คอลัมนิสต์

เลิกดันทุรังเถอะ "คนอยากล้มเลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนาง บางปะกง


 

          เปรียบเทียบจำนวน “ผู้ชุมนุม” ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระหว่าง 8 มกราคม ที่สกายวอล์ก แยกราชประสงค์ กับ 13 มกราคม ที่แยกราชประสงค์ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด

 

 

          จำนวนผู้เข้าร่วมทำกิจกรรม “ไม่เลื่อนเลือกตั้ง” ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดลงเท่ากับ “คนหน้าเดิมๆ” ที่เป็นเอฟซีโบว์ เอฟซีจ่านิว 

 

          ด้วยความเชื่อในทฤษฎีการเมืองเก่าๆ พลังประชาชนจะโค่นล้มเผด็จการ โดยดูตัวอย่างจาก 14 ตุลา และพฤษภา 35 เป็นโมเดล อานนท์ นำภา, จ่านิว, โบว์ และคนเสื้อแดงสูงวัย จึงเดินหน้าปลุกพลังมวลชน ไม่เลิกไม่รา


          สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่าง คสช. กับกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมนั้น เริ่มเมื่อกลางปี 2558 มีกลุ่ม “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เป็นเรือธง โดยก่อตัวขึ้นในวันครบรอบหนึ่งปีการทำรัฐประหาร และพวกเขาได้ออกมาแสดงออกทางการเมืองเชิงสัญลักษณ์ ทั้งที่ขอนแก่น และกรุงเทพฯ


          24 มิถุนายน 2558 ตำรวจได้ขอศาลออกหมายจับนักเคลื่อนไหวต้าน คสช. 14 คน ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. มาตรา 116

 

          ต่อมา แกนนำ 14 คน ถูกนำตัวไปฝากขังในเรือนจำ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนให้ปล่อยตัวหนุ่มสาวเหล่านั้น ในที่สุด พวกเขาได้รับการปล่อยตัวออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อ 8 กรกฎาคม 2558


          ปี 2561 มีกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” มาแทนขบวนการเดิม แต่แกนนำหน้าเก่าคือ “รังสิมันต์ โรม” และเพื่อนๆ หน้าใหม่อีก 4-5 คน เหมือนฉายหนังม้วนเดิม มีการเปลี่ยนหน้า “ตัวละคร” ไปบ้าง




          ตลอดปีที่แล้ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งทำกิจกรรมบ่อยมาก และยกระดับ “เดินขบวน” คราวครบรอบปีการยึดอำนาจ มวลชนที่เข้าร่วมไม่เยอะ เพราะทดสอบการชุมนุมมา 5-6 ครั้งแล้ว พวกเขาตัดสินใจเดินหน้า และยอมให้ถูกจับกุม แต่ไม่เลือกเล่น “เกมแรง” เพราะต้องการกระแสความรู้สึกเห็นใจจากผู้คนทั่วไป


          หลังแกนนำคนอยากเลือกตั้งถูกจับ นักเลือกตั้งก็ดาหน้ามา “โหนกระแส” ปลุกระดมต้าน คสช. ผ่านสื่อออนไลน์อย่างหนัก แถมมีเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โด่งดัง ก็เลยโหมกระแสกันใหญ่


          ตกปลายปี แกนนำคนอยากเลือกตั้งหลายคน ถอยออกไปเล่นการเมืองในสีเสื้อ “พรรคอนาคตใหม่” อย่างรังสิมันต์ โรม และปิยรัฐ จงเทพ ยุทธการ “ค้านการเลื่อนเลือกตั้ง” รอบนี้ จึงนำโดย “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา


          แม้ผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมจะลดลง แต่จ่านิวประกาศนัดชุมนุมบนท้องถนน หากไม่มีการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 การแสดงออกในท่าทีที่แข็งกร้าว เหมือนจงใจยั่วยุฝ่ายรัฐบาล


          ตรงกันข้าม “อานนท์ แสนน่าน” แกนนำหมู่บ้านเสื้อแดง ที่เพิ่งกลับมาทำกิจกรรม “หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย” ใช้กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เป็นเครื่องมือหาเสียงทางอ้อม ไม่ใช่การชุมนุมสร้างความปั่นป่วน


          ก่อนสิ้นปี 2561 อานนท์เดินทางไปพบทักษิณที่สิงคโปร์ และกลับมาพร้อมกับโครงการ "หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย" เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในฐานะภาคประชาชนอยากเลือกตั้ง และต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


          ขณะที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็เปิดเว็บไซต์ส่วนตัว นำเสนอความคิดความเห็นทุกวันจันทร์ โดยเริ่มต้นที่เรื่องเศรษฐกิจโลกในปี 2019 และ 2020 ที่จะกระทบกับธุรกิจรายย่อย ปากท้องและคุณภาพชีวิตของคนไทย


          แสดงว่าฝ่ายพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาชนในเครือข่ายชินวัตรเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง แต่ฝ่ายกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และพรรคอนาคตใหม่ ยังเลือกจะเล่นเกมท้องถนน 


          ประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังเหตุนองเลือดหลายครั้ง และผู้ที่ได้ประโยชน์ทางการเมืองคือ กลุ่มชนชั้นนำ(ขุนนาง นายทุน) ส่วนประชาชนก็เป็นแค่เหยื่อ หรือแมลงเม่าระเริงไฟ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ