คอลัมนิสต์

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน : รายงาน  โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ  




          ช่วงนี้มีเรื่องขำๆ ของรัฐบาล คสช. บิ๊กตู่มาเล่าสู่กันฟังหลายเรื่อง ที่เพิ่งเล่าให้หัวเราะกันไปสดๆ ร้อนๆ ก็เป็นเรื่องอยากแก้ไขกฎหมายปลดล็อกกัญชาหวังให้แพทย์ไทยศึกษาวิจัยเอามาขายเป็นยา แต่กลับไม่อนุญาตให้ทดลองในคน ล่าสุด มีเรื่องเกี่ยวกับกองทุน สสส. ที่ประสบความสำเร็จมากมายในการรณรงค์ให้คนไทยลดเหล้าลดบุหรี่ ตอนนี้โดนสั่งให้ทำร่างแก้ไขกฎหมาย “ตัดตอนงบประมาณ” และสั่งให้กลับไปใช้ “ระเบียบบัญชีแบบราชการโบราณ” สร้างความขำขันรอบใหม่

 

 

          ย้อนกลับไปปี 2545 เป็นปีแรกที่ “สสส.” หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มทำงานหลังจัดตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544” มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐ ได้รับงบประมาณหลักจากเงินภาษีสุราและยาสูบอัตราร้อยละ 2 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ภาษีบาป 2%” ที่รัฐจัดเก็บได้ภารกิจหลักคือผลักดันหรือสนับสนุน ให้หน่วยงานต่างๆ ในสังคมขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม เพื่อทำให้ประเทศไทยให้น่าอยู่ขึ้น

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

 


          ข้อมูลที่ “สสส.” แจกแจงล่าสุดตามเงินงบประมาณปี 2560 ได้แก่การ สนับสนุนโครงการไปทั้งหมด 4,980 โครงการ ด้วยเงินจำนวน 4,419 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายโครงการ ร้อยละ 92 หรือ 4,791 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 เป็นเงินค่าบริหารจัดการสำนักงาน 374 ล้านบาท


          ในแต่ละปีต้องดูแลโครงการไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 โครงการ ทำให้เกิดเสียงสนับสนุนและเสียงทักท้วงในเรื่องต่างๆ แต่ก็ผ่านมาอย่างราบรื่นเป็นสิบปีไม่ค่อยโดนต่อว่าอะไรมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโครงการของภาคีนักวิชาการ เครือข่ายเอ็นจีโอหรือภาคประชาชน จนกระทั่งเมื่อปี 2558 ได้เกิดกลุ่ม “กลุ่มเฝ้าระวัง สสส.” หรือกลุ่มที่ได้รับคำสั่งของ คสช.ให้เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สสส. โดยอ้างเหตุผลว่า


          “ไม่ได้ทำตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอย่างแท้จริง เน้นลดเหล้าบุหรี่ลดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไปสนับสนุนโครงการที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การสนับสนุนงานสวดมนต์ข้ามปี การรณรงค์ความปลอดภัยทางถนน ด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ”

 

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน



          เหตุผลข้างต้นกลายเป็นเรื่องล้อเลียนตลกขบขัน “คสช.” ของกลุ่มแพทย์และเครือข่ายนักวิชาการ เพราะไม่รู้ว่าใครไปชงเรื่องให้ “บิ๊ก คสช.” เข้าใจผิดคิดว่า โครงการเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับคำว่า “สุขภาพดี” ที่พื้นฐานต้องประกอบไปด้วย กาย ใจ ปัญญาสมอง หรือสังคมน่าอยู่ เช่น การสวดมนต์ข้ามปีถือเป็นโครงการทำให้จิตใจผ่อนคลาย คนไทยชวนกันไปสวดมนต์ข้ามปีดีกว่าไปสังสรรค์กินสุรายาเมา ใช่หรือไม่ ?


          หลังจากประเด็นนี้มีปัญหาขึ้นมา สสส. ก็ถูกสั่งตรวจสอบการทำบัญชีและการเบิกจ่ายย้อนหลัง สร้างความเดือดร้อนให้แก่กลุ่มประชาชนที่เข้ามาช่วยทำโครงการร่วมกับ สสส. มีการขอใบเสร็จขอเอกสารขอโน่นขอนี่ ขอเอกสารประเมินโครงการตามระเบียบราชการ โดยไม่ได้ประเมินจากผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้รับอย่างแท้จริง จนในที่สุดก็ออกคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานเข้ามาเปลี่ยนแปลงกฎหมายของ สสส. หรือที่เรียกว่า  "คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่..)พ.ศ. ...."
คณะกรรมการนี้ซุ่มเงียบทำงานมาหลายปี เพราะไม่อยากเป็นประเด็นข่าวมากนัก จนกระทั่งไม่กี่เดือนมานี้มีกระแสข่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นในของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายเดิม 3 ประการ ได้แก่ 1.ให้ลดคณะกรรมการที่มาภาคประชาสังคมจาก 8 คน เหลือ 6 คน 2.ให้ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุน สสส. ตามแนวทางของส่วนราชการหรือตามที่กำหนดโดยกระทรวงการคลัง และ 3.จำกัดวงเงินที่ได้ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจในการทบทวนวงเงินงบประมาณกองทุนตามอัตราเงินเฟ้อทุก 2 ปี

 

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

 


          หลังจากรู้ว่าจะมีการหมกเม็ดสั่งเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญทั้ง 3 ข้อข้างต้น เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศได้ออกมารวมตัวกันยื่นหนังสือประท้วงทันที เพราะไม่สอดคล้องและขัดแย้งกับการทำงานที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายที่สั่งให้ สสส.กลับไปใช้ระบบบริหารจัดการแบบราชการเท่ากับ “ยิ่งแก้ยิ่งแย่ ถอยหลังเข้าคลอง”


          โดยช่วงต้นเดือนตุลาคม เครือข่ายต่างๆ ออกมารวมตัวกันคัดค้าน เช่นวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ขอให้ยับยั้งการแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องและขัดหรือแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นไม่กี่วันที่ จ.ขอนแก่น วันที่ 9 ตุลาคม เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคอีสาน 43 องค์กร ออกมาประท้วงยื่นหนังสือคัดค้านผ่านผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขเนื่องจากไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะแก้ให้ถอยหลังเข้าคลองปลายทางแย่กว่าเดิมเป็นการตัดแข้งตัดขาเครือข่ายที่เข้ามาช่วยกันทำงานด้านสุขภาพ


          โดยหนึ่งในเนื้อหาที่คัดค้านคือขอให้รัฐทบทวนเรื่อง “เงิน 4,000 ล้านบาท” เพราะควรเก็บเงินเพิ่มไม่ใช่ลดลงหรือไปจำกัดแค่ 4,000 ล้านบาท เช่น ไปเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ผลิต น้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง สารพิษเคมีทางเกษตร หรือ กลุ่มธุรกิจที่สร้างอันตรายต่อสุขภาพประชาชน

 

          ที่ผ่านมาหากกล่าวถึง “สสส.” คนไทยทั่วไปมักนึกถึงโครงการรณรงค์เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ เนื่องจากสามารถสร้างกระแสทำให้สังคมไทยตระหนักถึงปัญหานี้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของ สสส.ก็ว่าได้ และถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อพัฒนา สสส.ให้ก้าวหน้ามากขึ้นนั้น เครือข่ายเหล่านี้มีความคิดเห็นว่าอย่างไร

 

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

 


          “ธีระ วัชรปราณี” ตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) หนึ่งในภาคีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ สสส.มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 15 ปี วิเคราะห์ให้ฟังว่า จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งองค์กรทำงานแบบ สสส. คือ การสร้างหน่วยงานที่ไม่ยึดติดกับกฎเกณฑ์และระบบระเบียบที่ซับซ้อนของราชการ ก่อนที่จะมี สสส. มีการไปศึกษาดูงานจากต้นแบบองค์กรสร้างเสริมสุขภาพของหลายประเทศ เพื่อมาดัดแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทย ต้นแบบหลักมาจากประเทศออสเตรเลียเพราะประสบความสำเร็จมากในการลดเหล้าและบุหรี่


          "องค์กรแบบนี้ต้องทำงานเป็นอิสระและมีความคล่องตัว เพราะ สสส.เป็นเพียงผู้ดูแลงบประมาณและอำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายให้กลับไปขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังหรือมีระเบียบการบริหารและจัดการเรื่องเงินและบัญชีเหมือนโครงการของรัฐบาลอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของแนวคิดแบบถอยหลังไม่ได้พัฒนาก้าวหน้าจริง ความยุ่งยากและซับซ้อนของการทำบัญชีแบบราชการไม่ใช่จุดประสงค์ขององค์กรแบบ สสส. นอกจากนี้ก็เปลี่ยนแปลงเพื่อลดตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลนโยบายภาครวมของ สสส. จะทำให้กลายเป็นการสั่งการแบบข้าราชการที่เจ้านายหรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่าเป็นคนตัดสินทุกอย่าง ทำให้ขาดการมีส่วนร่วม ขาดการเสนอไอเดียความคิดดีๆ และที่สำคัญคือการบังคับให้ได้งบประมาณแค่ปีละ 4,000 ล้านบาท จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตเพราะอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพมีจำนวนสูงขึ้นทุกปี เช่น ตอนนี้สั่งข้าวกล่องมาให้โครงการราคากล่องละ 30 บาท ปีหน้าอาจราคาขยับเพิ่มเป็น 40-50 บาท อยากเสนอให้ใช้วิธีการคิดตามอัตราค่าเงินเฟ้อในแต่ละปี คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ตามจริงเลยว่าความเหมาะสมอยู่ที่เท่าไร ไม่เช่นนั้นอีก 10-20 ปีข้างหน้า สสส.อาจไม่มีงบประมาณให้ภาคีมาช่วยกันทำงานทั่วประเทศแบบนี้"

 

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

 


          อย่างไรก็ตาม ตัวแทนภาคีเครือข่ายงดเหล้าข้างต้นยอมรับว่า ในวันนี้ สสส.ก็มีปัญหาบางอย่างที่สมควรต้องปรับปรุงการทำงานเช่นกัน เช่น การกระจายงบประมาณไปยังโครงการรณรงค์ต่างๆ ยังกระจุกตัวอยู่ที่เมืองใหญ่ แต่ในชนบทที่ห่างไกลมากๆ สสส.ยังเข้าไม่ถึงมีค่อนข้างน้อย บางครั้งปัญหาเกิดจากระเบียบการเขียนโครงการขอเงินที่กำหนดเงื่อนไขยุ่งยากซับซ้อนทำให้ชาวบ้านหรือเอ็นจีโอในท้องถิ่นไม่มีความสามารถที่จะทำตามเงื่อนไขทุกอย่างได้


          "ธีระ" เสนอแนวทางแก้ไขว่า หากจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายของ สสส.ควรเน้นไปที่การเปิดให้มีระบบอำนวยความสะดวกภาคีประชาชนที่มีทำงานมากขึ้น และมีระบบตรวจสอบโครงการและงบประมาณตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงการกำหนดให้ขยายเครือข่ายการทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่านี้


          สรุปได้ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ “สสส.” ส่วนใหญ่เป็นที่ชื่นชมของประชาชน เพียงแต่กฎหมายที่ออกมาหลายปีอาจล้าหลังไม่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การทำงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ “รัฐบาลคสช.” อยากปรับแก้ไข

 

 

เรื่องขำๆคสช.บีบแก้ "กองทุน สสส." ตัดเป้า4พันล้าน

 


          ดังนั้นเพื่อไม่ให้ต้องกลายเป็นตัวตลกสร้างเรื่องขำๆ แบบไม่ตั้งใจ การแก้ไข “พ.ร.บ.กองทุน สสส.” ควรรอให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ตามที่ “บิ๊กตู่” สัญญาว่าไม่เกินต้นปี 2562 เพื่อให้ตัวแทนประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศมีส่วนร่วมในการจัดการกองทุนเพื่อสุขภาพของตนเอง ไม่ใช่งุบงิบรีบแก้กฎหมายแบบคัดค้านกองเชียร์ คสช.อย่างนี้....ใช่หรือไม่?  


          เป้าหมายโครงการกองทุน สสส. ปี 2560
          (1) เดินหน้าสร้างสังคมไทยปลอดควันบุหรี่ สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพ
          (2) ปกป้องเยาวชนไทย ไม่ตกเป็นเหยื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
          (3) ร่วมสร้างกลไกป้องกันอุบัติเหตุระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน
          (4) ร่วมวางฐานรากพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตเด็กไทยทุกช่วงวัย
          (5) สร้างภูมิคุ้มกัน ลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
          (6) พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ “สูงวัยอย่างมีคุณค่า”
          (7) บอลลูน โมเดล สร้างเสริมสุขภาวะ คนไร้บ้าน
          (8) พัฒนาโมเดลส่งต่อ “การให้” สร้างสรรค์สังคมเพื่อทุกคน
 
 
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ