คอลัมนิสต์

คนตุลาคัมแบ็ก ‘หมอมิ้ง’ นายกฯน้อย ‘ภูมิธรรม’ จอมยุทธ์นายใหญ่

25 ส.ค. 2566

พลิกปูมคนตุลาสายชินวัตร ‘หมอมิ้ง’ นายกฯน้อย พี่เลี้ยงเศรษฐา ‘ภูมิธรรม’ มือการเมืองประจำรัฐบาลพิเศษ.......

คนตุลารีเทิร์น หมอมิ้ง นายกฯน้อย พี่เลี้ยงเศรษฐา ภูมิธรรม รอตำแหน่งใหญ่ มือการเมืองประจำรัฐบาลพิเศษ


สองสหายสายตรงจันทร์ส่องหล้า หมอมิ้ง เปรียบยาสามัญประจำบ้าน อ้วน ภูมิธรรม นักกลยุทธ์การเมืองคู่ใจนายใหญ่ 


22 ปีที่แล้ว ทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก ได้มีการแต่งตั้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาด ไทย 

จำได้ว่า วันที่ 28 ก.ค. 2544 สโมสร 19 กลุ่มคนเดือนตุลาที่เคยเข้าป่าอีสานใต้ ได้จัดงานเลี้ยงฉลองตำแหน่งให้แก่สหายจรัส-หมอมิ้ง และสหายใหญ่-ภูมิธรรม ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง พระราม 3


พ.ศ.นี้ ในรัฐบาลเศรษฐา 1 คาดว่า หมอมิ้ง จะได้กลับมานั่งเก้าอี้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่วนอ้วน ภูมิธรรม คงรอการจัดสรรกระทรวงหรือตำแหน่งที่เหมาะสมอยู่


เดิมทีมีข่าวว่า อ้วน ภูมิธรรม จะได้นั่งมหาดไทย แต่มีการเจรจาต่อรองกับภูมิใจไทย จึงต้องยกเก้าอี้ มท.1 ให้เสี่ยหนู ตามสูตรรัฐบาลผสม


ช่วงการจัดตั้งรัฐบาล คนออกหน้าจออย่างอ้วน ภูมิธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็เจอก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้


ส่วนคนหลังม่านอย่างหมอมิ้ง ไม่โดนอะไรมากในช่วงนี้ แต่วันข้างหน้าได้สวมหัวโขนนายกฯน้อย คงเจอรถทัวร์สีส้มอยู่บ้างแหละ


ย้อนไปเมื่อ 26 พ.ค. 2563 กลุ่มแคร์ ประชุมขยายวงครั้งแรก โดยเชื้อเชิญผู้คนหลากหลายวงการมาพูดคุย-แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านพระราม 9

นั่นคือการกลับมาของ หมอมิ้ง และอ้วน ซึ่งการกำเนิดกลุ่มแคร์ เป็นส่งสัญญาณว่า บ้านจันทร์หล้าจะกลับเข้ามาบริหารพรรคเพื่อไทยเต็มรูปแบบ 

 

หมอมิ้ง คลังสมองเพื่อไทย รอรับตำแหน่งใหญ่

 

 

สหายจรัส-อีสานใต้
สมัยเรียนมหิดล หมอมิ้งได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล เมื่อปี 2518 ก่อนจะเข้าป่าอีสานใต้ แถว อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ใช้ชื่อจัดตั้งว่า สหายจรัส


หมอมิ้ง เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในรัฐบาลทักษิณ แต่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั้น หมอมิ้งได้รับตำ แหน่งนี้ 2 รอบ


ในฐานะนายกฯน้อย รอบหลังนี้ หมอมิ้งได้รับมอบหมายถือเอกสารต้านปฏิวัติ หลังจากนายกฯทักษิณ ต้องเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา 


เวลานั้น ข่าวลือเรื่องรัฐประหารโชยกลิ่นแรงมาก และค่ำวันที่ 19 ก.ย. 2549 หมอมิ้งชิงประกาศภาวะฉุกเฉินก่อนทหารยึดอำนาจ และยังสั่งตั้งกองบัญชาการต้านปฏิวัติ ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด ปากเกร็ด


สุดท้ายฝ่ายทักษิณก็พ่ายแพ้ หมอมิ้งและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถูกรวบตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) กองบัญชาการของคณะรัฐประหาร


17 ปีผ่านไป ทักษิณได้กลับบ้าน วันเดียวกับ เศรษฐา ทวีสิน ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น


ถ้าหมอมิ้งเป็นเลขาธิการนายกฯ เคียงข้างนายกฯเศรษฐา คงไม่ต้องถือเอกสารต้านการปฏิวัติ เพราะนี่คือรัฐบาลพิเศษ หรือรัฐบาลอนุรักษนิยมใหม่

 

 

สหายใหญ่-หลวงน้ำทา
อ้วน ภูมิธรรม เรียนจบ ม.6 โรงเรียนทวีธาภิเษก สมัยนั้นชื่อ วัฒนชัย เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2515


ปี 2517 อ้วนกับเพื่อนฝ่ายซ้าย ก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน ชิงนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ แต่แพ้ฝ่ายขวา พรรคอนุรักษ์จุฬา นำโดยวีระกร คำประกอบ

 

หลัง 6 ตุลา 19 อ้วนเข้าป่าอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้ง สหายใหญ่ ก่อนจะถูกส่งตัวไปอยู่แขวงหลวงน้ำ สปป.ลาว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ขับรถให้สหายนำระดับสูงของ พคท.


ดังที่ทราบกัน ทักษิณเป็นคนมอบหมายให้อ้วน และเพื่อนคนเดือนตุลา ศึกษาเรื่องการตั้งพรรคการเมืองมาตั้งแต่ปี 2537 


สมัยรัฐบาลทักษิณ อ้วน ภูมิธรรม เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาด ไทย (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) และได้ทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพื่อนรัก ร.ต.อ.ปุระชัย ที่มาประจำการหน้าห้องรัฐ มนตรี


รัฐบาลทักษิณ รอบที่ 2 อ้วนได้เป็น รมช.คมนาคม พ่วงรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และถูกเว้นวรรค 5 ปีเพราะพรรคถูกยุบ


“เป็นเพื่อนสนิทกันมานาน เคยร่วมคิดและทำอะไรกันมาตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่มๆ ครั้งนี้อยากช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ” อ้วน ภูมิธรรม พูดถึงหมอมิ้ง ในวันก่อตั้งกลุ่มแคร์ เมื่อ 3 ปีก่อน


วันนี้ อ้วน ภูมิธรรม คงไม่คิดไม่ฝันหรอกว่า จะต้องมาจัดตั้งรัฐบาลพิเศษสลายสีเสื้อ เพื่อพานายใหญ่กลับบ้าน