คอลัมนิสต์

อย่าติเราต่างศรัทธา ต่างอยู่พื้นที่เดียวกัน  โดย โคทม อารียา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมเราไม่ทำตามคำสอนที่เรามีศรัทธา และไม่ใช้ศรัทธาของเราไปข่มคนอื่นโดยคิดว่าศรัทธาของเราถูกต้องกว่า  ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย โคทม อารียา

 

ขณะที่เตรียมและกินอาหารเช้า ผมฟังเพลงคริสต์มาส เปิดมือถือฟังได้เป็นชั่วโมง หวนนึกถึงความศรัทธาของชาวคริสต์ทั่วโลก ซึ่งวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวันเตรียมตัวเข้าโบสถ์ตอนเที่ยงคืน เพื่อรับการมาของพระกุมารเยซู แล้วมากินอาหารเฉลิมฉลองกันในครอบครัว อาหารที่นิยมคือไก่งวงอบ ใส่ไส้เกาลัด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ชาวคริสต์กว่าพันล้านคนทั่วโลกจะเฉลิมฉลองกันในวันและคืนนี้ ไม่ว่าโควิดจะระบาดหนักแค่ไหน ก็ยังอยากฉลองกัน โดยร่วมโต๊ะอาหารหรือโดยผ่านวิดีโอออนไลน์ก็ยังดี

 

ผมได้มีโอกาสคุยกับชาวตุรกีคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาและเพื่อนร่วมชาติต่างเป็นมุสลิม แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทะเลาะกันและทำร้ายกันถึงขนาดนี้ เลยถามเขาถึง Fethullah Gülen ปราชญ์แห่งอิสลามและผู้นำทางความคิด 

 

ผมจำข้อเสนอของเขาได้ว่า ปัญหาหลักของเราในขณะนี้มี 3 ข้อคือ ความไม่รู้ ความยากจน และความขัดแย้ง และแนวทางแก้ไขคือ การศึกษา การช่วยเหลือคนจน และการสานเสวนา (dialogue) ไม่เพียงแต่เทศน์ในฐานะผู้นำศาสนา กูเล็นยังส่งเสริมการลงมือปฏิบัติด้วย โดยเป็นผู้นำทางความคิดของขบวนการ Hizmet (แปลว่า บริการ) ที่ประกอบด้วยองค์กรภาคประชาสังคมมากมาย ขบวนการนี้ก่อตั้งโรงเรียนหลายแห่งทั้งในตุรกีและในต่างประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ก่อตั้งมหาวิทยาลัย สถานีโทรทัศน์ โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณกุศล หน่วยบรรเทาสาธารณภัยที่มีอาสาสมัครพร้อมออกปฏิบัติการทั่วโลก (เช่นในกรณีพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า เมื่อปี 2551) ฯลฯ

 

ขบวนการฮิสเมตเคยมีอาสาสมัครระหว่าง 3 ถึง 6 ล้านคน ในด้านการสานเสวนา กูเล็นเขียนหนังสือในเรื่องนี้และเรื่องขันติธรรมและการทนกันได้ (tolerance) เขาส่งเสริมการสานเสวนาระหว่างศาสนา และจัดให้มีการประชุมสานเสวนาในเรื่องนี้หลายครั้ง และได้เดินทางไปพบพระสันตปะปาที่เป็นผู้นำของศาสนจักรคาทอลิกเพื่อเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสานเสวนา


แต่เมื่อทหารพยายามทำรัฐประหารแต่ล้มเหลวในปี 2559 ขบวนการฮิสเมตถูกอำนาจรัฐในตุรกีรื้อถอนและปราบปรามอย่างหนัก โดยกล่าวหาว่ากูเล็นซึ่งลี้ภัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2542 เป็นผู้ต้นคิด (mastermind) ของการรัฐประหาร

 

ผมถามเพื่อนชาวตุรกีว่าความพยายามทำรัฐประหารนั้นเป็นมาอย่างไร เขาตอบว่าเรื่องยังมืดมน ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐสภาทำการสืบสวนสอบสวนแต่ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธ ผมถามว่าคำกล่าวหาที่มีต่อกูเล็นเป็นเรื่องการเมืองใช่ไหม คำตอบคือเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า เพราะขบวนการฮิสเมตเติบโตขึ้นและช่วงชิงพื้นที่และอิทธิพลทางสังคมไปจากผู้นำรัฐ

 

ถ้าจะกล่าวถึงผู้นำที่ถือศาสนาอิสลามและเปี่ยมด้วยความกรุณาและขันติธรรม ผมนึกถึงเศาะลาฮุดดิน ที่ฝรั่งเรียกชื่อว่า Saladin เขาทำสงครามต่อต้านการรุกรานของนักรบครูเซด และประสบความสำเร็จในการเข้ายึดเมืองเยรูซาเล็มคืนจากพวกแฟรงก์เมื่อ ค.ศ. 1187 (พ.ศ. 1630) หลังจากที่เมืองนี้ตกอยู่ในมือของพวกแฟรงก์เป็นเวลา 88 ปี แต่แทนที่จะทำแบบพวกแฟรงก์ที่สังหารหมู่คนนับหมื่นอย่างเหี้ยมโหดทารุณ และปล้นสะดมไม่เลือกหน้า กองทัพของเศาะลาฮุดดินปฏิบัติต่อชาวเยรูซาเล็มด้วยดีอย่างมีอารยธรรม แม้กระทั่งไว้ชีวิตผู้นำพวกแฟรงก์และปล่อยให้อพยพกลับไป ตรงตามคำกล่าวที่ว่า เขาเคยทำร้ายเราในฐานะผู้ชนะ แต่เมื่อเราเป็นผู้ชนะก็ทำแบบเรา ไม่จำเป็นต้องเอาอย่างเขา


อีกตัวอย่างหนึ่งคือจักรพรรดิอักบาร์มหาราชแห่งราชวงศ์โมกุล (ประสูติ พ.ศ. 2085 ครองราชย์ พ.ศ. 2099 สวรรคต พ.ศ. 2148) ทรงให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่บีบบังคับศาสนิกอื่นให้มานับถืออิสลาม ทรงยกเลิกกฎเซซิยะห์ที่ให้ผู้ที่ไม่นับถืออิสลามต้องเสียภาษีสูงกว่า ทรงเชื้อเชิญผู้นำศาสนาอิสลาม ฮินดูให้มาสานเสวนาแลกเปลี่ยนกัน เป็นต้น พระองค์จึงเป็นกษัตริย์มุสลิมที่อยู่ในใจชาวอินเดียมาตลอด

 

ในทางตรงกันข้าม หลายชายของพระองค์ถือเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสายตาของชาวมุสลิม เพราะได้นำกฎเซซิยะห์มาบังคับใช้ใหม่ และฟื้นฟูศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ทรงสั่งประหารพี่ชายสองคนและน้องชายหนึ่งคน และคุมขังพระบิดาเพื่อขึ้นครองราชย์ จนเมื่อประชวรหนักใกล้สิ้นพระชนม์ ทรงปรารภในที่บรรทมว่า 

 

"แปลกที่ฉันเข้ามาในโลกโดยไม่มีอะไรเลย 
และตอนนี้ฉันกำลังจะจากไป
พร้อมกับกองคาราวานแห่งความบาปที่น่าทึ่งนี้
ไม่ว่าฉันจะมองไปที่ใด ฉันก็เห็นแต่พระเจ้า
... ฉันทำบาปอย่างมหันต์ และฉันไม่รู้ว่า
อะไรคือการลงโทษที่รอฉันอยู่"

 

ในเรื่องนักปราชญ์แห่งศาสนาอิสลาม ผู้ที่ประทับใจผมอีกคนคือ รูมี ผู้เป็นมุสลิมสายซูฟี ขอยกคำกล่าว (quotation) ของเขามาอ้างสักเล็กน้อย 

 

"เมื่อวานฉันเก่งกาจ
ฉันจึงอยากเปลี่ยนแปลงโลก
วันนี้พอได้มีปัญญาญาณ
ฉันจึงกำลังเปลี่ยนแปลงตนเอง"

 

"ฉันไม่สังกัดศาสนาใด
ศาสนาของฉันคือความรัก
หัวใจทุกดวงคือวิหารของฉัน"


"ศาสนนิกายเจ็ดสิบสองนิกายในโลก 
จริง ๆ แล้วไม่มีอยู่ 
ขอสาบานต่อพระเจ้า
ทุก ๆ นิกาย คือฉันเอง"

 

ผมพยายามค้นหาใน google ถึงคำกล่าวที่จำได้ลาง ๆ แต่หาไม่เจอ เลยขออ้างถึงตามความทรงจำ ที่อาจผิดพลาดบ้าง รูมี กล่าวว่า "จงวางเท้าข้างหนึ่งให้มั่นในมหาสุมทรของเจ้า อีกข้างหนึ่งให้กวาดไปทั่วเจ็ดมหาสมุทร"  

 

ผมตีความว่าคำกล่าวนี้คล้ายกับปณิธาน 3 ประการของท่านพุทธทาสที่ว่า 1) จงเข้าถึงหัวใจศาสนาตน 2) ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา 3) นำโลกออกมาเสียจากวัตถุนิยม ผมเข้าใจว่าสองข้อแรกตรงกับคำกล่าวของรูมี นั่นคือ รู้ (ศาสนา) เราให้มั่นคง และเรียนรู้เขาด้วย โดยท่านพุทธทาสเสริมว่า เพราะเรามีภารกิจร่วมกัน

 

น่าเสียดายที่ผมได้รับข้อความเป็นเท็จอยู่บ่อย ๆ ที่เพื่อน ๆ ส่งมาทาง Line ที่แสดงความหวาดระแวงต่อคนศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม บ้างอ้างว่ามุสลิมเตรียมยึดประเทศไทยในเวลาห้าปี/สิบปี

 

บ้างอ้างว่ามี ส.ว. แต่งตั้งที่เป็นมุสลิมมีจำนวนนับร้อย บ้าง “เปิดโปง” โครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” ของมูลนิธิรัฐบุรุษว่าเอาใจเยาวชนมุสลิมเกินไป เมื่อรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนการไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็ใช้วาจาไม่สุภาพที่มีความหมายว่าจับโกหกที่ซ่อนไว้ได้แล้ว เมื่อได้ข่าวว่ามีการขออนุญาตตั้งมัสยิดแห่งใหม่ก็จะออกมาต่อต้าน เป็นต้น

 

ทำอย่างไรหนอ พวกช่างคิดที่เห็นแต่การสมคบคิดไปทั่ว จึงจะคล้อยตามท่านพุทธทาส โดยเข้าถึงหัวใจของศาสนาตน และทำความเข้าใจระหว่างศาสนาให้มาก แทนที่จะกล่าวหาหรือกล่าวร้ายแก่กัน

 

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมไปเที่ยวที่สกลนคร และถือโอกาสไปที่อำเภอท่าแร่ ตอนแรกก็ตั้งข้อรังเกียจเรื่องการกินหมา แต่ข้อมูลจาก google บอกว่า เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ธุรกิจเนื้อหมาก็ยังเฟื่องฟู แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะมีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ คนในพื้นที่ไม่นิยมกิน มีบ้างก็คนนอกพื้นที่นั่นแหละ ท่าแร่เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาคาทอลิกมากที่สุด จนเป็นอัครสังฆมณฑลที่มี archbishop ปกครอง

 

นอกจากท่าแร่ก็มีกรุงเทพฯที่เป็นอัครสังฆมณฑลอีกแห่งหนึ่งที่มี cardinal ปกครอง ที่ท่าแร่มีถนนสายหนึ่งอยู่ติดกับอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล บนถนนสายนี้มีอาคารเก่าสไตล์โคโลเนียลที่สวยงามสามสี่หลัง และมีอาคารศิลาแลงหลังหนึ่งถูกไฟไหม้มานานแล้ว มีป้ายอธิบายความเป็นมาว่า ประมาณปี 2427 มีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสและเยอรมันมาเผยแพร่ศาสนาที่สกลนคร และมีชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงาน และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบมาเข้ารีตจำนวมาก ทำให้ขาดที่ดินทำกิน ประกอบกับถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เลยต่อแพอพยพชาวคาทอลิกประมาณ 20 ครัวเรือนมาที่ท่าแร่ ล่องจากตัวเมืองข้ามทะเลสาบหนองหารมา จนเป็นชุมชนคาทอลิกใหญ่ในปัจจุบัน

 

ตำนานที่บอกเล่าไว้ข้างอาคารถูกเผา เล่าถึงลูกสาวรองข้าหลวงสกลนคร ชื่อหนูนา เธอสนใจศาสนาคาทอลิกแต่พ่อไม่เห็นด้วยจึงถูกจับขัง ยังดีที่พี่ชายช่วยปล่อยตัวและพามาที่ท่าแร่ รองข้าหลวงตามมาและจะตั้งข้อหาลักพาตัวแก่บาดหลวง แต่หนูนายืนยันว่ามาด้วยความสมัครใจ จึงถูกผู้เป็นบิดาชักดาบออกมาและประกาศตัดญาติกับลูกสาว ซึ่งต่อมาได้แต่งงานและตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร่ บ้านที่ถูกเผาหลังนี้เองเคยเป็นที่พักอาศัยของโฮจิมินห์ สมัยที่ข้ามลาวมาขอความสนับสนุนจากชาวเวียดนามอพยพที่อยู่ที่นี่ แต่พอเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งถูกลอบสังหาร โฮจิมินห์สันนิษฐานว่าตนเป็นเป้าหมายมากกว่าเลยถอนตัวไป แต่สาเหตุที่บ้านหลังนี้ถูกเผาไม่เกี่ยวกับโฮจิมินห์ ตำนานสันนิษฐานว่า มีการใช้เป็นสถานที่ประกอบมิซซาที่เป็นพิธีทางศาสนา มีเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วย บ้านจึงถูกเผา

 

ตำนานที่ติดไว้ข้างบ้านหลังนี้ยังเล่าต่ออีกว่า บาดหลวงคนหนึ่งถูกจับและถูกลากเครามาจะไปจองจำ เจ้าตัวบอกว่าเป็นชาวเยอรมันไม่ใช่ฝรั่งเศส เลยรอดตัวไป การรังแกชาวคาทอลิกในสมัยนั้น คงเกิดในหลาย ๆ ที่ และมีสาเหตุมาจากการขาดขันติธรรมต่อผู้มีศรัทธาที่แตกต่าง และมาจากความคิดชาตินิยมที่ทำให้รังเกียจชาวฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมด้วย

 

ในสังคมไทย มีภาษาพูดที่เป็นภาษาแม่ราว 70 ภาษา นั่นหมายความว่าเรามีกลุ่มชาติพันธุ์มากมายเช่นกัน แต่ละชาติพันธุ์มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน ราชการไทยรับรองศาสนาอยู่ 5 ศาสนา แต่ละศาสนามีนิกายต่าง ๆ กันไป อีกทั้งยังมีคนที่ไม่ถือศาสนาใด ๆ ทั้งนี้ยังไม่นับความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองที่มีได้ต่าง ๆ นานา แถมยังมีความเป็นพลวัตสูง คู่อริทางการเมืองวันนี้ อาจเป็นพันธมิตรกันได้ในภายภาคหน้า

 

ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราไม่จำเป็นต้องเกลียดกันมิใช่หรือ เราไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันมิใช่หรือ ที่ขำไม่ออกคือศาสนาต่างสอนให้เรารักเพื่อนมนุษย์ แต่บางครั้งเราก็ทำร้ายกันในนามของศาสนาและความศรัทธาที่ต่างกัน

 

ทำไมเราไม่ทำตามคำสอนที่เรามีศรัทธา และไม่ใช้ศรัทธาของเราไปข่มคนอื่นโดยคิดว่าศรัทธาของเราถูกต้องกว่า 

 

ศาสนาพุทธสอนว่า เราเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เราอยู่ในพื้นดินเดียวกัน กรุณาอย่าติว่าเรามีศรัทธาที่ต่างกัน ขอให้นึกเสมอว่า เราอยู่พื้นเดียวกัน และควรร่วมรู้สึกและช่วยเหลือกันมากกว่า       
 

logoline