คอลัมนิสต์

นักการเมืองจากเทคโนแครตต้องปรับตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักการเมืองจากเทคโนแครตต้องปรับตัว โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

ในที่สุดความพยายามกดดันให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลาออกจากตำแหน่งก็ประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าภายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะมีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค ฯ ชุดใหม่ รวมถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และตำแหน่งที่สำคัญอื่น ๆ ในพปชร. 

ส่วนหนึ่งของการกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหาร พปชร. เกิดจากเสียงสะท้อนของ สส. และสมาชิกพรรค ฯ ว่า หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และรัฐมนตรีของพรรคที่กลายร่างมาจากเทคโนแครต ไม่ดูแล สส. และสมาชิกพรรค และการเข้าถึงบุคคลสำคัญของพรรค ฯ เหล่านี้ก็แสนจะยาก ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้พุ่งเป้าโดยตรงไปที่กลุ่มสี่กุมารที่มีตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาล อย่างดร.อุตตม สาวนายนหัวหน้าพรรคนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เลขาธิการพรรค ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูลกรรมการบริหารพรรค

ประวัติของสี่กุมารที่ค่อนข้างดีทั้งในด้านการศึกษาและประสบการณ์การทำงานทางวิชาการและการบริหาร ประกอบกับ ได้รับการสนับสนุนจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเกือบทุกรัฐบาล จึงกลายเป็นเทคโนแครตที่กระโดดเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ในยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสชซึ่งแน่นอนการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในยุครัฐบาล คสช. ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองมากมายนัก รวมถึงไม่ต้องเจรจาต่อรองประนีประนอมหรือมีปฏิสัมพันธ์แบบเกื้อกูล กับก๊วนกลุ่มหรือมุ้งต่าง ๆ ทางการเมือง แค่ทำงานให้เข้าตานายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พอแล้ว

แต่เมื่อกลุ่มสี่กุมารตัดสินใจเข้ามาเป็นนักการเมืองเต็มตัวภายใต้ แบรนด์ พปชร. และได้รับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญทั้งในพรรค ฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งสี่คนก็ควรจะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการเมืองแบบไทย ๆ ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับกลุ่มการเมืองภายในพรรคและนอกพรรค รวมถึงต้องเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีกับ สส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สส. เขต ที่ยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม จากเสียงสะท้อนภายใน พปชร. ดูเหมือนว่าเทคโนแครตทั้งสี่คนยังไม่สามารถปรับตัวให้เป็นนักการเมืองภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ทั้งสี่กุมารยังคงทำตัวเสมือนคนนอกพรรคที่ถูกเชิญให้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ของ สส. และ สมาชิกพรรค (ถ้าใส่ใจ คงไม่ถูกกระแสกดดันให้ออก)

ตั้งแต่อดีตนักการเมืองที่มาจากเทคโนแครต ไม่ว่าจะมาจากสายนักบริหารหรือสายนักวิชาการ ส่วนใหญ่จะมี ego หรืออัตตาที่สูง แบบคนที่ชอบมองว่าตัวเองแน่ ถูกต้องเสมอ ดื้อไม่ฟังใคร และบางคนอาจเป็นถึงขั้นแบ่งแยกชนชั้น ระหว่างตนเองที่เคยเป็นนักบริหารหรือนักวิชาการที่ประสบความสำเร็จและมีความรู้สูง กับนักการเมืองทั่วไปที่ถูกเทคโนแครตมองว่าเป็นพวกแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์และมีคุณสมบัติส่วนตัวสู้พวกเทคโนแครตไม่ได้ 

มุมมองแบบแบ่งแยกของเทคโนแครตเช่นนี้ มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานร่วมกับนักการเมืองอาชีพโดยฝ่ายเทคโนแครตมักจะชอบบอกว่าพวกเขาเป็นคนดี เสียสละเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่สนใจเรื่องการเมือง ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเกิดความเหินห่างกันมากขึ้น ในขณะที่นักการเมืองอาชีพ โดยเฉพาะพวก สส. เขต และอดีตผู้สมัคร สส. เขต ที่ต้องลงพื้นที่สม่ำเสมอนั้น ส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับวัฒนธรรมการเมืองแบบอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องสาธารณะหรือส่วนตัว ซึ่งไม่ว่าประชาชนจะเรียนเชิญให้มาร่วมงานประเภทใด ก็ต้องไปให้ได้ไม่ว่าประชาชนจะร้องเรียนเรื่องอะไร พวกเขาก็ต้องดูแลแก้ไขปัญหาให้ จึงทำให้มีความต้องการการสนับสนุนทั้งในเชิงทรัพยากรและนโยบายจากแกนนำพรรคหรือรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างทั่วถึงหรือเพียงพอ ความน้อยใจ หรือไม่พอใจจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการเมืองไทย

จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต เราได้เห็นเทคโนแครตไม่ว่าจะมาจากนักบริหารที่เก่งและนักวิชาการชื่อดังจำนวนมากเข้ามาในแวดวงการเมืองแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการมีอัตตาที่สูง ปรับตัวไม่ได้ และไม่อดทนที่จะต่อสู้ทางการเมือง ในขณะที่บางคนเมื่อไม่ได้ดังใจหวัง ก็แค่เลิกเล่นการเมืองไป แต่ก็มีบางคนหันกลับมาชี้หน้าด่าระบบการเมืองไทยและนักการเมืองไทยต่าง ๆ นา ๆ โดยไม่เคยมองตัวเองเลยว่า ทำไมไม่อดทนต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ดีขึ้นให้ได้

การจะเป็นนักการเมืองควรต้องยึดโยงกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในเขตพื้นที่เลือกตั้ง สส. แบบเขตคือผู้ที่พิสูจน์ตนเองอย่างชัดเจนแล้วว่าได้รับฉันทามติจากประชาชนในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร และการจะเป็น สส. แบบเขตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัดและชานเมืองกรุงเทพมหานคร จะต้องใช้เวลาในการคลุกคลีกับประชาชนในพื้นที่ เข้าใจปัญหาในพื้นที่ มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคงต้องรวมถึงเครือข่ายในเชิงอุปถัมภ์ตามลักษณะวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ฝั่งรากลึกมาแต่อดีตและยากที่จะถอนออกได้

อย่างไรก็ตาม เราไม่ค่อยเห็นเทคโนแครตที่ดัง ๆ กระโดดไปให้ประชาชนพิสูจน์ในเขตเลือกตั้งเท่าไรนัก ส่วนใหญ่เราจะพบเทคโนแครตเข้ามาสู่การเมืองแบบประชาธิปไตย ในสามรูปแบบ พวกแรกคือ พวกที่ลอยมาจากไหนก็ไม่รู้แล้วมาคว้าตำแหน่งในรัฐบาลตามโควต้านายกรัฐมนตรี ผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือแกนนำพรรคการเมือง โดยไม่เคยผ่านการต่อสู้ดิ้นรนทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ พวกนี้หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงทางการเมืองได้ ในที่สุดก็อาจจะขัดแย้งกับนักการเมืองอาชีพ
พวกที่สองคือพวกที่เข้ามาเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อที่ชีวิตสบาย ไม่ต้องดิ้นรนมาก ซึ่งเป็นความผิดพลาดในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาที่เราหลงผิดคิดว่าการมี สส. แบบบัญชีรายชื่อ (party list) จะทำให้เราได้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อประเทศอย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องพะวงกับการต่อสู้ทางการเมืองในเขตเลือกตั้ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ เราก็ยังคงได้ สส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งที่เป็นนายทุนพรรค นักการเมืองที่มีบทบาทแต่ประชาชนไม่ค่อยปลื้ม คนดังและนักการเมืองที่มาจากเทคโนแครตแต่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่เลือกตั้งใด ๆ เลย เป็นต้นด้วยเหตุนี้เองการแย่งพื้นที่ปลอดภัยในบัญชีรายชื่อช่วงก่อนการสมัครรับเลือกตั้งจึงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ซึ่งเทคโนแครตบางคนเมื่อไม่ได้รับการจัดให้อยู่ในรายชื่อต้น ๆ ก็อาจไม่พอใจและตัดสินใจไม่ลงสมัคร
ประเภทที่สามคือพวกเทคโนแครตที่ต้องต่อสู้บ้าง แต่หากเป็นไปได้ขอลงพื้นที่ปลอดภัยที่มีฐานคะแนนเสียงของพรรคเป็นทุนเดิมอยู่แล้วหรือในเขตพื้นที่ที่พรรคกำลังมีกระแสดี ทั้ง ๆ ที่บางคนยังไม่เคยรู้จักพื้นที่นั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครที่ชัยชนะส่วนหนึ่งจะเกิดจากฐานเสียงดั้งเดิมหรือกระแสของพรรคในขณะนั้น

เทคโนแครต ที่ต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองควรจะกระโดดลงมาให้ประชาชนตัดสินว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลง สส. เขต ที่เป็นการเสนอตัวเองโดยตรงให้ประชาชนตัดสินซึ่งต้องต่อสู้และเผชิญกับปัญหานานาชนิด ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ช่วงเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง  การเป็น สส. เขต ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนลงสมัครกี่ครั้งก็ไม่เคยชนะ แต่ก็ต้องชื่นชมในความพยายามพิสูจน์ตนเอง บางคนชนะบ้างแพ้บ้าง แต่บางคนก็ชนะตลอดไม่เคยแพ้ ฉะนั้น ความอดทนและการยึดโยงกับพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้ที่ต้องการเป็น สส. เขต

นอกเหนือจากนั้นแล้ว เทคโนแครตที่ต้องการเป็นนักการเมืองต้องลดอัตตาของตนเองลงและมีความอดทนให้มากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ดังใจปรารถนาบ้าง จะต้องถูกแซะออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญในพรรคบ้าง หรือแม้กระทั่งอาจจะสอบตกไม่ได้เป็น สส. บ้าง  อย่าอ้างในทำนองว่า ถ้ากดดันมาก ๆ จะไม่มีคนดี (เทคโนแครต ดี ๆ) เข้ามาทำงานการเมือง

จำไว้...กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ