คอลัมนิสต์

3วันอันตราย เหินฟ้าไปนอกท่ามกลางการชิงจังหวะ"นายกฯขาลอย"

31 ต.ค. – 3 พ.ย. "ลุงตู่"  ไม่ได้อยู่เมืองไทยถึง 3 วัน อาจเรียกได้ว่าเป็น “3 วันอันตราย” เพราะไม่มีใครรู้ว่าในห้วงเวลาที่ลุงตู่ไม่อยู่นี้ โดยมี “ลุงป้อม” ทำหน้าที่บริหารจัดการบ้านเมืองแทน จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดขึ้นได้หรือไม่ ติดตามได้เจาะประเด็นร้อน

 

ท่ามกลางไฟสุมทรวงที่อาจปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงแม้ว่าตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะถกกับ 6 รัฐมนตรีของพรรคยังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แล้วยังเคลื่อนพลไปถกกันต่อที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยมี  "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ร่วมวงด้วย บนใจความสำคัญหลักๆ คือต้องการปลด "ผู้กองตุ๋ย" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นเก้าอี้เลขาธิการพรรค พปชร. ด้วยการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ แต่แล้วสิ่งที่คิดฝันและหวังไว้ก็สะดุด เมื่อบิ๊กป้อม กระโดดเข้ามาดับไฟร้อนให้มอดลงได้ในชั่วข้ามคืน ปิดฉากร้อนการเมืองภายในพรรค พปชร.

 

3วันอันตราย เหินฟ้าไปนอกท่ามกลางการชิงจังหวะ\"นายกฯขาลอย\"

เจาะประเด็นร้อน “เมฆ เมฆา” จับทิศทางความเคลื่อนไหวของพรรค พปชร. ณ เวลานี้ แม้อาจจะยังไม่มีแรงกระเพื่อมรอบใหม่ แต่ก็ยังไม่อาจไว้วางใจได้เพราะในช่วงระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 3 พ.ย.นี้  "ลุงตู่"  ไม่ได้อยู่เมืองไทยถึง 3 วัน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “3 วันอันตราย” ก็ได้เพราะไม่มีใครรู้ว่าในห้วงเวลาที่ลุงตู่ไม่อยู่นี้ โดยมี “ลุงป้อม” ทำหน้าที่บริหารจัดการบ้านเมืองแทนลุงตู่นั้น จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะเป็นที่รู้กันว่าลุงตู่นั้นเป็น "นายกฯ ขาลอย” ไร้พรรคสังกัด จะหลับตานอนก็ยังนอนหลับไม่สนิทเลยสักคืน

 

ในห้วงที่ไฟร้อนภายในพรรคเพิ่งดับลง แต่แล้วนายกฯ และคณะกลับต้องบินไปประชุมที่ต่างประเทศอย่างปฏิเสธไม่ได้ และเป็นการบินออกนอกประเทศครั้งแรกของลุงตู่ในรอบเกือบ 2 ปี นับแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 โดยค่ำวันที่ 31 พ.ย.นี้ เวลา 18.20 น. นายกฯ และคณะ จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยาน Glasgow Prestwick เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร 

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงสัญลักษณ์ถึงความมั่นใจ

 

การบินออกนอกประเทศครั้งนี้ก็เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 ระหว่างวันที่ 1-2 พ.ย. 2564 ซึ่งการประชุม COP26 มีขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 โดยนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรได้เชิญประมุขและผู้นำรัฐบาลจากทั่วโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวมกว่า 25,000 คน เข้าร่วมการประชุมด้วย

 

ก่อนหน้านี้ โฆษกประจำสำนักนายกฯ นายธนกร วังบุญคงชนะ แจ้งไว้ว่าในการประชุมระดับผู้นำ COP26 ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์ของไทยต่อความท้าทายสำคัญของโลก เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นายกฯ จะได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงปารีส และย้ำให้ประชาคมโลกทราบถึงเป้าหมายของไทย และการดำเนินการที่แข็งขันของไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ก่อนเดินทางไปสก๊อตแลนด์

 

การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ของลุงตู่และคณะ นับเป็นเครดิตของประเทศและเพิ่มความน่าเชื่อถือของไทยและผู้นำไทยต่อประชาคมโลกในความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข่าวไว้ก่อนแล้วว่า การประชุมดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญของการประชุมเพื่อหารือรายละเอียดความร่วมมือและกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลก ภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส ครอบคลุมประเด็นด้านเทคนิค และประเด็นด้านการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของกรอบอนุสัญญาฯ โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องหารือในการประชุมครั้งนี้ อาทิ การกำหนดกลไกความร่วมมือสำหรับการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ การกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานตามเป้าหมายที่ประเทศกำหนด การกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องให้การสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกำหนดรูปแบบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก และการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เป็นต้น

 

ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯที่เคยบินออกนอกประเทศและถูกยึดอำนาจเมื่อปี49 จนป่านนี้ ยังไม่ได้กลับประเทศเพื่อมารับโทษคดีทุจริต

 

สิ่งที่ชวนลุ้นและน่าจับตามอง นอกเหนือจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้คือ เมื่อลุงตู่บินออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ก็หวังว่าลุงตู่และคณะจะบินกลับเข้าประเทศได้อย่างปลอดภัยเพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อดีตนายกฯ นายทักษิณ ชินวัตร และคณะ ก็เคยบินออกนอกประเทศเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงวันที่ 10-21 ก.ย. 2549 

 

แล้วในที่สุดนายทักษิณ ก็ไม่ได้กลับบ้าน นับแต่นั้นมาเป็นเวลานานถึง 15 ปี บนเส้นทางการเมืองนอกประเทศและนอกสภา ที่นายทักษิณ ยังคงเป็นผู้กุมชะตาพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด หลังถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยอ้างว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย จนนำมาสู่การประกาศแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค. 2549 

 

หวังว่า “ลุงตู่” ในภาพ “นายกฯ ขาลอย” วันนี้.. คงไม่เกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ“โทนี วู้ดซัม” เป็นแน่..!!

3วันอันตราย เหินฟ้าไปนอกท่ามกลางการชิงจังหวะ\"นายกฯขาลอย\"
 

ข่าวยอดนิยม