คสช.เพิ่มเพื่อน ให้ "เดินมิตรภาพ" !!??
"เดินมิตรภาพ" ??? ยังไม่มีใครรู้สุดท้ายพวกเขาจะเดินไปได้ถึงไหน แต่ตอนนี้ดูเหมือน "คสช." จะช่วยเพิ่ม “เพื่อน” ให้พวกเขาแล้ว!!
ต้องบอกเลยว่าเพราะ “รัฐบาล” จึงทำให้วันนี้ชื่อของกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ได้รับความสนใจจากสังคม และนำมาสู่คำถามว่า พวกเขาเป็นใคร และกำลังทำอะไร?
กิจกรรมของทางกลุ่มอาจจะไม่เป็นข่าวเลยหากไม่มีการเข้าไปสกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยคนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 มกราคม 2561) และล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมาว่า “ทหาร” ได้ไปแจ้งจับ 8 แกนนำผู้จัดกิจกรรมในข้อหาขัดคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้า คสช. คือห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป และตำรวจออกหมายเรียกให้เข้าไปพบในวันที่ 28 มกราคม (อ่านต่อ...ทหารแจ้งจับ!! 8 แกนนำ "เดินมิตรภาพ" ขัดคำสั่ง "บิ๊กตู่")
“We Walk เดินมิตรภาพ” เป็นกิจกรรมของเครือข่ายภาคประชาชนในชื่อเครือข่าย “People Go” ซึ่งเครือข่ายนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงปลายปี 2559 โดยเป็นการรวมตัวของของเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในด้านต่างๆ เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน การศึกษา สุขภาพ ที่ดินป่าไม้ สวัสดิการของรัฐ หรือความเดือดร้อนของชาวบ้านในประเด็นต่างๆ
ในเดือนธันวาคม 2559 ทางเครือข่ายได้เปิดตัวครั้งแรกในกิจกรรม “ก้าวไปด้วยกัน : ใส่ใจรัฐธรรมนูญกับสิทธิมนุษยชน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครั้งนั้นทางเครือข่ายได้มีคำประกาศ “วาระประชาชน 2560 ต้องอยู่เหนือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ออกมา โดยเครือข่ายภาคประชาชน 109 องค์กรร่วมลงชื่อ
ส่วนหนึ่งของคำประกาศซึ่งสะท้อนถึงจุดยืนของเครือข่าย “People Go” ระบุว่า “ทิศทางการบริหารประเทศของคสช. และการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายวงกว้างขึ้น การพัฒนาขาดความสมดุลระหว่างคน สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มทำลายวัฒนธรรมคนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ เกษตรกรชาวนาชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการลิดรอนสิทธิเสรีภาพจำกัดพื้นที่การแสดงออก เอื้ออำนวยให้กลุ่มทุน”
ในคำประกาศดังกล่าวได้เสนอข้อเรียกร้องไว้ทั้งหมด 11 ข้อ เช่น เรียกร้องให้คืนสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประเทศให้แก่ประชาชน ให้มีการเลือกตั้งโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็ว และจัดให้มีการกระจายอำนาจการปกครอง เปลี่ยนแบบแผนและโครงสร้างการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นต้น
สำหรับกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” นี้ เริ่มต้นเป็นความร่วมมือของ 4 เครือข่ายหลัก ได้แก่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายเกษตรกรรรมทางเลือกและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายทรัพยากรและสิทธิชุมชน และเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายที่ติดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และล่าสุดได้มีเครือข่ายสลัม เข้าร่วมด้วย
กิจกรรมของทางกลุ่มคือ การเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตไปยัง จ.ขอนแก่น ซึ่งคาดว่าการเดินทั้งหมดจะประมาณ 800,000 ก้าว โดยตั้งเป้าว่าในระหว่างทางจะมี “เพื่อน” เพิ่มขึ้นก้าวละ 1 คน ภายใต้สโลแกน “เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต”
เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มกราคม คือ วันแรกที่กลุ่มจะเริ่มเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในวันนั้นมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสกัดไม่ให้มีการเดิน
ก่อนหน้านั้นเครือข่ายได้ทำเรื่องอนุญาตทำกิจกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายการมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งขัดคำสั่งของหัวหน้า คสช. จึงแจ้งให้ผู้จัดงานขออนุญาตต่อคสช. อย่างไรก็ตามเครือข่ายไม่เห็นด้วย และเดินหน้าทำกิจกรรม
อย่างไรก็ตามถึงที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่สกัดไม่ให้มวลชนเดินผ่านออกไป ทางเครือข่ายจึงใช้วิธีแบ่งผู้ที่จะ “เดินมิตรภาพ” ออกเป็นกลุ่มๆละ 4 คน และเดินหลบออกไป และใช้วิธีเดินชุดละ 4 คน เพื่อไม่ให้ผิดคำสั่งหัวหน้าคสช. โดยแต่ละชุดจะเดินประมาณ 5 กิโลเมตร และชุดต่อไปก็จะมาเดินต่อ โดยมีการจัดทีมเดินไว้ 6-7 ชุด สลับกันไป
“นิมิตร์ เทียนอุดม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 1 ใน 8 ผู้ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาขัดคำสั่ง คสช. กล่าวว่า เจตนาของทางเครือข่ายในการจัดกิจกรรมนี้ คือเพื่อเดินออกไปหาเพื่อน เพื่อไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพูดคุยในประเด็นปัญหาต่างๆ โดยระหว่างทางจะมีการแจกเอกสารให้ประชาชนเพื่อรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและเพื่อให้เขาบอกเล่าถึงปัญหาที่เขาอาจจะกำลังประสบอยู่
"ที่สำคัญเราต้องการรู้ว่าเรายังมีสิทธิเสรีภาพอยู่หรือไม่ จึงเลือกวิธีการเดิน เราไม่เลือกเดินเข้าไปหารัฐบาล แต่เราเลือกที่จะเดินออกไปเพื่อหาเพื่อน เพื่อหาที่นั่งพูดคุยกัน”
นิมิตร์ บอกว่า ตลอดทางที่เดินไปก็จะมีการจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยเบื้องต้นตั้งไว้ว่าจะมีเวทีในวันเสาร์หรืออาทิตย์ สัปดาห์ละครั้ง รวมระยะเวลาที่จะเดินไปถึงขอนแก่นประมาณ 28 วัน ก็จะจัดเวทีทั้งหมด 4 ครั้ง
ส่วนที่เลือก จ.ขอนแก่น เพราะเป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ซึ่งภาคอีสานก็เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน เรื่องสิทธิต่างๆ รวมไปถึงเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม แกนนำเครือข่าย “People Go” บอกว่า ตอนนี้ทางกลุ่มได้ถูกกดดันอย่างหนักจากเจ้าหน้าที่ คือนอกจากจะมีการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กับ 8 แกนนำแล้ว ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกดดันตามวัดต่างๆ ที่เครือข่ายวางไว้ว่าจะเข้าไปขอพักค้างคืนระหว่างการเดิน
“เจ้าหน้าที่เข้าไปกดดันทางวัดทุกวันที่เราจะเข้าไปพัก จนวัดก็ลำบากใจ และเราก็ลำบากใจเพราะอาจจะทำให้วัดเดือดร้อน จึงต้องหาที่พักอื่นซึ่งลำบากมาก หรือแม้กระทั่งการหยุดพักทำกิจกรรมระหว่างวัน ที่จะมีการตั้งวงพูดคุยในประเด็นปัญหา เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปกดดันเจ้าของสถานที่จนพวกเราต้องออกมา”
ถามว่าเจอสถานการณ์แบบนี้คิดว่าจะเลิกกิจกรรมหรือไม่ นายนิมิตร์ บอกว่า จะเดินต่อไป จะพยายามไปให้ได้ไกลที่สุด แต่สุดท้ายจะสามารถไปถึงปลายทางได้หรือไม่ ก็ต้องดูกันต่อไป
ยังไม่มีใครรู้สุดท้ายพวกเขาจะเดินไปได้ถึงไหน แต่แม้จะยังไปไม่ถึงขอนแก่น แต่ตอนนี้พวกเขาจะน่าจะได้ “เพื่อน” เพิ่มขึ้นแล้ว!!
เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ คมชัดลึกออนไลน์
***เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ถอดรหัส “เดินมิตรภาพ” เดินเข้าทางใคร?
ทหารแจ้งจับ!! 8 แกนนำ "เดินมิตรภาพ" ขัดคำสั่ง "บิ๊กตู่"