คอลัมนิสต์

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองหลังเลือกตั้งขึ้นอยู่กับตัวเลขเหล่านี้ !!

 

                เป็นไปตามคาด “บิ๊กตู่” ออกอาการ “พลิ้ว” ไม่บอกเรื่องอนาคตการเมืองซะเฉยๆ

                "จะมาสนใจอะไรกับผม ผมเคยบอกว่าเมื่อหลัง พ.ร.ป.ออกมา แล้วนี่หลังหรือยัง หลังจากนี้ไปถึงปีหน้าปีนู้นมันก็หลังทั้งหมด ผมจะพูดเมื่อไหร่ก็เรื่องของผม วันนี้ยังไม่รู้ ผมตัดสินใจเอง แล้วเรื่องอะไรผมจะออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้เล่า สื่อก็หาเรื่องผมทั้งวันนั่นแหละ วุ่นวายจริงๆ เลย”

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่" พลิ้ว ปม "ท่าทีการเมือง" ในอนาคต)

 

                คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากโดนทวงถามเรื่องที่เคยบอกไว้ว่าจะบอกอนาคตทางการเมืองในเดือนกันยายน

                นับตั้งแต่ย่างเข้าเดือนกันยายน นักข่าวก็เริ่มถามคำถามนี้ ช่วงแรกนายกฯบอกว่ารอหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาก่อน

                แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ คำพูดข้างต้นคือคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ 

ไม่แปลกที่คำตอบเป็นเช่นนี้

                “เรื่องอะไรผมจะออกมาให้โดนด่าตั้งแต่วันนี้เล่า” เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุด

                อย่างที่เคยบอกไว้แล้วว่า ครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ยังจะสามารถใช้ลีลา “พลิ้ว” ไปก่อนได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาจำเป็นจริงๆ

                สำหรับช่วงจำเป็นจริงๆ คือ เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา ซึ่งจะกำหนดว่าให้มีการเลือกตั้งเมื่อไร และให้รับสมัคร ส.ส. เมื่อไร

                ช่วงนั้นแหละที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจ หากไม่ต้องการเล่นการเมืองแบบ “อีแอบ” ก็ต้อง “แสดงตัว” ออกมา

                คาดว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือไม่ก็ต้นเดือนมกราคม ปีหน้า ทั้งนี้ ตามปฏิทินที่ กกต.เคยกางออกมา บอกว่าจะออกวันที่ 4 มกราคม 2562 และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

                ทั้งนี้ การออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะเป็นช่วงหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม คือ หลังครบ 90 วัน นับจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ...เปิด !! บันได 4 ขั้น สู่การเลือกตั้ง)

 

                การแสดงตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ การตัดสินใจว่าจะอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ หรือไม่

                พูดให้ชัดอีกก็คือ จะให้ “พรรคพลังประชารัฐ” เสนอชื่อไว้ในบัญชีนายกฯของพรรคหรือไม่

                อธิบายเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจตรงกัน “บัญชีนายกฯ” เป็นคนละบัญชีกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในส่วนของบัญชีนายกฯ นี้ เพิ่งมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญนี้ โดยกำหนดให้แต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ได้พรรคละไม่เกิน 3 คน คือ จะเสนอ หนึ่ง หรือสอง หรือสาม หรือจะไม่เสนอเลยก็ได้

                ทุกพรรคสามารถเสนอชื่อนายกฯ เพื่อเป็นจุดขายของพรรคได้ โดยต้องเปิดชื่อภายในช่วงที่เปิดรับสมัคร ส.ส. แต่หลังเลือกตั้งแล้ว พรรคที่จะสามารถเสนอชื่อนายกฯ ของพรรคตัวเองให้สมาชิกรัฐสภาเลือก จะต้องเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน (5 เปอร์เซ็นต์ของ ส.ส.ทั้งหมด) และต้องมีเสียง ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 50 คน (1 ใน 10 ของ ส.ส.ทั้งหมด)

                ดังนั้นพรรคที่หมายมั่นปั้นมือว่าต้องการจะเสนอชื่อคนของตัวเองเป็นนายกฯ จึงต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 50 คน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปยืมมือคนอื่น

                กลับมาดูการเมืองหลังเลือกตั้ง โฟกัสกรณีที่ “บิ๊กตู่” ลงมาอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคการเมืองซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด ณ เวลานี้ ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองต่างบอกว่าการเมืองหลังเลือกตั้งเป็นเรื่องของ “ตัวเลข” ล้วนๆ

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

 

                ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ครั้งแรก

                ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในการเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งครั้งแรกนี้มีการออกแบบพิเศษให้ ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ด้วย จากปกติเป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ คือ ส.ส. 500 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ย่อมมองทะลุไปที่เกมการเมืองด้วยกำหนดให้ ส.ว.ครั้งแรกมีจำนวน 250 คน ต่างจากในบททั่วไปที่กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน

                นั่นคือ ส.ว.ชุดแรกจะมีจำนวนเป็น “ครึ่งหนึ่งของ ส.ส.” ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ มีผลอย่างยิ่งต่อการโหวตเลือกนายกฯ ครั้งแรก

                อีกอย่างที่สำคัญคือ ส.ว.ชุดแรกจะมาจากการเลือกของ คสช. ถึงแม้จะกำหนดให้ในส่วนของ 50 คน มีต้นทางมาจากกระบวนการเลือกกันเองตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” กำหนดไว้ แต่ก็เป็นให้เลือกกันมา 200 คน และให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน ส่วนอีก 200 คน 6 คนมาจากผู้นำเหล่าทัพ และ 194 คน คสช.เลือกจากที่คณะกรรมการสรรหามาให้ 400 คน

                ฝั่ง คสช. มั่นใจว่า ในจำนวน ส.ว. 250 คนนี้ 200 คน จะหนุน “บิ๊กตู่” แน่นอน ส่วนอีก 50 คน ไม่มั่นใจ จึงมีความพยายามสร้างความมั่นใจด้วยการแก้ไขแก้กติกาในขั้นตอนเลือกกันเองของ ส.ว.ชุดแรกใหม่

                คิดตามตัวเลขจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 750 คน คนที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกิน 375 เสียงขึ้นไป

                หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงชิงนายกฯ ด้วยการมีชื่ออยู่ในบัญชีพรรคการเมือง คิดตัวเลขกลมๆ ก็จะมีเสียง ส.ว. ตุนไว้ในกระเป๋าแล้ว 250 เสียง (ถ้าขาดก็คงไม่กี่คน) ต้องการเสียง ส.ส. อีกเพียง 126 เสียง ก็เป็นนายกฯ ได้แล้ว

                แต่การเป็นรัฐบาลไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การได้เป็นนายกฯ เท่านั้น หากจะให้อยู่ได้ต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนเกินครึ่ง คือ 250 คนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโหวตคว่ำกลางสภา เสนอกฎหมายไม่ได้ หากโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีแต่ตายกับตาย

                ย้อนกลับไปนิด จริงๆ ฝ่ายหนุน คสช. มีความคิดอยากเขียนรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.ร่วมโหวตตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยซ้ำ แต่เกรงว่าจะ “เยอะเกิน” จึงยอมให้เหลือแค่ให้โหวตเลือกนายกฯ

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ...เปิดสูตรส.ว.สรรหาเลือกนายกฯ-อภิปรายไม่ไว้วางใจ)

 

                “250” เป้าของฝ่ายหนุนและฝ่ายต้าน “บิ๊กตู่”

                เมื่อตัวเลข ส.ส. เกิน 250 เสียง คือจำนวนที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ ดังนั้นเป้าหมายของผู้ที่ต้องการเป็นรัฐบาลจึงต้องมองที่ตัวเลขนี้

                ฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องการตัวเลขนี้ แน่นอนพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถเสกให้ได้ ส.ส. 250 คนแน่นอน แต่เป้าหมายคือ เมื่อรวมจำนวน ส.ส.ของพรรค “พันธมิตรบิ๊กตู่” ไว้ทั้งหมดแล้ว ต้องได้ ส.ส.เกิน 250

                พรรคพันธมิตร พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีเช่น พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มสามมิตรอาจจะแยกออกมาเป็นอีกพรรค พรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” พรรคพลังชลของตระกูลคุณปลื้ม และพรรคประชาชนปฏิรูปของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน”

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ... "สุเทพ" ตั้งพรรคหนุน "บิ๊กตู่")

 

                สำหรับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ก็น่าจะจัดรวมเข้าไปด้วยได้

                หากฝ่ายหนุนบิ๊กตู่ทำได้ ก็หมายความว่า “สกัด” ไม่ให้อีกฝ่ายได้ ส.ส. 250 คนเช่นกัน

                อีกฝ่ายคือใคร ?

                ถึงวันนี้ฝ่าย คสช. ไม่ได้มองเฉพาะพรรคเพื่อไทยและพันธมิตร คือ พรรคประชาชาติ ของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” พรรคอนาคตใหม่ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” พรรคเสรีรวมไทย ของ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน” ประกาศแล้วประกาศอีกว่าจะไม่ยกมือให้นายกฯ ที่มาจากพรรคอื่น

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ..."มาร์ค"ไล่ส่งใครหนุน"บิ๊กตู่"อย่าอยู่ปชป.)

 

                เพื่อความปลอดภัย เป้าหมายของฝ่ายหนุนบิ๊กตู่จึงแรงถึงขนาดว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมพรรคพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ ต้องได้ ส.ส.รวมกันไม่ถึง 250 คน

                ก็ต้องบอกว่า “ไม่ง่าย”

                แต่ด้วย “อำนาจ” ที่มีในมือ และ “กติกาใหม่” ที่ดีไซน์มาให้เกื้อหนุนฝ่าย คสช. ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้

                ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่มีครั้งแรกในเมืองไทย เป็นเครื่องมือที่จะตัดจำนวน ส.ส.ของพรรคใหญ่อย่างชัดเจน เพราะเมื่อคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารเป็นจำนวน ส.ส.ที่จะได้ เมื่อได้ ส.ส.เขตไปแล้ว ที่เหลือก็แค่เอามาเติมให้เต็ม นั่นหมายถึงหากได้ ส.ส.เขตมาเต็มจำนวนแล้ว ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย

                ยกตัวอย่างกรณีของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554 ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์จากทั่วประเทศ 15 ล้านคะแนน หากคิดตามที่มีการคาดกันว่า ครั้งนี้คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นคะแนน เท่ากับพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 214 คน หากได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 204 คนอย่างเมื่อปี 2554 ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมาอีกเพียง 10 คน ไม่ใช่ได้มาอีก 61 คนเหมือนกติกาเดิม (เลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.รวม 265 คน)

                ขณะที่ระบบเลือกตั้งที่ใช้ “บัตรใบเดียว” ก็ไม่ได้เอื้อกับพรรคเล็กที่มาแรงอย่างพรรคอนาคตใหม่นัก ครั้งนี้ประชาชนน่าจะตัดสินใจเลือกที่ “ตัวผู้สมัคร” มากกว่าเลือกพรรค หากไม่มีตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตที่โดดเด่น โอกาสที่จะแย่งคะแนนจากในพื้นที่ก็ยาก

                พรรคอนาคตใหม่อาจจะไม่มีสภาพเหมือนพรรครักประเทศไทยของ “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ที่ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้คนแบ่งคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาให้ เมื่อปี 2554 พรรคชูวิทย์ไม่ได้ ส.ส.เขตสักคน แต่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มาเกือบล้านคะแนน มากกว่าพรรคชาติไทยและพรรคชาติพัฒนาด้วยซ้ำ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มา 4 คน

                อีกเกมที่ฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ “ตัดคะแนน” เพื่อไทย คือ “ยุทธศาสตร์สามมิตร” คือการไป “ดูด” ส.ส.แถวสองแถวสามมาลงสมัคร เพื่อเก็บคะแนนรวมทั้งประเทศ ไม่ชนะ ส.ส.เขตไม่เป็นไร แค่ได้คะแนนเฉลี่ยเขตละสัก 5,000 คะแนน 350 เขตก็ได้ 1.75 ล้านคะแนน ได้ ส.ส. 25 คนแล้ว 

                ถ้าทุ่มหนักๆ ให้ได้เขตละหมื่นคะแนน ก็ได้ ส.ส.เพิ่มเป็น 50 คน ซึ่งปกติ ผู้สมัคร ส.ส.ต่างจังหวัดที่ได้อันดับ 2-3 ได้คะแนนเป็นหมื่นอยู่แล้ว

                แน่นอน พรรคเพื่อไทยหวังจะมีสถานการณ์ที่ทำให้ได้คะแนนถล่มทลายอย่างที่ “ทักษิณ” พยายามปลุกปลอบลูกพรรค แต่ถึงวันนี้ ด้วยกติกาที่ไม่เอื้อ การถูกเตะตัดขาด้วยเกมดูด ถ้าไม่มีสถานการณ์ใหม่ หากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ถึง 200 เสียงก็ถือว่าเก่งแล้ว

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ...'ทักษิณ' ฉลองวันเกิด คึก!! อัด คสช. ไม่ใช่สุภาพบุรุษ มั่นใจเพื่อไทยชนะยิ่งกว่าแลนด์สไลด์)

 

                “100” เป้าพรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์

                สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีแรงกดดันมากนัก คนในพรรคเชื่อว่าหลังเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน เมื่อปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขต 115 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 44 คน ครั้งนี้หากได้ถึง 100 เสียงก็ไม่ขี้เหร่นัก

                ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเป้าที่ต้องการดันให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ จึงไม่ควรได้ ส.ส.น้อยเกินไป อย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นพรรคอันดับ 3 โดยหวังไว้ที่ประมาณ 100 คน

                แต่ถึงที่สุดพรรคพลังประชารัฐจะได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่ “บิ๊กตู่” เป็นสำคัญ ว่าเมื่อ “บิ๊กตู่” ประกาศชัดๆ กระโดดลงมาเต็มตัว จะเป็น “แม่เหล็ก” ดูดคะแนนได้มากน้อยเพียงใด

 

                ต้องใช้ 500 เสียง หาก “บิ๊กตู่” เลือกก๊อกสอง

                แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่ลงมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง แล้วเลือกยื้อเวลารอเล่นเกม “ก๊อกสอง” คือ เป็นนายกฯ นอกบัญชี หรือ “นายกฯ คนนอก” จะต้องใช้เสียงมากถึง 500 เสียง คือ สองในสามของสมาชิกรัฐสภา เพื่อขอยกเว้นข้อบังคับให้เลือกนายกฯ นอกบัญชีได้

                นอกจากจะต้องใช้เสียงจำนวนมาก ลำบากขึ้นแล้ว จะมีคำถามถึงความสง่างามแน่นอน 

                แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับ “บิ๊กตู่” ผู้ที่ชอบจะเล่น “เกมชัวร์” มากกว่า “เกมเสี่ยง”

                การเมืองหลังเลือกตั้งก็จะอยู่กับตัวเลขเหล่านี้ ยกเว้น “ถูกล้มกระดาน” !!

 

=================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

คณิตศาสตร์การเมือง... "ตัวเลข" ในเกมหนุน "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ...เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ