คอลัมนิสต์

ทำไม “ไทย” ต้องมี “PRTR บันทึกมลพิษ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมมลพิษ ได้รวบรวมรายงาน “สถานการณ์มลพิษ” สำหรับปี 2559 สรุปปัญหามลพิษร้ายแรงเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “น้ำเสีย อากาศพิษ ขยะของเสียอันตราย”

     45 ปีมาแล้ว ที่มนุษย์พยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เริ่มตั้งแต่ปี 2515 เพื่อระลึกว่าโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติขนาดรุนแรง แต่ดูเหมือนเวลาที่ผ่านไปครึ่งศตวรรษ มนุษย์ยังเป็นตัวก่อให้เกิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ น้ำเสีย อากาศเสีย ขยะ จนกลายเป็นคำถามว่า

     ทำไมความร่วมมือร่วมใจที่คาดหวังไว้ 45 ปีที่แล้วไม่สำเร็จ ? และหนทางแก้ไขมีหรือไม่ โดยเฉพาะในประเทศไทย ?

     เริ่มจากการทำความเข้าใจภาพรวมสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา กรมควบคุมมลพิษได้รวบรวมไว้ทุกปีในรายงานชื่อ “สถานการณ์มลพิษ” สำหรับปี 2559 สรุปปัญหามลพิษร้ายแรงเป็น 3 ประเภท ได้แก่ “น้ำเสีย อากาศพิษ ขยะของเสียอันตราย”

“น้ำเสีย”

     ผลสำรวจแม่น้ำ 59 สายหลักที่ไหลเวียนเป็นหัวใจของคนไทยทั่วประเทศ พบว่ามีเพียงร้อยละ 34 ที่น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 43 อยู่ในเกณฑ์พอใช้ และร้อยละ 23 อยู่ในเกณฑ์เป็นแม่น้ำเสื่อมโทรม หมายความว่า 1 ใน 4 ของน้ำจากแม่น้ำไม่ได้มาตรฐาน

     ส่วนน้ำทะเลตามชายฝั่งนั้น อยู่ในเกณฑ์ดีเพียงร้อยละ 59 ระดับพอใช้ ร้อยละ 31 เป็นน้ำเสื่อมโทรมร้อยละ 7 และร้อยละ 2 อยู่ในเกณฑ์น้ำเสื่อมโทรมมาก

     แหล่งกำเนิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำมี 2 ประเภทใหญ่ คือ 1.แหล่งที่มีจุดกำเนิดแน่นอน (Point Source) เช่น ชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ 2.แหล่งไม่แน่นอน (Non-Point Source) เช่น พื้นที่การเกษตร น้ำเสียจากไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ น้ำเสียเหล่านี้พบการปนเปื้อนของส่วนประกอบ “ปุ๋ย” ที่เกษตรกรไทยนิยมใส่ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และสารพิษต่างๆ ในปริมาณสูง รวมถึงน้ำเสียจากการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นเศษอาหาร สารเคมี มูลสัตว์ ฯลฯ

     กรมควบคุมมลพิษวิเคราะห์สาเหตุมลพิษทางน้ำว่า เกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะ “น้ำเสียจากชุมชน” ผู้คนจาก 24 ล้านครัวเรือน ปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติไม่ต่ำกว่าวันละประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน มีเพียงร้อยละ 10 ผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียหรือแค่ 1.4 ล้าน ลบ.ม./วัน ทั่วประเทศไทยมีสถานที่วางระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 101 แห่ง และใช้งานได้จริงแค่ 88 แห่ง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีงบประมาณลงทุนค่าระบบและค่าบำรุงรักษาระบบ ซ้ำร้ายโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ไม่มีการวางระบบบำบัดน้ำเสีย หรือพยายามหลีกเลี่ยงกฎหมาย

     มีการเสนอให้จัดการแก้ปัญหาโดย “จัดเก็บเงินค่าบำบัดน้ำเสีย” ตามหลักการสากล “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” แล้วนำเงินที่ได้มาจัดทำระบบฟื้นฟูน้ำเสียและสื่อสารผลตรวจสอบให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับรู้ เพื่อให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวังดูแลผู้ประกอบการไม่ให้ทิ้งน้ำเสียอย่างไร้ความรับผิดชอบ

ทำไม “ไทย” ต้องมี “PRTR บันทึกมลพิษ”

“อากาศพิษ” 

     คุณภาพอากาศในปี 2559 พบฝุ่นละอองเป็นปัญหาหลัก จังหวัดที่พบฝุ่นเกินค่ามาตรฐานขั้นร้ายแรง ได้แก่ สระบุรี และเชียงราย ส่วน แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ เป็นระดับอันตราย

     มลพิษอากาศ คือ อากาศที่มีสารพิษเจือปนมากและนานพอจะทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่างๆ อาจเกิดจากธรรมชาติ เช่น ฝุ่น หมอก ควันภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า ก๊าซธรรมชาติ หรืออาจเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ควันพิษท่อไอเสียรถ ฝุ่นควันดำจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาขยะมูลฝอย

“ขยะของเสียอันตราย”

     กลายเป็นปัญหาใหญ่ในทุกชุมชน เพราะขยะมากขึ้น แต่การจัดการขยะยังไม่พัฒนา การนำไปฝังกลบทิ้งแบบดั้งเดิมทำไม่ได้แล้ว เพราะชุมชนขยายตัว ไม่มีเจ้าของพื้นที่ใดอยากมี “ภูเขาขยะ” ไว้หน้าบ้าน

     ประเมินว่า “ขยะมูลฝอยชุมชน” เฉพาะปี 2559 ทั่วประเทศไทยมีประมาณ 27 ล้านตัน หรือวันละ 7.4 หมื่นตัน เปรียบเทียบกับปี 2558 มีขยะเพิ่มขึ้น 2 แสนตัน หรือเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ หากเรียงลำดับ 5 จังหวัดที่ทิ้งขยะมากสุด คือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นครราชสีมา สมุทรปราการ ขอนแก่น เป็นขยะมูลฝอยจากกรุงเทพฯ 4.20 ล้านตัน ส่วนอีก 76 จังหวัดรวมกัน 23 ล้านตัน ปัจจุบันคนไทย 1 คน สร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1.14 กิโลกรัม

     ปัญหาขยะกำลังวิกฤติ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,000 กว่าแห่ง มีเพียงครึ่งเดียวที่ให้บริการรถเก็บขยะ หมายถึงอีกกว่า 3,000 แห่งไม่มี และจัดเก็บได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่สำคัญคือ เก็บแล้วเอาไปกำจัดไม่ถูกต้องอีก หมายถึงในแต่ละปีมีขยะที่เก็บไปแล้ว 12 ล้านตัน หรือร้อยละ 43 ที่ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนใหญ่เอาไปเผากลางแจ้ง เทกองทิ้งบ่อดินหรือพื้นที่รกร้าง

     นอกจากขยะธรรมดาแล้ว คนไทยกำลังเผชิญปัญหา “ขยะพิษอันตราย” ตัวเลข “สถานการณ์ของเสียอันตราย” ปี 2559 มีจำนวน 3.5 ล้านตัน แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. “ของเสียอันตรายจากชุมชน” 6 แสนตัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า แบตเตอรี่ใช้แล้ว กระป๋องสเปรย์ ถ่านไฟฉาย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2. “กากอุตสาหกรรม” 2.85 ล้านตัน  และ 3. “ขยะติดเชื้อ” 5.5 แสนตัน จากโรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย ขยะเหล่านี้นำไปเข้าเตาเผาพิเศษเพื่อกำจัดอย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 75 เท่านั้น ที่เหลืออีกแสนกว่าตันถูกทิ้งค้างในสิ่งแวดล้อม

     กรมควบคุมมลพิษจัดทำ “แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559–2564” หวังแก้ปัญหาการเกิดขยะและการคัดแยกขยะมูลฝอย โดยวางระบบการเรียกคืนซากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน เช่น ร่วมมือกับภาคีบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่หาแนวทางการจัดการซากโทรศัพท์มือถือหรือเอามาคืน กำหนดเป้าหมายเก็บคืนซากโทรศัพท์เคลื่อนที่ 9 ล้านเครื่อง ภายในปี 2560

     หากยกตัวอย่างพื้นที่เหมาะสมกับการเป็นกรณีศึกษา ปัญหามลพิษมาราธอนครบวงจร “น้ำเสีย อากาศเสีย ขยะพิษ” คงไม่มีที่ไหนเหมาะสมเท่า “มาบตาพุด”

     ย้อนไปปี 2525 หลังขุดพบก๊าซธรรมชาติที่ “มาบตาพุด” จ.ระยอง ชุมชนเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติสำคัญของประเทศไทย มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกและระบบคมนาคมใหม่หมดจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” พื้นที่ไม่กี่พันไร่เพิ่มเป็น 1 หมื่นกว่าไร่ และในเวลาเพียงไม่กี่สิบปีกลายเป็นศูนย์รวมโรงงานอุตสาหกรรมหนักและขนาดใหญ่กว่า 200 แห่ง

ทำไม “ไทย” ต้องมี “PRTR บันทึกมลพิษ”

     ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่มาบตาพุดต้องสูดดมอากาศพิษ กินน้ำปนเปื้อนสารเคมีและเผชิญผลร้ายจากขยะอันตรายทับถมต่อเนื่องกว่า 20 ปี ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง ทารกเสี่ยงพิการตั้งแต่เกิด รวมถึงโรคร้ายต่างๆ ที่แฝงมากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด

     “เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่คลุกคลีกับการช่วยเหลือชาวบ้าน ต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลกำจัดมลพิษในมาบตาพุดมายาวนาน กล่าวยอมรับว่า ถ้าใครมามาบตาพุดวันนี้จะไม่รู้สึกเหม็นมากเท่า 10 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามลพิษในสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง เพราะนิคมแห่งนี้ยังมีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลา โรงงานเพิ่มมากขึ้น ผู้มาอาศัยเพิ่มขึ้น

     "รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโดยไปตรวจเช็กค่าน้ำเสีย ค่าอากาศเสียตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เห็นแต่ตัวเลขรวมๆ โดยไม่รู้ว่า โรงงานไหนแอบปล่อยมลพิษลงสิ่งแวดล้อมปริมาณมากน้อยแค่ไหน วิธีแก้ที่ถูกต้องคือ บังคับให้ผู้ประกอบการทำรายงานข้อเท็จจริงออกมา เหมือนในต่างประเทศ คนที่ต้องรายงานคือผู้ก่อมลพิษ ถ้าโกหกจะมีบทลงโทษหนักมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายรับรู้ตัวเลขที่แท้จริง”

     “เพ็ญโฉม” อธิบายต่อว่า เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังช่วยกันผลักดันร่างกฎหมายใหม่ ที่ชื่อ “PRTR"  หรือระบบฐานข้อมูลแสดงการเคลื่อนย้ายและขนส่งสารเคมีอันตราย (Pollutant Release and Transfer Register) เพื่อใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์ควบคุมสารมลพิษอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

     หมายถึงต่อไปนี้โรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ของเสีย หรือสารอื่นๆ ต้องรายงานว่ามีการปลดปล่อยหรือทิ้ง ระบาย มลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ มากน้อยเท่าไร และต้องรายงานด้วยว่า มีการเคลื่อนย้ายน้ำเสีย หรือขยะออกนอกโรงงานไปกำจัดอย่างไรบ้าง

     “ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การมีฐานทะเบียนข้อมูลว่าแหล่งกำเนิดมลพิษมีจำนวนเท่าไร ตอนนี้อาจมีกฎระเบียบสั่งให้โรงงานต้องทำรายงาน แต่ก็ไม่ได้บังคับจริงจัง บางแห่งก็ทำ บางแห่งก็ให้ข้อมูลโกหก ตอนนี้ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะสร้างระบบใหม่อย่างไร เช่น โรงงานนี้ปล่อยแคดเมียม ทองแดง สารเคมีอื่นฟๆ กี่ชนิด จำนวนเท่าไร ปล่อยแล้วไปลงที่ไหน”

     นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมข้างต้น ฝากข้อความถึงนายกรัฐมนตรีว่า อยากให้เข้ามาจัดการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมดของประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพราะล้าสมัย ซับซ้อน ไร้ประสิทธิภาพ ยุ่งเหยิง ซับซ้อน ทับซ้อน ที่สำคัญคือ ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เช่น รายงานสิ่งแวดล้อมอีไอเอ การกำจัดมลพิษจากสถานประกอบการ ผู้ดูแลท้องถิ่นมีกฎหมายแต่ไม่มีอำนาจสั่งปิดโรงงาน ฯลฯ

     “Connecting People to Nature” เป็นคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 2017 หมายถึงการเชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติเข้าด้วยกัน

     เพราะฉะนั้นมนุษย์ต้องช่วยกันกำจัดมลพิษ เพื่อหยุดทำร้ายสิ่งแวดล้อมที่กำลังเชื่อมโยงกับมนุษย์ทุกลมหายใจ

     ผ่านไป 45 ปี การจัดการมลพิษในสิ่งแวดล้อมของไทยไม่สำเร็จ เพราะไม่มีตัวเลขที่แท้จริงว่า โรงงานไหน ชุมชนใดทำให้น้ำเสีย ควันพิษ แอบทิ้งขยะ ที่น่ากังวลมากที่สุดคืออะไร และหนทางแก้ไขมีหรือไม่ ?

     วิธีการแก้ไข คือ ต้องคิดวิธีจูงใจ บังคับ หรือบทลงโทษ เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษรายงานข้อเท็จจริง โดยเฉพาะช่วยหยุดการผลาญเงินงบประมาณแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานรัฐต่างๆ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้นตอสารพิษมาจากไหน ปริมาณเท่าไร !?!

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ