คอลัมนิสต์

ก้าวไกลไม่หมอบ ‘พิธา’ เดินหน้าแตกหัก ‘อนุรักษนิยม’ ถอยไม่ได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถั่งโถมโหมแรงไฟ พิธา ไม่หมอบเดินหน้าแตกหัก อนุรักษนิยม ก็ไม่ถอย ด้อมส้มไม่ได้มีแค่คนหนุ่มสาว ยังรวมเอาคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่ต้องการเห็นการเมืองใหม่

เกมแตกหัก พิธา ไม่ถอย เดินหน้าสู่เป้าหมายนายกฯ คนที่ 30 อนุรักษนิยมก็ถอยไม่ได้เหมือนกัน วันโหวตนายกฯ คือวันชี้ชะตาประเทศไทย


พลังด้อมส้มในวันนี้ ไม่ได้มีแค่เยาวชนคนหนุ่มสาว หากแต่ยังรวมเอาคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่ต้องการเห็นการเมืองใหม่ และเบื่อหน่ายรัฐข้าราชการ  
 

ลำปางแตกแล้ว ภาพข่าว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปขอบคุณประชาชนชาวเขลางค์นคร เมื่อ 14 มิ.ย. 2566 ก็ไม่ต่างจากบรรยากาศที่พิธา ไปขอบคุณชาวนนทบุรี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต

 

พิธา นั่งรถม้าลำปาง ขอบคุณประชาชน

 


การขยับเกมมวลชนของพรรคก้าวไกล ก่อนที่ประชุมรัฐสภา จะโหวตเลือกนายก รัฐมนตรี มีความสำคัญยิ่ง เพราะเสียงสนับสนุนจากการเลือกตั้ง 14 ล้านเสียง เป็นความชอบธรรมที่จะฝ่าด่าน สว. 250 คน


ล่าสุด วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กทนายวันชัย สอนศิริ ระบุว่า “ผมรู้อยู่แล้วว่าหวยจะออกอะไร...จึงขอเอาความสงบ สยบความเคลื่อนไหวโดยปิดวาจา”
 

หลังจาก กกต.ประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครบ 95% ก็สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดปฐมฤกษ์ ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ตามมาด้วยโหวตเลือกประธานสภาฯ และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คงปลายเดือน ก.ค.นี้


ฝ่ายความมั่นคงได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่า วันโหวตนายกฯ จะมีมวลชน ทั้งด้อมส้ม และคนเสื้อเหลือง ไปรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภา ซึ่ง พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ให้สัมภาษณ์นักข่าวสายทหารว่า กรณีการรับมือของกลุ่มมวลชนที่จะเดินทางมาที่หน้ารัฐสภาในวันที่โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีการเตรียมการ ต้องวางแผนดูแลความเรียบร้อย อพยพประชาชน กรณีมีความวุ่นวาย 

 

 

ตุลา 63 โมเดล
นิติสงคราม เป็นวาทกรรมที่แกนนำพรรคก้าวไกล ใช้อธิบายประเด็นการร้องตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ไม่ว่าจะเรื่องหุ้นสื่อ หรือเรื่องอื่นๆ 


ดังที่ทราบกัน ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ,กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มทะลุแก๊ส อดีต สส.ก้าวไกล ได้เข้าไปช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องคดีความ เพราะพรรคสีส้มเห็นด้วยกับการลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ


อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จึงเป็นแกนนำกลุ่มราษฎรคนแรกๆ ที่ออกมาส่งสัญญาณว่า ถ้าพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ พวกเขาจะไม่ยอมทนอีกต่อไปแล้ว


เมื่อ 14 มิ.ย.2566 อานนท์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกครั้งว่า “...เผื่อเอาไปประกอบการตัดสินใจ ถ้าจะเลือกแนวทางยื้อ หรือยึดอำนาจ คนสนับสนุนก้าวไกลใน กทม.และปริมณฑลหลายล้าน ลงถนนเขานัดกันตามแนวรถไฟฟ้าเหมือนตอนตุลา 63 ใช้เวลา 15-20 นาที พรึบ..”


อานนท์ พูดถึงม็อบราษฎร ช่วงเดือน ต.ค.2563 หมายถึง คณะราษฎร 2563 ประกาศนัดชุมนุมที่แยกปทุมวัน จากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตั้งแถวนำรถจีโน่เข้ามายังพื้นที่ ก่อนมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมภายใน 5 นาที และใช้รถจีโน่ฉีดน้ำแรงดันสูงและน้ำผสมสีฟ้าเข้าสู่ผู้ชุมนุมในเย็น


ปฏิบัติการสลายมวลชนในครั้งนั้น สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนมากขึ้น จึงการชุมนุมแบบกระจายตัว สื่อสารผ่านเทเลแกรม หรือที่เรียกว่า ม็อบออร์แกนิก

 

 

ม็อบ-ป๊อปคัลเจอร์
จะว่าไปแล้ว ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้ง 2566 ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ ผลพวงจากการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักเรียน-นักศึกษา ช่วงปี 2563-2564


เมื่อเร็วๆ นี้ เพจ The101.world ได้สัมภาษณ์ พรรณราย โอสถาภิรัตน์ หนึ่งในทีมวิจัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในม็อบปี 2563 ที่ระบุว่า “จุดเด่นของม็อบในปี 2563-2564 อีกอย่างที่ได้รับการพูดถึงบ่อยๆ คือการสื่อสารประเด็นทางการเมืองด้วย ‘มีม’ ซึ่งเป็นสื่อที่ตอบโจทย์อารมณ์ขันแบบเฉพาะกลุ่ม..”


มีม หมายถึงการล้อเลียนกระแสต่างๆ ในโซเชียล ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ได้นำเอามีม มาเล่นประเด็นทางการเมืองอย่างได้ผล 


แม้ม็อบสามนิ้ว ม็อบราษฎร จะไม่สามารถเอาชนะกลุ่มอำนาจเดิมได้ในเวลานั้น แต่ก็มีคนบอกว่า ม็อบชนะทางวัฒนธรรม เพราะม็อบกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์

 


    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ