คอลัมนิสต์

 ครู"หนี้"ที่รัก 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ครู"หนี้"ที่รัก : รายงาน  โดย.. สุมาลี สุวรรณกร

 

          “การเป็นครูเราเป็นด้วยหัวใจ เรารักอาชีพนี้ อาชีพครูเป็นอาชีพมีเกียรติ คนที่อยากเป็นครูคือคนที่เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เรียนเก่งแล้วมาเป็นครูได้เลย เรียนเก่งแล้วต้องเป็นคนดีด้วย การออกมาเรียกร้องของครูในวันนี้ไม่ใช่มาเรียกร้องเพื่อให้ลดหนี้ หรือหักหนี้ให้ แต่ครูออกมาเรียกร้องเพื่อให้พักหนี้”
 

          ปัญหา “หนี้ครู” เป็นปัญหาคลาสสิกที่มีมายาวนาน และผู้นำครูพยายามหาทางช่วยเหลือ แก้ไขทุกยุคทุกสมัย จนถูกผูกโยงเป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว ยิ่งมีการมาเคลื่อนไหวประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก็ยิ่งทำให้ถูกมองเป็นเรื่องการเมือง โดยเฉพาะผู้นำครูที่ออกมาเคลื่อนไหวล้วนเคยเป็นอดีตผู้สมัครการเมืองทั้งระดับเล็ก และระดับกลางแทบทั้งสิ้น

          แต่ไม่ว่าจะออกมาเคลื่อนไหวเพราะเหตุผลใด แต่ปัญหา “หนี้ครู” ยังเป็นความจริงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะ “หนี้ครู” ไม่เคยหมดไป ไม่ว่าจะมีการเรียกร้องหรือดำเนินการแก้ไขมากี่ยุคกี่สมัย กี่รัฐบาล ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิมเพราะอย่างไร “ชีวิตครูคือการกู้เงิน”

          คำถามตามมาอีก ทำไมครูต้องมีหนี้? ทำไมครูต้องกู้เงิน? แล้วอาชีพอื่นไม่กู้เงินหรืออย่างไร? ทั้งที่เงินเดือนครูมีสูง แถมหากเป็นผู้บริหารยังมีเงินประจำตำแหน่งอีก ครูเอาเงินไปไหน? ทำไมถึงเป็นหนี้วนเวียนไม่จบสิ้น? ????

          โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือเงินกู้ ช.พ.ค. หรือเงินสวัสดิการช่วยเหลือและสงเคราะห์ครูสมาชิกและครอบครัว ซึ่งเมื่อมีสมาชิกเสียชีวิตลง ทาง ช.พ.ค.จะมอบเงินสงเคราะห์ให้ครอบครัวของสมาชิกตามระเบียบของ ช.พ.ค. โดยที่ครอบครัวสมาชิกจะได้รับเงินช่วยเหลือจัดงานศพ รายละ 200,000 บาท พร้อมทั้งเงินช่วยเหลือครอบครัวอีกรายละ 800,000 บาทที่ทำสัญญากู้กับธนาคารออมสิน ซึ่งกำลังถูกโอดครวญว่าดอกโหด จ่ายเงินมาหลายปีแต่เงินต้นไม่ลด ลดแต่ดอกเบี้ย

 

  ครู"หนี้"ที่รัก 

 

          จากตัวเลขยอดหนี้ตามโครงการ ช.พ.ค. มีทั้งสิ้น 7 โครงการ รวม 483,578 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 410,923 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีทั้งลูกหนี้ชั้นดีและลูกหนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะค้างส่งชำระเงินกู้
 

          จากการได้พูดคุยกับครูคนหนึ่งซึ่งเป็นระดับผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เล่าแบบหมดเปลือกให้ฟังว่า “การประกาศปฏิญญามหาสารคาม ผมไม่ได้ไปร่วมด้วย ตอนแรกเห็นพาดหัวหนังสือพิมพ์ก็ตกใจ บอกครูเบี้ยวหนี้ ผมอ่านแล้วก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะครูไม่กล้าเบี้ยวหนี้หรอก และพอมาอ่านเนื้อในเลยรู้ว่าครูไม่ได้ต้องการเบี้ยวหนี้ แต่ต้องการให้พักหนี้ เพราะเงินกู้ช.พ.ค. เพราะเงิน ช.พ.ค.ที่จ่ายกันไปทุกเดือนไม่ได้ไปตัดเงินต้นเลย ไปตัดแต่ดอก ผมเองก็เป็นหนี้ ช.พ.ค.กู้มา 1.2 ล้านบาทเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนนี้ส่งเดือนละ 7,500 บาท ปรากฏว่าไปเช็กเงินส่งมา 6 ปี เงินต้นลดไปแค่ไม่ถึงแสนบาท แบบนี้ส่งเมื่อไหร่จะหมด แถมสัญญาก็ทำเอาไว้ถึง 30 ปี อีก 4 ปีผมจะเกษียณหลังเกษียณผมคงอดตายเพราะเงินบำนาญที่มีคงหักใช้หนี้หมด” ไอศูรย์ ศรีเวียงราช วัย 57 ปี ผู้อำนวยการโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น บอกเล่า หลังจากที่เขารับฟังข่าวสารและรู้ว่าตนเองก็เป็นครูคนหนึ่งที่เดือดร้อนเช่นกัน

          “ตอนนี้เงินเดือนผมประมาณ 50,000 บาท รวมเงินประจำตำแหน่งก็ประมาณ 60,000 บาท แต่แต่ละเดือนมีเงินเหลือใช้แค่เดือนละ 14,000 บาท โดยต้องขับรถจาก จ.ขอนแก่น ไปทำงานที่ อ.กระนวน รวมค่ากินค่าอยู่ตกวันละประมาณ 500-1,000 บาท แล้วแต่ภารกิจ เงิน 14,000 บาทต่อเดือนก็ใช้ไม่คุ้มเดือน ต้องหาหยิบยืมเงินมาใช้จ่ายอีก ตอนนี้เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เป็นหนี้ธนาคารกรุงไทย และเป็นหนี้นอกระบบที่หยิบยืมญาติพี่น้องมาอีก เรียกว่าแต่ละเดือนแทบจะไม่เหลือเงินใช้เลย” ผอ.โรงเรียนประถมเล่าให้ฟัง

          เขายังเล่าย้อนไปถึงสาเหตุแห่งการเป็นหนี้ว่า เริ่มบรรจุเป็นครูเมื่อปี 2531 ตอนนั้นครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยอะไร ไม่มีสมบัติ พ่อแม่ส่งให้เรียน พอทำงานก็แต่งงาน เงินแต่งงานก็ต้องกู้มา แม่ไปกู้เงินมาให้ 30,000 บาท พอตัวเองบรรจุครูก็กู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมาใช้หนี้ให้แม่ แม่ก็ใจดีเอาเงินคืนแค่ 20,000 บาท ให้เราไว้ใช้ 10,000 บาท พอแต่งงานมีลูกก็ต้องมีบ้าน บ้านก็กู้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จากนั้นมีลูกคนที่ 2 ก็ซื้อรถ ซื้อรถก็กู้เงินสหกรณ์ พอลูกโตก็ต้องกู้เงินมาจ่ายค่าเรียนลูกอีก ลูกเรียนมหาวิทยาลัยค่าเทอม เทอมละ 30,000 บาท ลูกคนที่ 1 จบมหาวิทยาลัยพ่อกับแม่ก็เป็นหนี้ ลูกคนที่ 2 เข้ามหาวิทยาลัยพ่อกับแม่ก็เป็นหนี้อีก ทั้งที่หนี้เก่ายังใช้ไม่หมด ตัวเองไปเรียนปริญญาโทเพื่อเป็นผู้บริหารก็ใช้เงินอีก ภาษีสังคมอีก เยอะแยะมากมายแต่ละเดือนเงินเดือนไม่เคยชนเดือนต้องหยิบยืมเยอะไปหมด หนี้หนักๆ คือหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู และหนี้ ช.พ.ค.เพราะอย่างไรก็จะต้องจ่าย”

 

  ครู"หนี้"ที่รัก 

ไอศูรย์ ศรีเวียงราช

 

          “สำหรับครูยืนยันได้เลยว่าครูเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และมีครูประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นหนี้ ช.พ.ค. และครูยังเป็นหนี้ธนาคารอื่นๆ อีกเยอะไปหมด หมุนเงินเพื่อมาใช้จ่าย แต่เท่าที่ฟังไม่มีใครคนไหนที่บอกจะเบี้ยวหนี้ หรือไม่ใช้หนี้ เพราะครูคือคนไทยไม่กล้าไปโกงเขาหรอก แต่เพียงอยากให้เขาช่วยลดหย่อน ลดดอกเบี้ย หรือพักหนี้ให้ชั่วคราว พักเพื่อให้หายใจออก พักเพื่อให้มีเงินใช้หนี้ ไม่ใช่จะเบี้ยว เพราะอย่างไรก็เบี้ยวไม่ได้ เห็นไหมแค่บอกว่าจะขอพักหนี้ธนาคารยังออกมาออกประกาศแล้ว ใครเบี้ยวหนี้มีปัญหาแน่ รับรองเกษียณแบบมีปัญหา แบบนี้ใครจะกล้าเบี้ยว ไม่มีหรอกครับ” ผอ.ไอศูรย์ บอก

          ต่อคำถามที่ว่าตอนกู้เงิน ช.พ.ค.ไม่ได้อ่านสัญญาหรือว่ามีการเก็บดอกเบี้ยโหดและมีสัญญาผูกมัดหลายปี ผอ.ไอศูรย์บอกว่า ไม่มีใครอ่านสัญญาแน่นอน เพราะในห้องนั้นที่ไปยืนรอกู้เงินมีคน 50-60 คน แต่ละคนก็อยากจะเซ็นเอกสารและอยากจะกู้เพราะรอคิวมานาน พอถึงคิวเราให้ไปเซ็นสัญญาทุกคนก็จะต้องเร่งเซ็นชื่อ ไม่ใช่เซ็นแล้วจบแต่ต้องมีเพื่อนครูไปเซ็นรับรองค้ำประกันอีก โรงเรียนตนมีครู 5 คน ทุกคนกู้ช.พ.ค.หมด ไม่มีใครไปอ่านเอกสาร จนถึงวันนี้เขาเองยังไม่ได้ไปรื้อเอกสารดูเลยว่าเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าทุกเดือนต้องเอาเงินไปใช้หนี้ และพอมาตรวจสอบเอกสารยอดเงินที่หักใช้หนี้มันไม่ลดลงเลย จึงได้เดือดร้อนและหาข้อมูลเพื่ออยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ

          “การเป็นครูเราเป็นด้วยหัวใจ เรารักอาชีพนี้ อาชีพครูเป็นอาชีพมีเกียรติ คนที่อยากเป็นครูคือคนที่เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่เรียนเก่งแล้วมาเป็นครูได้เลย เรียนเก่งแล้วต้องเป็นคนดีด้วย การออกมาเรียกร้องของครูในวันนี้ไม่ใช่มาเรียกร้องเพื่อให้ลดหนี้ หรือหักหนี้ให้ แต่ครูออกมาเรียกร้องเพื่อให้พักหนี้ ยืดเวลาออกไปสักหน่อยและปรับแก้เรื่องดอกเบี้ย เพราะเท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ครูจะตายแล้ว ไม่เหลือเงินใช้จ่ายแล้ว เป็นหนี้รอบไปหมด อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพราะไม่มีครูคนไหนรวย ครูเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวยากจนทั้งนั้น” นายไอศูรย์ กล่าวทิ้งท้าย

          นอกจากนั้นยังร้องขอให้รัฐบาลหันมามองเห็นปัญหา “หนี้ครู” และนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่อยากให้มองว่าเป็นปัญหาการเมือง หรือใครเป็นแกนนำ เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน “หนี้กับครู” ก็เป็นของคู่กัน ตราบใดที่ “รัฐสวัสดิการ” ยังไม่มีอยู่จริง แต่หากรัฐบาลขานรับแก้หนี้ครูในวันนี้ก็คงจะต้องมีอาชีพอื่นพาเหรดออกมาให้รัฐบาลช่วยแก้หนี้ให้อีกยาวเหยียดแน่ เพราะสังคมทุนนิยมแบบไทยทุกวันนี้คือ “สังคมหนี้” ทุกคนมีหนี้ ที่ต้องกู้มาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตและซื้อหาสิ่งที่ต้องการ หากจะแก้กันให้ถูกจุดต้องหยุดทุนนิยมและกลับเข้าหารากเหง้าความพอเพียงอย่างแท้จริง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ