คอลัมนิสต์

สายลมเปลี่ยนทิศ ‘หมอมิ้ง-ภูมิธรรม’ เมื่อ ‘6 ตุลา’ อยู่ตรงไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รำลึก 47 ปี 6 ตุลา สองสหาย หมอมิ้ง-ภูมิธรรม ผู้รอดในยุทธการล้อมปราบ จากขบวนการนักศึกษาปีกซ้าย สู่เส้นทางการเมือง

คนรุ่นนี้ หมอมิ้ง แนวร่วมมหิดล ภูมิธรรม จุฬา-ประชาชน ผ่านสมรภูมิเลือด 6 ตุลา กว่าครึ่งชีวิต ย่ำเดินอยู่บนถนนการเมือง 


วาระรำลึก 47 ปี 6 ตุลา หลายคนคงนึกถึง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีพาณิชย์ และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี


เมื่อ 22 ปีที่แล้ว สมัยพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง และทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หมอมิ้ง และอ้วน ภูมิธรรม ก็ถูกพูดถึงมากมายในฐานะคนเดือนตุลา ที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะของทักษิณ

ในวันที่ยืนอยู่ฝั่งรัฐบาล ทั้งอ้วนและหมอมิ้ง ก็มักถูกคนรุ่นเดียวกันที่เป็นเอ็นจีโอหรือผู้นำองค์กรภาคประชาชน วิพากษ์วิจารณ์ว่ารับใช้รัฐบาลนายทุน


เช่นเดียวกับวันนี้ ขบวนการเยาวชน นักเรียน และนักศึกษา ได้ลุกขึ้นมาทวงถามเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว 


ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจในวาระ 47 ปี 6 ตุลา จะมาในธีมกว่าจะเป็นประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมี สสร.มาจากการเลือกของประชาชน


ปัจจุบัน หมอมิ้ง วัย 68 ปี และอ้วน ภูมิธรรม วัย 70 ปี ทั้งคู่เข้าป่าจับปืน ช่วงวัยรุ่นอายุ 21-22 ปี และเริ่มมาทำงานการเมืองช่วงวัยกลางคน

 

ฝ่ายซ้ายมหิดล
หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ


กระทั่งหมอมิ้งเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงกระโจนเข้าทำกิจกรรมกับขบวนการนักศึกษาเต็มตัว และได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล

“เรียนก็เริ่มไม่ค่อยเรียนเท่าไหร่แล้ว เพราะไปทำแต่กิจกรรมกับขบวน การนักศึกษา ก็ยังดีมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยติวให้ ปัจจุบันคือแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ช่วยติวแล้วก็ให้ยืมเลคเชอร์อ่าน” หมอมิ้ง เล่าความหลังช่วงปี 2518-2519


ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 หมอมิ้งได้เป็นหนึ่งในแกนม่วง-เหลือง ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแกนม่วง-เหลือง เปรียบเสมือนคณะเสนาธิการขบวนการนักศึกษายุคนั้น


“...ขณะที่เขายิงกัน ผมก็โทรไปที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา เพื่อขอรถพยาบาลมาช่วยคนเจ็บ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ผมถูกถามจากปลายสายว่า คุณเป็นใคร ผมก็บอกว่า ผมเป็นศึกษาแพทย์ปี 4 ชื่อนี้ชื่อนี้ ผู้อำนวยการมารับสาย อาจารย์ผมเองทั้งนั้น ผมรู้ ผมก็บอกไปว่า เรากำลังโดนอาวุธหนักโดยที่เรามือเปล่า เขาบอกพวกคุณก็มีอาวุธหนัก ซึ่งผมฟังแล้ว ผมถึงกับน้ำตาไหล”


หลังการล้อมปราบในธรรมศาสตร์ หมอมิ้งตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้อาวุธในเขตงานอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า สหายจรัส

 

อ้วน ภูมิธรรม และหมอมิ้ง ดูภาพเก่าๆสมัยเป็นนักศึกษาปีกซ้าย

 

ฝ่ายซ้ายจุฬาฯ
อ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย และเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ได้จัดตั้ง พรรคจุฬา-ประชาชน พรรคปีกซ้ายในจุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2517


ปี 2519 พรรคจุฬา-ประชาชน ส่ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าชิงนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ปรากฏว่า ฝ่ายซ้ายชนะ และเอนก นายก สจม. ดันสุธรรม แสงปทุม ตัวแทนจุฬาฯ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ 


ช่วงการชุมนุมขับไล่จอมพลถนอมที่ลอบเข้าไทย ระหว่าง 4-6 ต.ค. 2519 อ้วน ภูมิธรรม อยู่ในทีมประเมินข่าวประเมินสถานการณ์


ตลอดทั้งวันของวันที่ 5 ต.ค. 2519 ฝ่ายขวาจัดปลุกระดมผ่านวิทยุยานเกราะ มีสัญญาณการล้อมปราบ


“มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสั่งการว่าจะเลิกหรือไม่เลิกชุมนุม ตอนนั้นบนตึก อมธ. ก็ประชุมกันอยู่..มีทั้งฝ่ายที่อยากให้สลาย กับฝ่ายที่ไม่อยากให้สลาย”


สุดท้ายที่ประชุมแกนนำนักศึกษา สรุปว่าจะสลายตัวกันในเช้าวันที่ 6 ต.ค. แต่ฝ่ายขวาจัดและกำลัง ตชด.ก็ระดมยิงปืนใส่นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ฟ้าสาง


หลังเหตุการณ์วันนั้น อ้วนเดินทางไป อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า สหายใหญ่ ก่อนจะถูกส่งตัวไปทำหน้าที่ขับรถให้สหายนำ ที่สำนักเอ 30 แขวงหลวงน้ำ สปป.ลาว


ทั้งอ้วน และหมอมิ้ง คืนสู่เมืองช่วงปี 2524 และได้กลับเข้าเรียนต่อ จนจบออกมาทำงานตามวิชาชีพของตัวเอง 
    


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ