คอลัมนิสต์

ใจร้อนเป็นเหตุ ‘เศรษฐา’ คิดไวกลางไฟ ‘สงคราม’ บทเรียนผู้นำยามวิกฤต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สงครามที่กาซา เศรษฐา แอ๊กชั่นเร็วประณามคนโจมตียิว มีเสียงทักท้วงลั่นโซเชียล ก่อนกลับลำไม่เลือกข้าง ห่วงคนไทยในมือฮามาส

คิดไวทำไว เศรษฐา ใจร้อนเลือกข้าง กลางไฟสงคราม อิสราเอล-ฮามาส ปานปรีย์ชิงแก้ข่าวไทยเป็นกลาง ห่วงคนงานไทยในกาซา


ศึกแค้นอิสราเอล-ฮามาส ส่อยืดเยื้อ ท้าทายภาวะผู้นำ เศรษฐา กับวิกฤตช่วยชีวิตคนงานไทย ใต้เงาสงคราม


ปฏิบัติการพายุอัลอักซอ ของกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ โจมตีอิสราเอล และแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2556 มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงแรงงานไทยในฟาร์มเกษตร มีทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บและถูกจับไปเป็นตัวประกัน

พลันที่ทราบเหตุปะทะกันที่ฉนวนกาซา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กประณามการโจมตีอิสราเอล โดยระบุว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ


อย่างไรก็ตาม การแสดงท่าทีประณามการโจมตีอิสราเอลของนายกฯเศรษฐา ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลว่า ผู้นำไทยใจร้อน ไม่ควรแสดงจุดยืนเลือกข้าง ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส 


เนื่องจากมีคนงานไทยถูกจับไปเป็นตัวประกัน ระหว่างรอการเข้าไปช่วยเหลือคนไทย รัฐบาลไทยควรเร่งเจรจากับทั้งสองฝ่าย ให้มีการรับรองความปลอดภัยของคนไทย 


วันที่ 8 ต.ค. 2566 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ จึงปรับท่าทีใหม่ โดยระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีการประณามฝ่ายใด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ประณามเรื่องการใช้ความรุนแรงเท่านั้น 


ตามมาด้วย จักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ ได้สรุปว่า ไทยเราวางตัวเป็นกลางต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมิได้เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

 

รองนายกฯ ภูมิธรรม แถลงสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอล เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย


ส่วน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ย้ำจุดยืนของไทยคือ “เราเป็นกลางในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ และยอมรับการดำรงอยู่ของทั้ง 2 รัฐ ทั้งปาเลสไตน์และอิสราเอล”


นี่เป็นบทเรียนสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ ผู้นำประเทศมิควรใช้โซเชียลมีเดียแสดงท่าทีและจุดยืน โดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือและการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรอบด้าน
 

ชะตากรรมคนงานไทย
จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล รวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยในพื้นที่ติดกับฉนวนกาซา ประมาณ 5,000 คน 


ดังนั้น สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่สมรภูมิกาซารอบใหม่ จึงมีผลกระทบต่อแรงงานไทยโดยตรง


สำหรับข้อมูลแรงงานไทย ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกันยังไม่นิ่ง เนื่องจากอยู่ระหว่างการช่วยเหลือและตรวจสอบในพื้นที่กาซา โดยกองทัพอิสราเอล


รายงานข้อมูลจากฝ่ายแรงงาน สถานทูตไทยในอิสราเอล เปิดเผยว่า รัฐบาลอิสราเอลอนุญาต ให้นำเข้าแรงงานต่างชาติใน 4 สาขาอาชีพเท่านั้นคือ การเกษตร ก่อสร้าง พ่อครัวในร้านอาหาร และดูแลคนชรา คนพิการ ผู้ป่วย 


ตั้งแต่ปี 2555 – 2561 มีแรงงานไทยเสียชีวิตไปแล้ว 172 คน สาเหตุจากความเจ็บป่วยและการฆ่าตัวตาย และส่วนมากถูกระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ไม่ทราบสาเหตุ 

 

สงครามยืดเยื้อ
ในมุมของนักวิชาการต่อสถานการณ์การสู้รบครั้งล่าสุด ในสมรภูมิฉนวนกาซา และดินแดนปาเลสไตน์ ยังมีความกังวลว่าจะยกระดับเป็นสงครามภูมิภาค 

 

มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิเคราะห์ว่า ทั้งสองฝ่ายมุ่งไปสู่เป้าหมายของตัวเอง และเดินหน้าปฏิบัติการสู้รบแบบถึงไหนถึงกัน ซึ่งการใช้คำว่า สงครามของนายกฯอิสราเอล เป็นสัญญาณว่า จะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา 

 

ย้อนไปปี 2557 ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แง่คิดเกี่ยวกับปัญหาการใช้ความรุนแรงในฉนวนกาซา ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

 

“ในมุมของผมคือ ปาเลสไตน์ซึ่งถูกแย่งดินแดนไปกำลังลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ทั้งวิถีทางทางการทูต และวิถีทางทางการทหารอย่างฮามาส วันนี้อิสราเอลไม่ได้ต่อสู้กับใคร หรือต่อสู้กับโลกอาหรับ แต่ต่อสู้กับคนปาเลสไตน์ที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างในเอง”

 

ในมิติการเมืองระหว่างประเทศกรณีอิสราเอล-ฮามาสในปาเลสไตน์ จึงมีความละเอียดอ่อน และเกี่ยวโยงกับมหาอำนาจ รัฐบาลไทยจึงต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ในการแสดงท่าทีและจุดยืนต่อศึกสง ครามหนนี้
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ