คอลัมนิสต์

เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากเกมปกติ สูตรเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลจะมี 3 สูตร ยกเว้นมีปัจจัยพิเศษ อาจจะเกิดเป็น สูตรที่ 4 คือ "รัฐบาลแห่งชาติ" เหมาทั้งกระดาน !!

 

                แม้ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง แต่ปี่กลองการเมืองเริ่มคึกคัก หลัง คสช.ส่งสัญญาณจะ "ไม่เบี้ยว” เลือกตั้งอีก

                ตอนนี้พรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ เปิดหน้าออกมาเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ การส่องเข้าไปสำรวจกระดานการเมืองและอ่านไปถึงเกมการเลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงน่าสนใจยิ่ง

                ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่วางกลไกพิเศษผ่าน “บทเฉพาะกาล” ให้ ส.ว.เข้ามาร่วมเลือกนายกฯ ด้วยใน 5 ปีแรก และกำหนดให้ ส.ว.มีที่มาต่างจากในบททั่วไปที่ให้เลือกกันเอง เป็น คสช.เลือก จึงทำให้เกมการเลือกนายกฯ และตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความ “พิสดาร” กว่าที่เคยเป็น

                จากที่ควรจะเป็นเรื่องของ 500 ส.ส.ในสภา ต้องรวม 250 ส.ว.เข้ามาด้วย สมาชิกร่วมเกมทั้งกระดานจึงเพิ่มไปเป็น “750”

                กลุ่มการเมืองหลักๆ ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่า สูตรนายกฯ และรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน มีทั้งหมด 4 กลุ่ม (ดูกราฟฟิกประกอบ)

 

เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?

                กลุ่มแรก ส.ว. 250 คน ซึ่งจะผนึกไปกับพรรคพลังประชารัฐของ คสช.

                ใน ส.ว. 250 คนนี้ มีที่มา 2 ส่วนคือ คสช.เลือก 200 คน และเลือกกันเองอีก 50 คน ตามกลไกที่ทางฝั่ง คสช.คิดว่าจะทำให้ “คุม” ส.ว.ส่วนนี้ได้มากที่สุด

                สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ตั้งเป้า ส.ส.ไว้อย่างต่ำคือ 50 คน เพราะเป็นจำนวนที่ปลอดภัยที่พรรคจะสามารถเสนอชื่อนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาได้โดยไม่ต้องอาศัยมือ ส.ส.พรรคอื่น

                แต่ถ้า คสช.ส่ง “พลังดูด” ออกมาเต็มแรง ก็เป็นไปได้ที่พรรคนี้จะได้ ส.ส.เพิ่มไปเป็นหลักร้อย

                ณ สถานการณ์ล่าสุด หลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐ

                เพราะถ้าไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้หวนคืนตึกไทยคู่ฟ้า ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไว้ใจนักการเมืองไม่ได้” ตราบใดที่ไม่สามารถล็อกมาอยู่ในพรรคเดียวกันได้ พรรคที่ก่อนเลือกตั้งดีลให้เป็นพันธมิตรกัน หลังเลือกตั้งอาจจะเป็นอีกเรื่อง

                จุดที่น่าจับตาคือ ชื่อคนที่จะเป็นนายกฯ ของพรรคนี้ จะมีเฉพาะ “บิ๊กตู่” คนเดียว หรือจะพ่วงชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ไปด้วย ถ้ามีชื่อ “สมคิด” ด้วย ก็จะทำให้เกมการเมือง “สนุก” ขึ้นไปอีก

                ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเขียนให้แต่ละพรรคสามารถส่งรายชื่อบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 3 ชื่อ แต่จะเสนอหรือไม่ก็ได้ และจะเสนอไม่ถึง 3 คนก็ได้

                กลุ่มที่ 2 พรรคเพื่อไทย 

               เบื้องต้นพรรคนี้ตั้งความหวังให้ได้ ส.ส.เกินครึ่ง คือ 250 จาก 500 คน เพื่อเรียกความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ถึงแม้ว่าในการเลือกนายกฯ จะมี ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตด้วย ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เสียงเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 375 เสียง แต่ถ้าได้เกิน 250 ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาให้ได้ถึง 375 เพราะถึงนาทีนั้น บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ก็คงวิ่งเข้าหา

                เป้าที่พรรควางไว้คือจะต้องให้ได้คะแนนรวมทั้งประเทศเกินครึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นพรรคเพื่อไทยก็ได้ ส.ส.เกินครึ่งแน่นอน

                แต่การจะได้คะแนนเกินครึ่งก็คงไม่ง่าย จากข้อมูลการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ตอนนั้นถือว่าพรรคเพื่อไทยมาแรงจากกระแส “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยยังได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงครึ่งของผู้มาลงคะแนน คือได้มา 15.7 ล้าน คิดเป็น 48.4 เปอร์เซ็นต์

                นอกจากนี้ กติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนเหลือ “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” น่าจะยิ่งเป็นผลเสียต่อพรรคเพื่อไทย

                จับสัญญาณถึงล่าสุด ชื่อที่จะถูกเสนอให้เป็นนายกฯ ของพรรคนี้เบอร์ 1 น่าจะเป็น “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” แน่นอนแล้ว แต่จะมีเบอร์สอง เบอร์สาม ด้วยหรือไม่ ยังต้องรอดู

 

เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?

(อ่านต่อ..."เจ๊หน่อย" มาแน่ ถือธงนำ "เพื่อไทย")

 

                กลุ่มที่สาม พรรคประชาธิปัตย์

                ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้า ส.ส.ไว้ที่ 150 คน แต่ถ้าดูจากสภาพที่เป็นอยู่ ไม่ได้มีแรงดึงดูดใหม่ๆ นอกจากการพยายามรักษาฐานเสียงเดิม รวมไปถึงการที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ประกาศตั้งพรรคมวลชน กปปส. ในชื่อ “พรรครวมพลังประชาชาติไทย” ยิ่งจะทำให้โอกาสที่ตัวเลขพรรคนี้ปีนไปถึง 150 แทบไม่มี

                สำหรับบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะให้เป็นนายกฯ นั้น เบอร์หนึ่ง ไม่มีปัญหา ต้องเป็น “อภิสิทธิ์” แน่ๆ แต่ปัญหาคือ จะมีเบอร์สอง สาม หรือไม่ จากก่อนหน้านี้ที่มีกระแสว่า อาจจะมีการเข็น “ชวน หลีกภัย” ออกมาขายอีกรอบ ดูท่าที “ลุงชวน” รวมไปถึงข้อมูลล่าสุดจากในพรรคมีข่าวว่าทางพรรคอาจจะส่งชื่อ “อภิสิทธิ์” เพียงชื่อเดียว

 

เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?

(อ่านต่อ..."ชวน หลีกภัย" รีเทิร์น ??)

 

                กลุ่มที่ 4 กลุ่มพรรคเล็ก 

               กลุ่มนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ตอนนี้หลายพรรคตั้งเป้าตัวเลขไว้ที่ 50 เสียง ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกันคือ เพื่อให้เสนอชื่อนายกฯ ของพรรคตัวเองได้ แต่เอาเข้าจริง ความเป็นไปได้น่าจะน้อย มากสุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30 เสียง ได้แก่พรรคภูมิใจไทย ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่มี “เนวิน ชิดชอบ” ช่วยอยู่ข้างหลัง พรรคอนาคตใหม่ ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ของ “ลุงกำนัน”

                สำหรับพรรคภูมิใจไทย ส.ส.ที่ได้จะมาทั้ง ส.ส.เขต ที่เป็นอดีต ส.ส.เก่า และคะแนนของ ส.ส.สอบตกที่จะแปลงไปเป็นคะแนนสำหรับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนพรรคธนาธรกับพรรคสุเทพนั้น น่าจะหวังที่การสะสมคะแนนจากทุกเขตไปเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่า

                ถ้าถามว่ามีพรรคไหนที่จะมีโอกาสเกิดแรงเหวี่ยงขึ้นไปได้ถึง 50 เสียงหรือไม่ ก็คงจะมีเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต้องรอดูกระแสในช่วงเลือกตั้งอีกที

                คิดความเป็นไปได้จากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ ตอนนี้มีการประเมินกันว่า คะแนนที่จะทำให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน คือประมาณ 70,000 คะแนน ฉะนั้นถ้าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 30 คน ก็ต้องได้คะแนนรวมทั้งประเทศ 2.1 ล้านเสียง เฉลี่ยแล้วต้องได้เขตละประมาณ 6,000 คะแนน ถ้าจะได้ ส.ส. 50 คน ก็ต้องได้ 3.5 ล้านคะแนน เฉลี่ยเขตละ 1 หมื่นคะแนน

                ตอนนี้ทางพรรคอนาคตใหม่กำลังเร่งลงพื้นที่พบปะนักการเมืองและนักธุรกิจรุ่นใหม่ในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อสะสมฐานคะแนน ขณะที่พรรคสุเทพ มีแผนจะเดินทางไกลทั่วประเทศ

                ในกลุ่มพรรคเล็กนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือพรรคที่สามารถสวิงเข้าไปทั้ง 2 ขั้วการเมือง คือ ฝั่ง คสช. และฝั่งเพื่อไทย ก็จะเป็นทุกพรรค ยกเว้น พรรคอนาคตใหม่และพรรครวมพลังประชาชาติไทย

                พรรคอนาคตใหม่ ไม่มีทางจะร่วมกับฝั่ง คสช.ได้ ขณะที่พรรคสุเทพ ก็ไม่มีทางจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้

                ดูจากกลุ่มต่างๆ ข้างต้น ถ้าจะมองไปถึงการจับมือเพื่อเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะได้ออกมา 4 สูตร คือ

                สูตร 1 พรรคพลังประชารัฐ รวมกับพรรค ส.ว. พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กทุกพรรค ยกเว้นพรรคอนาคตใหม่ มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

                เอาจริงลำพังพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ พรรคสุเทพ และ พรรค ส.ว. ก็อาจจะได้เกิน 375 เสียง พอที่จะเลือกนายกฯ ได้ แต่ยังจำเป็นต้องดึงพรรคเล็กพรรคอื่นมาร่วมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำงานในสภาไม่ได้

                สูตร 2 เพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันตั้งรัฐบาล และดึงทุกพรรคยกเว้นพรรคสุเทพเข้าร่วม สูตรนี้พรรคเพื่อไทยคงต้องยอมให้คนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ นายกฯ ก็อาจจะเป็น “อภิสิทธิ์” หรือ “ชวน” สูตรนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น ถ้าประชาธิปัตย์เสนอชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ เพียงคนเดียว

                สูตร 3 พรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย รวมกับพรรคเล็กทุกพรรคยกเว้นพรรคสุเทพ ได้เสียงเกิน 375 สูตรนี้ “สุดารัตน์” เป็นนายกฯ

                ดูจากเกมปกติ น่าจะอยู่ที่ 3 สูตรนี้ ยกเว้นมีปัจจัยพิเศษ อาจจะเกิดเป็น สูตรที่ 4 คือ “รัฐบาลแห่งชาติ” เหมาทั้งกระดาน !!

                นี่เป็นการมองข้ามช็อต จะไปถึงช็อตนี้ได้ ถ้า “บิ๊กตู่” รักษาคำพูด ให้มีเลือกตั้งอย่างช้า กุมภาพันธ์ 2562

 

==================

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

***เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เช็คลิสต์ "นายกฯ" หลังเลือกตั้ง !! ใคร (ไม่) มีโอกาส ??

เอกซเรย์กระดานการเมือง สูตรไหน "ใคร" นายกฯ ?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ