คอลัมนิสต์

"ระบบโลกจะวิกฤตไหม" มองผ่านเลนส์ โดย "โคทม อารียา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มนุษย์มีอิทธิฤทธิ์สูงมาก สามารถทำลายระบบของโลกได้โดยเร่งการสลายตัวสู่ภาวะไร้ระเบียบและการสูญสิ้นสิ่งมีชีวิตไปจากโลกนี้" เนื้อหาตอนหนึ่ง ที่โคทม อารียา ชวนถอดความตามหัวข้อ "ระบบโลกจะวิกฤตไหม" ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อนสุดสัปดาห์

บทความนี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาของหนังสือเล่มหนึ่งโดยสังเขป หนังสือนี้มีชื่อว่า Failing States, Collapsing Systems : BioPhysical Triggers of Political Violence ผู้เขียนชื่อ Nafeez Mosaddeq Ahmed  หนังสือเล่มนี้เตือนว่าเราอาจไปสู่รัฐที่กำลังล้มเหลวและระบบที่กำลังล่มสลาย

 

โดยมีปัจจัยทางชีว-กายภาพเป็นตัวจุดชนวนที่จะทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง ก่อนอื่น หนังสือจะเริ่มกล่าวถึงระบบมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมว่าเป็นระบบเชิงซ้อนที่ปรับตัวได้ (complex adaptive system) เป็นอันว่าควรทำความเข้าใจกับระบบเชิงซ้อนให้ดีก่อน

 

ระบบเชิงซ้อนย่อมมีองค์ประกอบที่มากหลาย โลกพิภพ ถือเป็นระบบเชิงซ้อนระบบหนึ่ง ตามทฤษฎีของระบบเชิงซ้อน ระบบจะมีคุณสมบัติที่ผุดบังเกิดขึ้น (emergent) จากองค์รวม ซึ่งเป็นมากกว่าคุณสมบัติขององค์ประกอบหรือแม้แต่ผลรวมขององค์ประกอบของระบบ ตัวอย่างในระดับเคมี

 

เช่น คุณสมบัติความเค็มมีอยู่ในโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โซเดียมและคลอรีนต่างก็ไม่มี

ตัวอย่างระดับอวัยวะ เช่น คุณสมบัติของการสูบฉีดเลือดมีอยู่ในหัวใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทุกเซลล์ของหัวใจรวมกันก็ไม่มี

ตัวอย่างระดับร่างกาย เช่น คุณสมบัติของการมีชีวิต หรือการมีจิตสำนึก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทุกอวัยวะของร่างกายรวมกันไม่มี

ตัวอย่างของสังคมมนุษย์  เช่น คุณสมบัติทางวัฒนธรรม หรืออารยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ไม่มีมาก่อนแล้วในมนุษย์แต่ละคน

 

 

องค์ประกอบและคุณสมบัติอาจซ้อนกันเหมือนรังนก (nested) เช่น นักศึกษากลุ่มหนึ่งเป็นส่วนย่อยของวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่ วิทยาลัยเป็นส่วนย่อยของระบบอาชีวศึกษาหรืออุดมศึกษา ซึ่งเป็นส่วนย่อยของระบบการศึกษาทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบค่านิยม วัฒนธรรม  ตลอดจนระบบกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงระหว่างกันขององค์ประกอบและระบบย่อย ทำให้เกิดการป้อนกลับ (feedback) ภายในระบบย่อย ระหว่างระบบย่อยต่าง ๆ และระหว่างระบบย่อยที่ซ้อนกันเหมือนรังนกกับระบบภายนอก 

 

วิกฤติเกิดขึ้นเมื่อระบบย่อยจำเพาะระบบหนึ่งอาจก่อให้เกิดแบบแผนที่ผุดบังเกิดขึ้น และกระทบต่อระบบในองค์รวม เช่น เกิดมีเซลล์มะเร็ง เกิดกระบวนการใหม่ในการแปลงสารเคมีในระบบให้เป็นพลังงาน (metabolism)

การผุดบังเกิดดังกล่าวอาจทำให้ระบบมาถึงจุดชะงักงันหรือจุดเปลี่ยน เช่น การขาดแคลนพลังงานอาจทำให้เกิดผลกระทบต่ออารยธรรมมนุษย์และสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง

 

มีกฎทางฟิสิกส์ข้อหนึ่งชื่อว่า กฎข้อที่สองของอุณหพลศาสตร์ (thermodynamics) ความว่า “ในกระบวนการธรรมชาติ เอนโทรปีของระบบอิสระไม่มีทางจะลดลง”

 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความแตกต่างของคุณสมบัติ เช่น อุณหภูมิ ความดัน ความหนาแน่น ฯลฯ ในระบบจะค่อย ๆ ลดน้อยลงจนกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ในกล่องใหญ่ ๆ ใบหนึ่ง ในตอนเริ่มต้นมีจุดหลายจุดภายในที่มีอุณหภูมิ ความดัน หรือความหนาแน่น ต่าง ๆ กัน ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการธรรมชาติ ไม่นานทุกจุดจะมีอุณหภูมิเท่า ๆ กัน มีความดัน และความหนาแน่นเท่า ๆ กัน

 

แปลกที่นักวิทยาศาสตร์เรียกภาวะที่จุดย่อยมีคุณสมบัติต่าง ๆ กันว่าภาวะมีระเบียบ และเรียกภาวะที่จุดย่อยมีคุณสมบัติเหมือนกันว่าภาวะไร้ระเบียบ และเรียกปริมาณที่วัดความไร้ระเบียบว่า “เอนโทรปี” กฎข้อที่สองบอกเราว่า “เอนโทรปีของระบบที่เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นเสมอ”

ในระบบที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตแต่ละหน่วยเป็นการปรากฏรูปของเอนทรอปีเชิงลบ เสมือนเป็นเกาะแยกโดดที่มีเอนโทรปีน้อย สิ่งมีชีวิต “สกัดระเบียบ” หรือสกัดพลังงานจากสิ่งแวดล้อม เพื่อดำรงชีวิต ปรับตัว และมีวิวัฒนาการ เมื่อสกัดมาแล้วก็สะสมไว้ก่อนที่จะใช้ไป

 

ทั้งนี้ อาศัยกฎเกณฑ์ทางสารสนเทศที่เขียนไว้ในสารพันธุกรรม อย่างไรก็ดี เอนโทรปีที่น้อยจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อชีวิตสิ้นสุดลง เกาะแยกโดดจะมลายหายไป หยุดสกัดพลังงาน กฎข้อที่สองให้คำอธิบายว่า เอนโทรปีจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการคืนสู่ความไร้ระเบียบนั่นเอง

 

ถ้าพิจารณาในระดับสังคมมนุษย์ มนุษย์นำพลังงานมาใช้ในการผลิต ซึ่งทำให้เกิดอำนาจทางสังคม เกิดระบบเจ้าสมบัติ และการจัดรูปเชิงชนชั้น เราเริ่มใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อของเรา ต่อจากนั้นก็ใช้จากกล้ามเนื้อของสัตว์ จากไม้ จากลม จากกระแสน้ำ จากถ่านหิน จากน้ำมัน และจากการแตกตัวของธาตุนิวเคลียร์

 

สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากสังคมล่าสัตว์-ร่อนเร่เก็บอาหาร มาเป็นสังคมย้ายถิ่น สังคมเลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก ศักดินา ใช้ทาส สังคมทุนนิยมแบบเกษตร แบบอุตสาหกรรม แบบการเงิน แบบสารสนเทศ และแบบปัญญาประดิษฐ์

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามทฤษฎี “การเติบโต (growth) และการเจริญก้าวหน้า (progress)” ซึ่งหมายถึงการสกัดพลังงานมาใช้อย่างชาญฉลาด เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่โดยไม่สลายไปสู่ความมืดมนของภาวะไร้ระเบียบ จริงอยู่ นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าการเผาไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมในกระบวนการฟิวชันที่ทำให้ดวงอาทิตย์สุกสว่างนั้น จะสิ้นสุดลงเมื่อไฮโดรเจนหมดในอีกประมาณ 5,000 ล้านปี เมื่อนั้นโลกก็จะแตกสลายสู่ภาวะไร้ระเบียบของระบบที่เคยเป็นระบบสุริยะ แต่ชะตากรรมของโลกพิภพอาจไม่ยืนยาวถึงปานนั้น

 

ขณะนี้ มนุษย์มีอิทธิฤทธิ์สูงมาก สามารถทำลายระบบของโลกได้โดยเร่งการสลายตัวสู่ภาวะไร้ระเบียบและการสูญสิ้นสิ่งมีชีวิตไปจากโลกนี้

 

ฉากทัศน์ (scenario) ที่น่ากลัวเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นไปได้ว่าสังคมมนุษย์อาจมาถึงวิกฤติเพราะสกัดพลังงานมาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงระบบของสังคมมากเกินไป โดยเฉพาะผ่านระบบทุนนิยมที่ไม่รู้จักพอ ทำให้มนุษย์เผชิญความขาดแคลนของเชื้อเพลิงและอื่น ๆ

 

โดยเริ่มจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ (fossil fuel) การขาดแคลนแร่โลหะ สารที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ธาตุหายาก (rare earth) ตลอดจนขาดแคลนปุ๋ยฟอสเฟต ที่ดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก น้ำที่สะอาด เป็นต้น

 

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ผุดบังเกิดขึ้นได้ในสังคมที่มีความเป็นเชิงซ้อนสูงมาก ในระบบเชิงซ้อนของสังคม-สิ่งแวดล้อม เหตุอันเกิดแต่น้ำมือมนุษย์ (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาย ซึ่งเป็นผลจากความสุรุ่ยสุร่ายที่จะสกัดเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์ที่อยู่ใต้ดินมานับล้านปี มาใช้ให้หมดไปในไม่กี่ชั่วอายุคน!) กว่าจะเห็นผล เช่น ภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นเมตรจนท่วมพื้นที่ที่อยู่ติดทะเล เหตุการณ์สุดโต่งทางภูมิอากาศ ภัยพิบัติธรรมชาติ ฯลฯ ก็ใช้เวลาหลายสิบปี ซ้ำร้าย เมื่อผลเสียเกิดขึ้นแล้ว จะย้อนกลับไประงับเหตุ (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) ก็ทำได้ยาก หรือทำได้ก็ใช้เวลาอีกนานกว่าจะเห็นผลในเชิงบวก

 

ในช่วงเวลาที่สังคมกระหายพลังงาน ต้องการสกัดพลังงานมาเพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของเอนโทรปี คาดได้ว่าพลังงานจะขาดแคลนหรือแพงขึ้น การผลิตพลังงานที่มีการเติบโตมาตลอด กำลังจะคงตัวหรือลดลง ตัวบ่งชี้ที่สำคัญคือ EROI หรือ Energy Return On Investment

 

การผลิตน้ำมันดิบคุณภาพสูงที่มี EROI 17 : 1 มาถึงระดับคงตัว (plateau) ในปี ค.ศ. 2004 – 2009 การผลิตน้ำมันดิบคุณภาพต่ำ เช่นจากทรายปนน้ำมัน (tar), จากหินดินดาน (shale) มี EROI ต่ำ (4:1 หรือต่ำกว่า) ถ้า EROI ลดลงเหลือ 1 : 1 คงไม่คุ้มการลงทุน การผลิตพลังงานจากถ่านหินคงถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2026 -2057 ยูเรเนียมเกรดสูงจะขาดแคลนในไม่กี่ทศวรรษหน้า เมื่อนั้น เป็นไปได้ว่าระบบกายภาพจะขาดความสมดุลหรือเกิดความชะงักงัน

 

เมื่อระบบของโลกพิภพเกิดความชะงักงัน (Earth System Disruption, ESD) ผลที่ตามมาคือการขาดเสถียรภาพของระบบมนุษย์ (Human System Destabilization, HSD) ผลสืบเนื่องจาก HSD คือการขยายตัวของอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการทหาร ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ การขยายตัวดังกล่าวหมายถึงการตรึงฐานที่มั่น (entrenchment) ไม่ยอมลดภาวะชะงักงันของโลกพิภพ (ไม่ลด ESD) ผลป้อนกลับคือการขาดเสถึยรภาพยิ่งขึ้นของสังคมมนุษย์ (เพิ่ม HSD) 

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเติบโตของการบริโภคพลังงานระหว่าง ค.ศ. 1969 ถึง 2013 GDP ของโลกแปรผันอย่างเป็นเชิงเส้นกับการบริโภคพลังงาน ตั้งแต่ ค.ศ. 1984 การเติบโตของการบริโภคพลังงานและของ GDP มีค่าเกือบคงตัว (เป็น plateau) คาดการณ์ว่าการผลิตเชื้อเพลิงซากพืชซากสัตว์รวมทั้งหมดจะถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2035 ดังนั้นในครึ่งหลังของศตวรรษนี้  เศรษฐกิจจะหยุดเติบโต คาดการณ์ว่า
 

•    มหาสมุทรจะมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น จากค่า pH = 8.17 ใน ค.ศ. 1850 มาเป็นค่า pH = 7.87 ในปี ค.ศ. 2100
•    จะเกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ
•    อาหารจะขาดแคลนมากขึ้นในบางเขตของโลก 
•    จะเกิดเคราะห์กรรมซ้ำสามแก่สังคมมนุษย์ ได้แก่ : น้ำมันแพง, เครดิตล้มเพราะหนี้, ภาวะโลกร้อน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้มีอำนาจอาจจะพยายามผลักภาระให้สังคม (socialize cost) ส่วนกำไรให้เอกชน (privatize profit) ความรุนแรงทางการเมืองจากตัวละครนอกภาครัฐ (non-state actors) จะทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอลง ความขัดแย้งภายในรัฐเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการก่อการร้าย

 

การแข่งขันช่วงชิง การก่อความไม่สงบ ความขัดแย้งรุนแรง ฯลฯ อันเป็นผลจากการขาดเสถียรภาพของระบบมนุษย์ (Human System Destabilization, HSD) ก็ตามมา สรุปก็คือ การที่ระบบเชิงกายภาพล้มเหลวอาจส่งผลให้ระบบมนุษย์ขาดเสถียรภาพ ความล้มเหลวของรัฐจะผุดบังเกิด อันเป็นผลจาก ESD และ HSD ที่มีการป้อนกลับต่อกันและกัน

 

ฉากทัศน์ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่เราไม่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะหยุดม้าที่ขอบเหว หันมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ Nafeez

 

ผู้แต่งหนังสือเล่มที่ผมนำมาอ้างนี้ มีข้อเสนอพอสรุปได้ดังนี้ สังคมมนุษย์ต้องช่วยกัน


•    พัฒนาพลังงานสะอาด
•    ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
•    ปฏิบัติใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) : มีการนำวัสดุมาใช้ประโยชน์ใหม่ตลอดห่วงโช่ (chain) การผลิตและการบริโภค 
•    คิดค้นนโยบายสร้างความเจริญรุ่งเรืองโดยไม่เติบโต
•    ปฏิวัติระบบสารสนเทศในเชิงบวกเพื่อเพื่อนมนุษย์
•    ปลดปล่อยให้มนุษย์ทุกคนได้พัฒนาตามศักยภาพและมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการทะนุถนอมโลกใบนี้ไว้ให้ลูกหลาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ