ชีวิตดีสังคมดี

เปิด 'เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุด' ปี 2568 คนกรุง หวัง ได้ใช้

ความหวังคนกรุง กาง 'เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุด' ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มีสถานีไหนบ้าง คาด ปี 2568 ได้ใช้ทุกเส้นทาง

ยังเป็นที่รอคอยของคนกรุง ที่จะได้ใช้งาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นโครงการส่วนตะวันออก จนเกิดคำถามว่า “รถไฟฟ้าสายสีส้ม เสร็จปีไหน” หรือ รถไฟฟ้าสายสีส้มเสร็จเมื่อไหร่ ล่าสุด การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม แล้วเสร็จประมาณ 98.65% แล้ว คมชัดลึก พา เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุด และทำความรู้จักข้อมูลพื้นฐานรถไฟฟ้าสายสีส้มกันก่อน

ทำความรู้จัก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

 

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) เหมือนกับ BTS ที่เปิดใช้บริการอยู่ในปัจจุบัน รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง และใช้ความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้าง เส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้ามหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การร่วมลงทุนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางภายในเขตเมือง ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ของกรุงเทพมหานคร มีระยะทางรวมทั้งหมด 35.9 กิโลเมตร ตั้งแต่บางขุนนนท์-มีนบุรี โดยแบ่งเป็น สายตะวันออก-สายตะวันตก

 

 

รถไฟฟ้าสายสีส้มมีสถานีไหนบ้าง

 

สายตะวันออก : จะเป็นเส้นทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก “ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยแต่ละสถานีมีดังนี้

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม

  • OR13 สถานี ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
  • OR14 สถานี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • OR15 สถานี วัดพระราม 9
  • OR16 สถานี รามคำแหง 12
  • OR17 สถานี รามคำแหง
  • OR18 สถานี การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
  • OR19 สถานี รามคำแหง 34
  • OR20 สถานี แยกลำสาลี
  • OR21 สถานี ศรีบูรพา
  • OR22 สถานี คลองบ้านม้า
  • OR23 สถานี สัมมากร
  • OR24 สถานี น้อมเกล้า
  • OR25 สถานี ราษฎร์พัฒนา
  • OR26 สถานี มีนพัฒนา
  • OR27 สถานี เคหะรามคำแหง
  • OR28 สถานี มีนบุรี
  • OR29 สถานี แยกร่มเกล้า

 

 

โดยทั้งหมดจาก 17 สถานี รถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังมีสถานีหลักที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นอีก 3 สาย ประกอบไปด้วย

 

  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ตรงสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถเดินทางระหว่างสถานีหัวลำโพง-สถานีบางซื่อ-สถานีหลักสอง
  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ตรงสถานีแยกลำสาลี สามารถเดินทางระหว่างสถานีสำโรง-สถานีลาดพร้าว
  • เชื่อมต่อรถไฟฟ้า สายสีชมพู ตรงสถานีมีนบุรี สามารถเดินทางไประหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

 

 

สายตะวันตก : เส้นทาง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์” ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 11 สถานี แนวเส้นทางในส่วนตะวันตกเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด โดยจะเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟร่วมศิริราช โรงพยาบาลศิริราช, รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง, รถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีราชเทวี, รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่สถานีราชปรารภ และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล

ภาพรวมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เสร็จปีไหน

 

ตามแผนงานเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ส่วนของการเดินรถนั้น มีรายงานข่าวว่า ทาง BEM จะทยอยนำขบวนรถมาทดสอบเดินรถภายใน 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกได้ก่อน นอกจากนี้ จะปรับแผนงานการก่อสร้างส่วนตะวันตกให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย

 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย, mrta-orangelineeast.