ข่าว

เปิดสูตรส.ว.สรรหาเลือกนายกฯ-อภิปรายไม่ไว้วางใจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดข้อเสนอบทเฉพาะกาล ส.ว.สรรหา เลือกนายกฯ และอภิปรายไม่ไว้วางใจ แหล่งข่าวชี้ สูตรนี้ต้องหมายถึง “ประยุทธ์” รับเป็นนายกฯหลังเลือกตั้งเท่านั้น

           ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอข้อเสนอเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 16 ข้อ และข้อที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ ข้อเสนอข้อที่ 16 ซึ่งใจความสำคัญคือเสนอให้มีการกำหนดบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลที่ต่างไปจากบทถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายทั้งในช่วงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หลังเลือกตั้ง และหลังมีรัฐบาลใหม่ ล่าสุดมีความชัดเจนแล้วว่าข้อกำหนดส่วนหนึ่งที่มีการเสนอให้บัญญัติในบทเฉพาะกาลคือเรื่องที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนในเรื่องที่มา ส.ว. ว่า ต้องการให้มาจากการสรรหาทั้งหมด
 
           แหล่งข่าวจากฝ่าย คสช.เปิดเผยว่า สำหรับสูตรที่มีการเสนอเกี่ยวกับที่มาและอำนาจของ ส.ว.ในตอนนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ ส.ว.เป็นกลไกเข้ามาคานอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือรัฐบาลชุดต่อไป
 
           “ตอนนี้ชัดเจนว่า คสช.ไม่ต้องการให้มีองค์กรเหมือน คปป.(คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ) ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกต่อต้าน จึงต้องมีการออกแบบกลไกทางการเมืองส่วนต่างๆเพื่อให้มั่นใจว่า แม้ไม่มี คปป. แต่ยังสามารถควบคุมตรวจสอบ หรือ คานอำนาจฝ่ายรัฐบาลได้ ซึ่งในเบื้องต้นก็เห็นตรงกันแล้วว่าน่าจะเป็น ส.ว.”
 
           แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ตอนนี้มี 3 ประเด็นเกี่ยวกับ ส.ว.ที่ต้องรอข้อสรุปจากทาง คสช. คือ 1.ส.ว.จะมาจากการสรรหาทั้งหมด 200 คนหรือไม่ หรือจะให้มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งเช่น 77 คนจาก 77 จังหวัด 2.อำนาจของ ส.ว.จะมีแค่ไหน ข้อเสนอตอนนี้คือ ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯด้วย ซึ่งเมื่อให้เลือกนายกฯ ก็ต้องมีอำนาจอีกอย่าง คือ ร่วมอภิปรายและลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ 3.วาระในการดำรงตำแหน่ง ตอนนี้มียังมีหลายสูตร ทั้ง 5 ปีตามวาระปกติที่กำหนดไว้ในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญ หรือน้อยกว่านั้น ซึ่งหากให้มีวาระ 5 ปีและให้มีอำนาจเลือกนายกฯได้ ก็จะเท่ากับให้ ส.ว.เลือกนายกฯได้ถึง 2 รอบ เพราะ ส.ส.มีวาระ 4 ปี ซึ่งก็จะถูกคัดค้านมากขึ้น
 
           ทั้งนี้ตามร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้ คสช.ยังอยู่และมีอำนาจเหมือนเดิมทุกประการจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าทำหน้าที่ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้จนถึงมีรัฐบาลใหม่เท่านั้น จึงจำเป็นต้องวางกลไกในส่วนของ ส.ว.เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อควบคุมดูแลหลังจากมีรัฐบาลใหม่
 
           อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่งมีการมองว่า สูตรที่มาและอำนาจ ส.ว.ตามที่เสนอกันอยู่นี้จะเป็นช่องทางในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่ทาง คสช.จะต้องมีความชัดเจนด้วยเช่นกันคือ หากคิดสูตรนี้ก็ต้องหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องรับเป็นนายกฯอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายทหารที่ประชาชนจำนวนมากให้การสนับสนุนเพื่อสานต่อ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับตำแหน่งต่อแล้วให้นายทหารคนอื่นที่ไม่มีฐานประชาชนสนับสนุน ก็เสี่ยงที่เกิดวิกฤตอีกครั้ง อาจจะเหมือนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร
 
           “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่เอา ก็ไม่ควรมีสูตรนี้ขึ้นมาเพราะถ้าเป็นคนอื่นเกิดวิกฤติแน่” แหล่งข่าวกล่าว
 
           อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยยืนยันว่าจะไม่เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง โดยจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เมื่อถูกถามว่าหลังเลือกตั้งรัฐบาลนี้จะยังอยู่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ผมจะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่รู้ เป็นเรื่องที่ต้องไปพิจารณามา...ไม่ใช่ว่าผมจะต้องอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งสนใจกับผมมากนัก ผมมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ท่านก็คิดกันต่อสิว่าจะเอาอย่างไร และท่านอย่ามาโทษผมว่าทำไม่เรียบร้อยไม่สำเร็จ อย่ามาโทษผมแบบนั้น ท่านอยากได้อย่างไร อยู่ที่ท่านกำหนดของท่านเองทั้งนั้น”
 
           ทั้งนี้ช่วงนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. และมีการนัดหารือนอกสถานที่รอบสุดท้ายในวันที่ 23-26 มีนาคม นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องที่มาและอำนาจ ส.ว. เรื่องที่มานายกฯ ทั้งในส่วนของบทเฉพาะกาลและบทถาวร ก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม.ในวันที่ 29 มีนาคม เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำไปทำประชามติ ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ในวันที่ 31 กรกฎาคม นี้
 
  
 
 
 
 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ