คอลัมนิสต์

“สื่อ” ขาลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ ขยายปมร้อน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นช่วงปีที้่ยากลำบากและเลวร้ายของวงการสื่อ หลายคนเรียกว่าเป็นปี “เผาจริง” แต่เอาเข้าจริงแล้ว นี่อาจจะเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการ “เผาจริง” ก็ได้ เพราะสัญญาณต่างๆที่ปรากฎออกมาไม่มีอะไรที่ดีขึ้น ซ้ำยังจะอยู่ในช่วงขาลงอีกเรื่อยๆ

 

ปีนี้ตั้งแต่ต้นปี เราได้เห็นสื่อหลายสำนักต้องปรับตัว และบางสำนักต้องปิดตัวลง และอีกหลายสำนักต้องเปลี่ยนตัวเจ้าของ

 

ต้นปีก็มีวอยซ์ทีวี ที่ต้องปรับลดพนักงานลง ต่อมาในเดือน ต.ค. ทั้งบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป และ บริษัท มติชน ก็ประกาศโครงการเออร์ลีรีไทร์ เพราะผลประกอบการขาดทุน โดยทั้งสองต่างก็พุ่งเป้าบุกตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ

 

แต่สถานการณยังไม่ดีขึ้นเนชั่นยังประสบภาวะขาดทุน ซึ่งต้องดูว่าอนาคตจะมีมาตรการอะไรมาเพื่อทำให้สถานะการเงินของบริษัทดีขึ้น ส่วนมติชนเองนั้นโครงการเออร์ลีรีไทร์ก็ไม่เข้าเป้า สุดท้ายก็ต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม เช่นการตัดค่าโทรศัพท์ หรือค่าเวรของกองบรรณาธิการ ขณะที่ตลาดออนไลน์ก็ไม่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่คาดหวัง

 

ต่อมาไทยพีบีเอส ซึ่งแม้จะเป็นสื่อสาธารณะ ที่รับเงินจากรัฐปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ก็ก็ประกาศโครงการเออร์ลีรีไทร์ เพราะเมื่อก่อตั้งครบ 10 ปี กฎหมายบัญญัติให้ ไทยพีบีเอสต้องปรับตัวเองให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ที่ผ่านมาพวกเขาก็มีรายจ่าย ที่มากพอสมควร ท่ามกลางข้อครหาว่าที่ผ่านมา รับพนักงานเกินความจำเป็น

 

ตามมาด้วย การเข้าเทคโอเวอร์กิจการของ “อมรินทร์พรินทร์ติ้งแอนด์พับลิชชิง” ที่มีทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศนืดิจิตอลระบบ HD อยู่ในมือง โดยกลุ่ม “เบียร์ช้าง”

 

นอกจากนี้ยังมีการเข้าถือหุ้นช่อง ONE ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ดิจิตอลของบริษัทแกรมมี โดยกลุ่ม “ปราสาททองโอสถ” ที่ส่วนตัวก็มีช่อง PPTV ที่ยังขาดทุนอยู่ในมืออยู่แล้ว

 

และล่าสุดกับการปิดตัวของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก็สร้างความหวั่นไหวใหคนทำหนังสือพิมพ์ได้เป็นอย่างดี

 

เหตุผลที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ มีการวิเคราะห์กันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นช่วงขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ การเติบโตของสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนสื่อมืออาชีพ การแข่งขันของทีวีดิจิตอลที่มีมากและไม่สามารถแบ่งเค้กโฆษณาได้ตามที่คิด รวมไปถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำก็ล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ “อาชีพสื่อ” ที่เป็นอยู่ปัจจุบันนั้นความสามารถในการแข่งขันลดลงอย่างมาก จนทำให้สื่อสังคมออนไลน์เข้ามาแย่งชิงพื้นที่จาก “มืออาชีพ” ไปได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น “มืออาชีพ” ยังทำลายความเป็น “มืออาชีพ” ของตัวเอง ด้วยการทำงานที่มักง่าย เช่นนำเรื่องราวในโซเชียลมีเดียมาเสนอ โดยไม่มีการต่อยอดหรือแตกประเด็น หรือขนาดที่บางครั้งสิ่งที่เรียกว่าการตรวจสอบความถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐานยังไม่ทำกัน

 

และที่สำคัญคือทำลายความเป็น “มืออาชีพ” โดยการละเลยพื้นฐานหลักการ และอาศัยเพียงความเชื่อความชังในการทำงาน ความเป็นสื่อที่ทำเพื่อประชาชนถูกโยนทิ้งไปเพื่อตอบสนองจริตทางการเมืองของตนเท่านั้น

 

ยิ่งในสภาวะแบบนี้ สภาวะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสื่อมืออาชีพลดลง เพราะระบอบเผด็จการ เป็นระบอบที่ไม่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการนำเสนอที่เป็นอิสระเสรี ซึ่งเป็นจุดแข็งของ “ความเป็นสื่อมืออาชีพ” ทุกคนคงทราบกันดีว่าที่ผ่านมาการควบคุมการนำเสนอเป็นเช่นไร

 

  หากสื่อยังยินดีที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมหลักการพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง ก็เปล่าประโยชน์ที่จะมองหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

-----------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ