Lifestyle

"สุภัทร"ยืดอกแมนๆ ฟ้องผมอย่าฟ้องลูกน้อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาธิการกกอ.ยันทำตามมติกกอ.ชี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติงาน รักษาผลประโยชน์ของสาธารณะแล้วผิดวินัยราชการก็ให้ออกไปได้ เล็งเชิญ40สถาบันหารือปรับหลักสูตรต้นก.พ.นี้

          จากกรณีการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานหลักสูตรจากผลการประเมินการประกันคุณภาพภายใน (IQA) เฉพาะในองค์ประกอบที่1 เรื่องจำนวนและคุณสมบัติอาจารย์ การบริหารจัดการหลักสูตร ตามเกณฑ์มาตรฐาน เป็นเวลา 2ปี ติดต่อกัน คือ ปีการศึกษา 2558 และ 2559  พบว่า ใน 40 สถาบันอุดมศึกษามีหลักสูตรจำนวน 182 หลักสูตรที่มีปัญหาไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามการกำกับมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 2 ของหลักสูตรทั้งหมด ประกอบด้วย หลักสูตรระดับปริญญาตรี 68 หลักสูตร ปริญญาโท 89 หลักสูตร ปริญญาเอก 24 หลักสูตร และประกาศนียบัตรบัณฑิต 1หลักสูตร จนทำให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) มีมติเห็นชอบให้เผยแพร่รายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษาดังกล่าว และเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นงดรับนักศึกษา พร้อมปรับปรุงให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอย่างเร่งด่วนภายใน 90 วัน และล่าสุด มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) มหาวิทยาลัยที่มีการประกาศรายชื่อหลักสูตรไม่ได้ผ่านการรับรองมากสุดได้ออกมาแถลงถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ 

          เมื่อเวลา 12.10 น. วันนี้ (18 ม.ค.2561 ) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นไปตามมติกกอ. เพราะต้องการให้มหาวิทยาลัยเร่งปรับปรุงคุณภาพ และต้องการให้นักศึกษาได้ติดตามว่าหลักสูตรที่เรียนมีการปรับปรุงหรือไม่ อีกทั้ง ยังเป็นไปตามนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)ที่ต้องการให้สกอ.เปิดเผยข้อมูล หลักสูตรต่อสาธารณะ และอยากให้มีการเผยแพร่เป็นระยะที่สั้นขึ้น เพื่อให้เป็นข้อมูลล่าสุดสามารถตรวจสอบได้ แต่การดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะต้องเป็นไปตามมติกกอ.   ซึ่งการเปิดเผยหลักสูตรครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ และสิทธิ์ในปริญญาของผู้เรียน 

           ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง (ม.ร.) จะเอาผิดทางกฎหมายกับสกอ.และขณะนี้ทราบว่ามีอีกหลายแห่งไม่พอใจนั้น  ไม่ขอตอบในประเด็นดังกล่าว แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องตัวเอง โดยส่วนตัวในฐานะข้าราชการและเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การกำกับของกกอ. ซึ่งมติ กกอ.คือการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ ก็ต้องดำเนินการตามนั้น  ทั้งนี้  ที่ผ่านมาเคยเห็นผลของการปกปิดข้อมูลแล้วว่า เป็นอย่างไรการไม่เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้เรียนได้รู้แล้วเป็นอย่างไร ครั้งนี้กกอ. จึงตัดสินใจให้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ และขอย้ำว่าเป็นข้อมูลในปีการศึกษา 2558 -2559  ส่วนข้อมูลปีการศึกษา 2560 ยังไม่แล้วเสร็จ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561

           “ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมจะเชิญมหาวิทยาลัยทั้ง 40 แห่งมาหารือร่วมกัน เพื่อหาทางช่วยเหลือปรับปรุงหลักสูตร  ในกรณีที่มีปัญหาเพื่อช่วยแก้ไข สำหรับผมการเชิญประชุมไม่ได้การมีตำหนิอะไร แต่หลายคนคงตำหนิผม ผมรู้ดีว่าหลายคนคงไม่คิดว่า ผมเป็นเพื่อนอีกแล้ว แต่ผมเป็นข้าราชการ  ผมมีหน้าที่ทำตรงไปตรงมา ถ้าท่านเห็นว่า การเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะตามมติกกอ. เป็นความผิด ผมก็ไม่คิดมากอะไร สามารถเอาผิดกับผมได้ อย่าเอาผิดกับลูกน้องผม” ดร.สุภัทร กล่าว

           เลขาธิการกกอ. กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มีการพูดคุยกับผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีม.ร. การที่ม.ร. บอกว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับสกอ. ไม่โกรธและยืนยันว่า ดำเนินการตามมติกกอ.และจะเป็นบรรทัดฐานของการปฏิบัติราชการ ถ้าคิดว่าการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ การที่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณะแล้วผิดวินัยราชการก็ให้ออกไปได้ ส่วนกระบวนการประเมินการประกันคุณภาพภายในของสกอ.นั้น มหาวิทยาลัยจะส่งข้อมูลใส่ในระบบของสกอ. หลังสิ้นสุดปีการศึกษาภายใน 120 วัน กระบวนการกรอกข้อมูลทั้งหมดมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะดำเนินการด้วยตนเอง และหากมีความเปลี่ยนแปลงก็สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อย และกดเสร็จสิ้นกระบวนระบบจะล็อค ไม่สามารถเข้าไปแก้ข้อมูลได้  สกอ.ก็จะยึดตามข้อมูลล่าสุด

           ทั้งนี้ สาเหตุที่หลักสูตรส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมินการประกันคุณภาพภายในนั้น เพราะส่วนใหญ่จำนวนอาจารย์ผู้สอนต่อนักศึกษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สกอ.กำหนด และมีความเป็นไปได้ว่าระหว่างการประเมิน มีอาจารย์ลาออกหรือเกษียณอายุราชการ เข้าใจว่ามหาวิทยาลียหลายแห่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข  ส่วนกรณีที่จะสามารถโยกใช้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ มาสอนในวิชาที่ขาดได้หรือไม่นั้น  ส่วนตัวมองว่าทำได้ เพราะผู้เรียนเป็นเด็กไทยเหมือนกัน แต่จะติดเรื่องกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งหรือไม่นั้น  เช่น การนำอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเอกชน มาสอนมหาวิทยาลัยรัฐ เพื่อแก้ปัญหาอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบ ก็ต้องไปดูรายละเอียดต่อไป เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดชื่อแล้ว!!10 ม.เอกชนไร้คุณภาพ 

สั่งปิด56หลักสูตร10ม.เอกชน 

สกอ.ขึ้นเวบ182หลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐานแจ้งยุติรับนศ. 

182หลักสูตรปิด20งดรับนศ.48สรุปขึ้นเวบในสัปดาห์นี้

ประกาศแล้ว !! 182 หลักสูตรไม่ผ่านมาตรฐาน 

ม.รามอันดับ1หลักสูตรไม่มาตรฐานแจงบ่าย2วันนี้ 

ลั่น!!เด็กต้องได้รู้หลักสูตรที่เรียนผ่านมาตรฐาน(มีคลิป) 

(คลิป)จ่อฟ้องสกอ.ม.รามยันหลักสูตรมีมาตรฐานและคุณภาพ 

สกอ.ตั้งโต๊ะแจงหลักสูตรที่เปิดเผย 18 ม.ค.นี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ