คอลัมนิสต์

ซัวเถาที่ "ปู" ไป มีอะไรดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยคนอื่นๆ ที่สืบเชื้อสายมาจากจีนแต้จิ๋วแห่งซัวเถาล้วนมีมากมาย

          สมัยก่อนคนจีนโพ้นทะเลรุ่นปู่ย่าตาทวด พากันคว้าเสื่อผืนหมอนใบ กระโดดลงเรือสำเภาที่ท่าเรือเมืองซัวเถา โล้มาจนถึงไทยแลนด์แดนยิ้ม ผ่านชีวิตยากแค้นสาหัสกว่าจะได้ดี

          วันนี้ สาวไทยนั่งเฟิร์สคลาสข้ามทะเลไปเป็นคนใหญ่ที่นั่น ก็อย่างที่รู้พร้อมกันจากข่าว อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่งดำรงตำแหน่งประธานและผู้แทนโดยชอบธรรมของ บริษัท ซัวเถา อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัลส์ จำกัด บริษัทบริหารท่าเรือในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน

 

ซัวเถาที่ "ปู" ไป  มีอะไรดี

 

          ซึ่งที่จริง ต้นตระกูลบ้านนี้ก็สืบเชื้อสายจีนโพ้นทะเลมาจากแถบซัวเถานั่นแหละ ดังที่ทั้งสองพี่น้อง ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เพิ่งเดินทางไปเยี่ยมญาติฝั่งบิดาที่เมืองนี้มาเมื่อช่วงวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา นั่นเอง

          ส่วนที่มาที่ไปลึกๆ ของดีลนี้คืออะไร ก็ว่ากันไป วันนี้มาทำความรู้จักเมืองซัวเถา และตำนานคลื่นทะเลสร้างคนกันดีกว่า

          กล่าวถึง “ซัวเถา” หรือออกเสียงว่า “ซานโถว” เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลจีนตะวันออกแห่งมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ในเขตอารยธรรมจีนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “แต้จิ๋ว” โดยตามข้อมูลระบุว่า “ชาวจีนแตจิ๋ว” เป็นเชื้อสายที่พบมากที่สุดในประเทศไทย

          จะด้วยความที่เป็นเมืองชายฝั่ง หรือเพราะใจเด็ดๆ ของชาวแต้จิ๋ว ที่พากันอพยพล่องเรือออกจากบ้านเกิดไปยังดินแดนต่างๆ รวมถึงไทย หลายระลอกด้วยกัน แต่คำว่า “ดีกว่าอดตายในดาบนี้” มันฝังอยู่ในใจของชาวจีนยุคนั้นทั้งสิ้น

 

ซัวเถาที่ "ปู" ไป  มีอะไรดี

ภาพจากเพจ กรุงเทพ กรุงเทพ (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=375957223233464&set=a.145263856302803&type=3&theater)

          กล่าวคือ จากข้อมูลที่ระบุว่าเมืองไทยมีชาวจีนกลุ่มเชื้อสายต่างๆ อพยพเข้ามาไทย ดังนี้ กลุ่มจีนแต้จิ๋ว มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง, กลุ่มจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน, กลุ่มจีนไหหลำ มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ, กลุ่มจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง และกลุ่มจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง

          โดยช่วงสมัยอยุธยาของไทย ชาวจีนที่ได้เดินทางมายังไทยส่วนใหญ่เป็นชาวฮกเกี้ยนที่มาถึงก็ได้ดิบได้ดีเป็นข้าราชการกันมาก โดยขึ้นฝั่ง แถบภูเก็ต ระนอง สงขลา ปัตตานี

          แต่ชาวจีน “แต้จิ๋ว” ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือระหว่างปี พ.ศ. 2488-2492 เข้ามามากที่สุด เพราะนอกจากหนีภัยสงครามจากน้ำมือคนแล้ว บ้านเมืองยังเกิดทุพภิกขภัย แห้งแล้ง อดอยากไปทั่วหัวระแหง อยู่ไปเท่ากับรอวันตาย

          ว่ากันว่า ตัวเลขคราวๆ ระบุว่ามีชาวแต้จิ๋วกว่าสองล้านคนที่บ่ายหน้ามายังแดนสยาม รวมถึง มาเลเซีย และ สิงคโปร์

          ขณะที่ยังมีเรื่องเล่าปากต่อปากจากบรรพบุรุษชาวซัวเถาในบางมุม ที่สมาชิกเวบไซต์พันทิปผู้ภาคภูมิใจในความเป็นลูกหลานชาวจีนแต่จิ๋วได้เล่าเอาไว้

          เพราะคงไม่มีใครเถียงว่า ชาวจีนนั้นได้ชื่อว่าขยันและมานะจนสร้างตัวได้ดิบได้ดีมากมายขนาดไหน

          เช่นว่า ในการเดินทางจากซัวเถามาถึงประเทศไทย ใช้เวลาประมาณ 20 วันบวกลบ โดยเรือส่วนมากเป็นเรือสินค้า ที่ทำการค้าขาย

          และไม่ได้โล้แบบเที่ยวเดียวยิงตรงถึงไทยเลย แต่จะแวะตามเมืองท่าต่างๆ ไปเรื่อยๆ ขณะที่ข้อมูลบางส่วนระบุว่า สมัยปลายรัชกาลที่ 5-6 มีเรือยนต์เดินทะเลแล้วการเดินทางเข้ามาจากจีนสู่ไทยก็รวดเร็วขึ้น

          อย่างที่บอกว่า ชีวิตไม่ง่าย การเดินลงเรือใช่แปลว่า “รอด” เพราะกว่าที่พวกเขาจะมาถึงเมืองไทยที่หมาย ต้องผ่านความอดอยาก ลำบาก หิวโหยนานัปการ

          ที่ได้ยินบ่อยๆ คือ พวกเขาต้องกินข้าวต้ม โดยดูดก้อนหินคั่วกับน้ำเกลือเท่านั้น เสร็จแล้วก็ล้างหินเอาไปแช่น้ำเกลือต่อเพื่อมื้อต่อไป

          นอกจากนี้ที่มาไม่ถึง แต่ตายจากไประหว่างทางก็มีมาก ทั้งป่วยไข้ ทะเลาะเบาะแว้ง และขาดอากาศหายใจ ฯลฯ โดยศพก็จะถูกโยนทิ้งทะเลไปเป็นเรื่องปกติ

          ที่น่าสนใจคือบางรายบอกว่า ขึ้นฝั่งผิด ชีวิตเปลี่ยน! เพราะบางคนอาจเหนื่อยล้าเกินไปจะเดินทางต่อ จึงตัดสินใจขึ้นฝั่งในบางประเทศ

          หากบางคนโชคดี เมื่อมีชุดที่เดินทางมาก่อนหน้า ร่ำรวยมีเงินก็เดินทางกลับบ้านเกิด แล้วให้ข้อมูลรุ่นหลังไว้ว่าต้องมาให้ถึงฝั่งไทยเท่านั้น!

           แต่ที่แน่ๆ มาถึงแล้ว ชีวิตก็มิได้ง่ายและราบเรียบเหมือนปูกลีบกุหลาบ หากพวกเขาต้องกัดฟัน สู้ชีวิต ขยัน มานะ เลือดตากระเด็นไปหลายลิตร

          ทั้งหมดราวกับว่า พวกเขายอมทำทุกอย่าง เพื่อเก็บเกี่ยวเอาทุกๆ ความสุข ความอบอุ่น และการอิ่มท้องกลับคืนมา ค่าที่รอนแรม ทิ้งบ้าน ทิ้งครอบครัว และคนรักมาไกลแสนไกล!

          แต่มาถึงไทยแล้ว ใช่ว่าจะเดินขึ้นฝั่งแบบสวยๆ ได้ง่ายๆ เหมือนกันเพราะที่จริงแล้ว ชาวจีนพากันอพยพขึ้นฝั่งไทยในหลากหลายจุด

          เช่นที่ ท่าเรือราชวงศ์ กทม., ท่าเรือ จ.จันทบุรี, ท่าเรือที่เกาะสีชัง หรือแม้แต่ที่ท่าเรือเบตงก็มีมาก จากนั้น ก็แยกย้ายกันไปตามความฝัน

          ชีวิตแทบเหมือนสำเภาโบราณที่ปรับหันไปตามสายลม เพราะที่เซซัด ล่มจม เพราะคลื่นโถม หรือหันหัวเรือผิดทางลมก็มีมาก เช่น ไปติดฝิ่น หรือไม่เกิดเหตุอาชญากรรมต่างๆ นานา ฯลฯ

          แต่ที่ประสบความสำเร็จจนเติบโตเป็นเจ้าสัวก็มีไม่น้อย โดยไม่ต้องกล่าวถึงระดับตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่เรามักเรียกกันว่า พระเจ้าตาก ที่ข้อมูลระบุว่า ทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋ว เพราะพระบิดาของพระองค์เป็นชาวแต้จิ๋ว เกิดในตระกูลแต้ ชื่อนายแต้เจียว อพยพจากอำเภอเถ่งไฮ่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระมารดาเป็นคนไทย ชื่อนางนกเอี้ยง

          ก็ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยคนอื่นๆ ที่สืบเชื้อสายมาจากจีนแต้จิ๋วแห่งซัวเถา โดยเฉพาะที่อำเภอเถ่งไฮ้นี้ก็มีมากมาย เช่น ตระกูลพนมยงค์ ที่ว่ากันว่า หมู่บ้านแอ่ตั้งเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษของ ปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ยังมี ตระกูลอึ๊งภากรณ์ ตระกูลรัตตกุล ตระกูลหวั่งหลี ตระกูลเจียรวนนท์ ฯลฯ

         ที่เด็ดดวง คือ สายตระกูล "คงมาลัย" ของพี่ตูน บอดี้สแลมของพวกเรา คุณทวด “คง” ผู้ที่เกิดเมื่อปี 2430 และเป็นลูกคนที่ 5 หรือ คนสุดท้องของครอบครัวนั้น ได้ตัดสินใจเดินทางจากหมู่บ้านโซวแจ่ ชุมชนถ้ำปีโง้ว (ถ่าปีเฮีย) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทางด่วนสาย เฉาโจว(แต้จิ๋ว)-ซานโถว หรือซัวเถา เพื่อมาตั้งรกรากที่ อำเภอบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งก็แปลได้ว่า พี่ตูนของพวกเรามีดีเอ็นเอนักสู้จาก “ซัวเถา” ก็คงไม่ผิด!! (อ่าน http://www.komchadluek.net/news/scoop/304825)

 

ซัวเถาที่ "ปู" ไป  มีอะไรดี

 

          และแน่นอนที่สุด ที่ว่าตรงกันทั่วไปว่า ความกตัญญูแห่งแดนบรรพบุรุษ ลูกหลานตระกูลเหล่านี้ หรือเศรษฐีอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ มักกลับไปสร้างความเจริญให้กับแผ่นดินซัวเถากันอย่างกว้างขวาง

          ทั้งบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สร้างโรงงาน ทำการค้า ขึ้นในแดนดินถิ่นกำเนิด

          วันนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวซัวเถากับคนไทยจึงผูกพันรัดแน่น ขณะที่เมืองซัวเถาเองก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าเรือขนาดใหญ่ เพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ

 

ซัวเถาที่ "ปู" ไป  มีอะไรดี

ภาพจากเพจ กรุงเทพ กรุงเทพ

 

          พรั่งพร้อมไปด้วยความเจริญตา ศิวิไลซ์ทันสมัย จากห้างร้านชั้นนำจากทั่วมุมโลก ต่างจากยุคอดีตที่ความทรงจำไม่เคยจาง กลับยิ่งช่วยตอกย้ำความภาคภูมิใจ

          ขณะที่คนตระกูลดังอย่าง “ชินวัตร” ที่สืบค้นรากบรรพบุรุษพบว่า คือ เชื้อสายจีนแคะ (ฮากกา) โดยบรรพบุรุษ คือคนอำเภอเหมยเซียน เมืองเหมยโจว ที่อยู่ติดต่อกับเมืองซัวเถา ถิ่นฐานของชาวจีนแต้จิ๋ว ในมณฑลกวางตุ้ง โดยพวกเขาขึ้นฝั่งที่จันทบุรี และไปได้ดีเป็นคหบดีที่ภาคเหนือของไทย นั่นเอง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ