาขาย มีกระแสว่าอาจจะวางชัชชาติ ไว้เป็นอันดับหนึ่ง

                 แต่หากดูจากการลงพื้นที่ของพรรคทั่วประเทศรวมไปถึงป้ายหาเสียงของผู้สมัครต่างๆ ก็ต้องบอกว่า “คุณหญิงหน่อย” คือเบอร์หนึ่ง

                 อย่างไรก็ตามไม่ได้มีข้อกำหนดว่าเมื่อถึงเวลาโหวตชิงนายกฯจริงๆ จะต้องเรียงลำดับจากอันดับหนึ่งมาก่อน นั่นหมายถึงว่า หาก “ชัชชาติ” อยู่อันดับหนึ่งจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถึงเวลาเลือกนายกฯ พรรคจะต้องส่งชื่อชัชาติไปชิง

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

(อ่านต่อ...แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี !! "ชัชชาติ" แซง "คุณหญิงหน่อย" ??)

 

                 สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่าตื่นเต้นนักเพราะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะเป็นเบอร์หนึ่งแน่นอน จะลุ้นก็เพียงว่านอกจากอภิสิทธิ์ แล้ว จะมีชื่อคนอื่นอีกหรือไม่

                 อีก 3 พรรคที่จะมีการส่งบัญชีนายกฯ ด้วย คือ ภูมิใจไทย เสนอชื่อ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่เวลานี้กำลังขึ้นหม้อ หวัง “เสียบ” เป็นนายกฯ ทางเลือก กรณีที่พรรคใหญ่ตกลงกันไม่ได้ พรรคไทยรักษาชาติ คงส่งชื่อ "จาตุรนต์ ฉายแสง" ไว้เป็นอีกตัวเลือกของพรรคตระกูลเพื่อ อีกพรรคคืออนาคตใหม่ที่จะมีชื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แน่นอน

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

(อ่านต่อ..."ภูมิใจไทย" เนื้อหอม...)

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

(ภาพ : เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

(ภาพ : เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ)

                 เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าพรรคที่จะเสนอชื่อบุคคลในบัญชีของตัวเองชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ จะต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 25 คน และเมื่อถึงเวลาเสนอก็ต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน ดังนั้นพรรคที่คิดว่าจะได้ส.ส.ไม่ถึง 25 คนก็อาจจะไม่มีการเสนอบัญชีนายกฯ ไปเลย

                 ตอนนี้มีพรรคการเมืองที่ประกาศแล้วว่าจะไม่ส่งบัญชีนายกฯอย่างน้อย 2 พรรค คือ พรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ประกาศตั้งแต่ตั้งพรรคว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

                 อีกพรรคคือรวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่สุเทพเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมานี้เอง ว่าพรรคจะไม่ส่งรายชื่อบุคคลชิงตำแหน่งนายกฯ

                 “พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ปรึกษากันแล้วจะไม่เสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี เรารู้ว่าเราไม่ใช่พรรคที่จะชนะจนมีคะแนนเป็นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ไม่สร้างปัญหา เราต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย เดินหน้าต่อไปได้ พัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นให้ได้”

                 สุเทพยังไม่เปิดหน้าไพ่เหมือนไพบูลย์ว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่ใครที่ติดตามการเมืองก็คงอ่านไพ่ของสุเทพออก

                 อีกประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือเรื่องการประกาศผลเลือกตั้ง

                 ที่ผ่านมา กกต.แสดงท่าทีว่าต้องการประกาศผลเลือกตั้งให้อยู่ภายในกรอบ 150 วันนับจากวันที่กฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคม เพื่อไม่ให้มีปัญหามีการส่งตีความให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

                 แต่ฝ่ายรัฐบาลโดย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะไม่คิดว่าจะมีปัญหาเรื่องการตีความ จึงอยากให้ กกต.ใช้เวลาให้เต็มที่ตามที่กฎหมายให้เวลาไว้คือ 60 วันนับจากวันเลือกตั้งซึ่งจะไปตกประมาณวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งจะพ้นช่วงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีไปแล้วด้วย

                 ประเด็นนี้ “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. กล่าวระหว่างการแถลงข่าววานนี้ (23 ม.ค.) ว่าตอนนี้จะมุ่งเน้นเรื่องเตรียมการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและประกาศผลให้เร็ว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน แต่ถ้าเราทำได้การเลือกตั้งให้เรียบร้อยก็ประกาศผลได้ก่อนไม่จำเป็นต้องรอถึง 60 วัน

 

สำรวจเส้นทางเลือกตั้ง "24 มี.ค."

(อิทธิพล บุญประคอง ประธาน กกต.)

 

                 มีเสียงเล็ดลอดออกมาจากทางกกต.ว่า แม้นักกฎหมายหลายคนจะยืนยันว่าการประกาศผลเลือกตั้งไม่นับรวมอยู่ในกรอบ 150 วัน แต่หากเกิดปัญหาขึ้นมา คนที่จะติดคุกคือ กกต.

                 มีข้อมูลว่าก่อนถึงเวลาประกาศผลการเลือกตั้งอาจมีการยื่นประเด็นนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชัดๆ เพื่อเป็นทางออกให้แก่ กกต.

                 เรื่องประกาศผลเอาไว้ทีหลัง ตอนนี้นับถอยหลังสู่ “24 มีนาคม” เลือกตั้งให้ได้ก่อน !!

 

===================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ