คอลัมนิสต์

"แก้รัฐธรรมนูญ" บัตรสองใบไม่ใช่คำตอบ โคทมท้ารัฐทำประชามติรธน.

03 ต.ค. 2564

"โคทม"ชี้"แก้รัฐธรรมนูญ" ​ใช้บัตรเลือกตั้ง​ 2ใบ​ ไม่ทำให้จำนวนส.ส.​เพิ่มขึ้นหรือลดลง​ แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบการเลือกตั้ง เผยอยากเห็นประชามติจากประชาชน​ในการเลือกตั้ง สสร.มากกว่า

 

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมร่าง"รัฐธรรมนูญ"ในประเด็นบัตรเลือกตั้ง โดยส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติม"รัฐธรรมนูญ" เสนอ"นายกรัฐมนตรี"เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีคำถามตามมามากมาย ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขประเด็นบัตรเลือกตั้ง และหัวใจหลักสำคัญของการแก้ไขรธน.นั้นคืออะไร 

 

"คมชัดลึกออนไลน์" ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองกับ รศ.โคทม อารียา​  อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง​(กกต.)​ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ​(สนช.)​เกี่ยวกับปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ 

 

"รศ.โคทม" กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปรับปรุงบัตรเลือกตั้ง​ โดยยืนยันว่าการได้มาซึ่ง​ส.ส.นั้น​ ไม่เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งว่าจะมี 1ใบ หรือ2ใบ​ แต่เป็นเรื่องของระบบที่มีมาตั้งแต่ปี​ 2540 ที่ระบบเลือกตั้งแบบผสมระบุให้มี​ส.ส.2​ประเภท​ คือแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ

รศ.โคทม อารียา  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.)

 

"การเลือกตั้งในปี​ 2540,​ 2550​ และ​ 2560/1​ไม่เหมือนกัน​ แต่​2560/2​ จะเหมือนกับปี​ 2540,2550  คือใช้ระบบผสมแบบคู่ขนาน​ คือต่างฝ่ายต่างทำ​ เลือกตั้งเขต1ใบ​ และส.ส.บัญชีรายชื่อ​ สำคัญที่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ แต่ถ้าส.ส.คู่ขนาน​ คำนวณจากคะแนนที่ได้จากบัตรเลือกบัญชีรายชื่อเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเขต​ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา​ 2560/1​ เปลี่ยนเป็นเลือกตั้งแบบผสม​ ได้ส.ส.เขตแล้วเอา​ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปเพิ่มให้​เพื่อให้ผลบวกส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ​ คือส.ส.รวมเป็นไปตามสัดส่วนของคะแนนพรรคหนึ่งพรรคใดได้รับทั้งประเทศ​ ไม่เหมือนการเลือกตั้งในปี​ 40​ กับ50​ และปัจจุบันที่กำลังจะแก้ไข​"  อดีต​ กกต.​ กล่าวและว่า 

ระบบผสมแบบสัดส่วนสามารถใช้บัตรเลือกตั้ง2ใบได้​ ขึ้นอยู่กับวิธีคำนวณ​ ส.ส.รวม​ เนื่องจากปัจจุบัน​ส.ส.เขตและบัญชีรายขื่อคำนวณแยกกัน​ การเลือกตั้ง​ 2560/1​ ได้ส.ส.เขตแล้วมาคำนวณบัญชีรายชื่อ​ ดังนั้นส.ส.เขตจะเยอะ​ แล้วมาเติม​บัญชีรายชื่อน้อย​

 

"จำนวน​สส.​แตกต่างแน่นอนถ้าได้​ สส.เขตเยอะ​ แบบบัญชีรายชื่อก็จะได้เยอะเช่นกันเพราะได้คะแนนเยอะ​ คือได้ทั้งคู่​ แต่ถ้าแบบสัดส่วนได้ส.ส.เขตเยอะ​ ก็อาจจะไม่ได้บัญชีรายชื่อเลยเหมือนกรณีพรรคเพื่อไทย" รศ.โคทม​ กล่าว

 

อดีต​ สนช.​ กล่าวอีกว่า​ โดยธรรมชาติการเลือกตั้งในระบบสัดส่วนคะแนนเสียงจะกระจาย​ พรรคเล็กได้ที่นั่งบ้าง​ กับพรรคที่ได้คะแนนเสียงจำนวนมาก​ ถ้าระบบคู่ขนานจำนวนพรรคที่จะเข้าไปอยู่ในสภาบางทีจะลดลงเพราะ​ 1.พรรคเล็กมีพื้นที่น้อยหวังได้​ส.ส.เขตสัก1คน​ แต่ไม่แน่เมื่อได้คะแนนน้อยไปดูบัญชีรายชื่อก็อาจไม่ได้​ส.ส.เลย​ และ​

 

2.​ถ้าดูว่าระบบแบ่งเขต​ 400​ คน ​เอื้อพรรคใหญ่ ​2 พรรค​ พรรคใหญ่ได้ส.ส.เขตแล้วมีส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น​ ระบบนี้เอื้อต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่​ แล้วทำให้พรรคขนาดกลางอาจจะลดขนาดลง​

 

"รศ.​โคทม"​ ให้ความเห็นว่า​ หลังจากนี้ภายใน​ 120​ วันจะมี​ พรป.​ แล้วจะเห็นกติกาชัดเจน​ ต้องถามใจนายกรัฐมนตรีว่าจะยุบสภาเลยหรือไม่หลังจากมี​ พรป.​แล้ว​ ถ้านายกฯบอกจะอยู่ยาวครบวาระก็ต้องแล้วแต่​ ซึ่งต้องเตรียมแผน​1 ​แผน 2​ ไว้​ 

 

" สิ่งที่ควรทำระหว่างนี้ จี้รัฐบาล ประชามติร่างรธน."

 

"ถ้ายุบสภาทำอย่างไร​ เลือกตั้งปี​ 2565 หรืออยู่ยาวครบวาระ​จะอย่างไร​ ผมเข้าใจว่าเหลืออีก1ปีกว่าๆ​ คือจะมีเลือกตั้งปี​ 2566 ผมอยากมุ่งไปที่ประชามติถามประชาชนว่าเห็นชอบกับการทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิก​ สสร.​มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน​ โดยใช้หลักการที่เคยผ่านรัฐสภาในวาระที่2​แล้ว​ ถ้าเห็นชอบรัฐสภาจะได้ดำเนินการหารือการบ้านเดิมที่เคยผ่านวาระ 2 ขึ้นมาปัดฝุ่นแก้ไขมาตรา​ 256 หรือโหวตว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่​ ตรงนั้นฝ่ายประชาชนน่าจะให้ความสนใจ​ ถ้าขยันหน่อยก็เข้าชื่อกันเสนอคณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​หรืออย่างน้อยสื่อช่วยสนับสนุนบอกครม.​ ให้ส่งเรื่องไปรัฐสภาให้ขยับหน่อย​ เพราะต่อให้มีการเลือกตั้งแต่รัฐธรรมนูญเป็นอย่างที่ทราบกันอยู่ก็จะอึมครึมไม่มากก็น้อย"  รศ.โคทม​  กล่าว

 

ทั้งนี้​ "รศ.โคทม"​ ยืนยันว่า​ กระบวนการนี้ไม่เกี่ยวโยงกับการแก้รัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้งแต่อย่างใด​ โดยมี​ 3​ ประเด็นที่สามารถทำได้เลยทันทีคือ​  1.ประชาชนนำ​ 5หมื่นรายชื่อ ​ 2.รัฐสภามีมติเสนอ​ครม.ทำประชามติได้หรือไม่​ และ3.ครม.​เห็นชอบ​โดยไม่ต้องรอ 5 หมื่นรายชื่อและรัฐสภา​ ถ้าอยากทำก็ทำได้ทันที

 

"ปลายทางของเราไม่ได้อยากได้รัฐธรรมนูญที่มาจากภาคประชาชน​ ภาคธุรกิจ​ ราชการ​ ​นักการเมือง​ ถ้าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนต้องเป็นความเห็นพ้องของทุกฝ่าย​ ผมเห็นว่า​ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางรวมทั้งพยายามต่อสิ่งละอันพันละน้อยของรัฐธรรมนูญ​ ซึ่งเดี๋ยวก็อึดอัดขัดข้องกันเปล่าๆ​ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับกระทัดรัดใส่หลักการใหญ่ๆไว้มันก็อาจมีความยั่งยืนมากขึ้น​ที่ผ่านมาเราชอบใส่รายละเอียดมากขึ้น​ ลองสังเกตดูว่ารัฐธรรมนูญมีมาตราเพิ่มมากขึ้น​" รศ.โคทม​ กล่าว​

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง