คอลัมนิสต์

ต้องทำความรู้จักไว้ !! คำสั่ง ม.44 “ข้อ 8” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำสั่ง "ข้อ 8" น่าจะวางไว้เพื่อเป็นช่องหายใจ เปิดทางให้ คสช.ใช้อำนาจตัดสินใจได้อีกครั้งว่า ถึงตอนนั้นจะเลือกเดินไปทางไหน

 

            ถึงวันนี้มีการพูดถึง “ข้อ 8” ในคำสั่งแก้กฎหมายพรรคการเมืองตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. มากขึ้น และคงจะพูดไปถึงอย่างน้อยเดือนมิถุนายน แต่เชื่อว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่ทราบว่าคำสั่งข้อ 8 คืออะไร

            ในเวทีแถลงข่าวของรัฐบาล ที่จัดขึ้นพิเศษในชื่อ “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (25 ม.ค.) ที่มีมือกฎหมายของรัฐบาล คือ “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เป็นคนมา “เล่า” เรื่องที่อยากบอก เขาก็ได้กล่าวย้ำถึงคำสั่งข้อนี้ด้วย

            เนื้อหาในข้อ 8 คือ “เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นอุปสรรคต่อการดําเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมือง เพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเชิญผู้แทนพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าหารือด้วยก็ได้”

            ถอดความออกมา จะมีใจความสำคัญ 2 เรื่อง ซึ่งปักหมุดอยู่ ณ “เมื่อมีการประกาศกฎหมายเลือกตั้งลงราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิถุนายน คือ 1.ครม.เสนอ คสช. ยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง 2.ให้เชิญ กกต. กรธ. ประธานสนช. พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง มาหารือ “เพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนดำเนินการทางการเมืองไปสู่การเลือกตั้ง”

            ย้อนกลับไปตั้งแต่มีประกาศหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ ออกมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 มีการตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามถึงคำสั่งข้อนี้ ไว้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า ทำไมต้องต้องเขียนไวั เขียนไว้เพื่อเปิดช่องให้มีการ “รีเซตโรดแม็พเลือกตั้ง” อีกครั้งหรือไม่

            และเรื่องก็มาชัดเจนเมื่อจู่ๆ สนช.ก็แก้ไขร่างกฎหมายเลือกตั้งโดยขยายวันบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จากเดิมให้มีผลถัดจากวันประกาศ ทำให้เกิดช่วงเวลาหลังกฎหมายประกาศลงราชกิจจานุเบกษากับวันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ คือ แทนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน ก็ต้องเว้นว่างเอาไว้อีก 3 เดือน

            ถามว่าเว้นไว้ทำไม ? นอกจากทำให้การเริ่มต้นนับ 150 วันไปสู่วันเลือกตั้งขยับไปอีก 90 วัน เพื่อให้พรรคการเมือง ซึ่งมีการมองว่าเพื่อให้พรรคตั้งใหม่ที่จะมาสนับสนุน “บิ๊กตู่” มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งการขยายเวลานี้ ก็ไปเข้าล็อกพอดีกับคำสั่งข้อ 8 ประหนึ่งวางแผนไว้ตั้งแต่ต้น

            แม้ “วิษณุ” และรวมถึง “หัวหน้า คสช.” พยายามออกมาบอกว่า ไม่รู้เรื่องการแก้ไขของ สนช. เป็นเรื่องของ สนช.เอง แต่ก็คงยากจะเชื่อ เพราะคงไม่มีใครลืมว่า สนช.มีต้นกำเนิดมาจาก คสช.

            ถาม “วิษณุ” ว่า ตอนที่ คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อช่วงปลายปีซึ่ง “วิษณุ” รู้เห็นรายละเอียดนั้น ตอนนั้นทราบหรือไม่ว่า จะส่งผลให้โรดแม็พการเลือกตั้งต้องขยายออกไป “มือกฎหมายของรัฐบาล” ยืนยัน ไม่ทราบ

            แต่ถ้าถามว่า เชื่อได้แค่ไหนว่าไม่ทราบจริงๆ ก็คงจะมีคนบอกว่า “ไม่น่าเชื่อ” เพราะไม่เช่นนั้นจะกำหนดข้อ 8 ไว้ทำไม ซึ่งถ้อยคำในข้อ 8 ก็เลือกใช้คำว่า กฎหมายเลือกตั้ง “ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา” ไม่ใช่คำว่า “มีผลบังคับใช้” ด้วย

            ย้อนกลับไปดูที่เนื้อหาคำสั่งข้อ 8 อีกครั้ง ซึ่งหัวใจอยู่ที่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คสช.ต้องยกเลิกคำสั่งและประกาศที่ “ล็อกพรรคการเมือง” ซึ่งตามประกาศจะมี 2 คำสั่ง คือ ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุม และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

            ถามว่า ถึงวันนั้น คสช.จะยกเลิกคำสั่งนั้นจริงหรือไม่ จะยกเลิกเมื่อไหร่ ? ในคำสั่งเมื่อ 22 ธันวาคม ที่ออกมาเพื่อแก้กฎหมายพรรคเมือง จากเหตุผลที่พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามที่พรรคการเมืองกำหนดได้ เพราะ คสช.ไม่ปลดล็อก จึงมีการเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อก

            แทนที่ คสช.จะปลดล็อกด้วยการเลิกคำสั่ง แต่ คสช.กลับใช้วิธีขยายเวลาในการดำเนินการของพรรคการเมืองตามที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ออกไป

            เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ยังล็อกพรรคการเมืองต่อไป โดยอ้างเหตุผลว่า จำเป็นต้องคงทั้ง 2 คำสั่ง คสช.ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสไปกระทำกิจกรรมที่กระทบบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ ซึ่งว่าไปแล้วก็คือเหตุผลเดิมที่ คสช.เอ่ยอ้างมาตั้งแต่ต้น

            ฉะนั้นถามว่า เมื่อถึงเดือนมิถุนายน การันตีได้หรือไม่ว่า คสช.จะยกเลิกทั้ง 2 คำสั่งนี้ ในเมื่อ คสช. รวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ยังออกมาพูดให้เข้าใจอยู่เรื่อยๆ ว่า ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่สงบ

            นอกจากปมการปลดล็อกพรรคการเมือง หัวใจอีกเรื่องคือ เวทีพูดคุยของฝ่ายต่างๆตามข้อ 8 ต้องหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ว่าจะวางไทม์ไลน์ไปสู่การเลือกตั้งอย่างไร พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง จะเริ่มหาเสียงเมื่อไร จะเลือกตั้งวันไหน จะสามารถทำได้ภายในล็อก 150 วัน ที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้หรือไม่

            นี่คือ "ข้อ 8" ที่น่าจะวางไว้เพื่อเป็นช่องหายใจ เปิดให้ คสช.ใช้อำนาจตัดสินใจได้อีกครั้งว่า ถึงตอนนั้นจะเลือกเดินไปทางไหน

            เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ หรือจะแวะเข้าซอย...ยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก !!

 

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์

 

 

**เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัส !! ม.44 ซ่อนเงื่อน "รีเซตสมาชิกพรรค-โรดแม็พ" ??

เลื่อนเลือกตั้ง (อีกครั้ง) !! ด้วย "อภินิหารกฎหมาย" 

ไม่ใช่ครั้งแรก !! "เทคนิคกฎหมาย" เลื่อนเลือกตั้ง

เปิดอีก 2 ช่อง !! “อภินิหารกฎหมาย” เลื่อนเลือกตั้ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ