คอลัมนิสต์

โยกย้ายยึดหลัก'เข้าขามองตารู้ใจ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โยกย้ายยึดหลัก 'เข้าขา มองตา รู้ใจ' : ขยายปมร้อน โดย ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย และสมถวิล เทพสวัสดิ์

          มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นขอบโยกย้ายข้าราชการกระทรวงยุติธรรม "ลอตใหญ่" เรียกความสนใจได้ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ "กระทรวงยุติธรรม" ก็ทำเรื่อง "ฎีกาแดง" เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคมพอสมควร

           การโยกย้ายครั้งนี้จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่ที่ถูกโยกย้ายมานั่งในระดับแกนหลักในองค์กรเรียกว่าทำงาน "เข้าขา มองตา รู้ใจ" จะทำอะไรไม่ต้องพูดกันมาก

           และแต่ละคนส่วนใหญ่ก็คุ้นหน้าคุ้นตาในแวดวงการเมืองเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชื่อของ "บิ๊กตู่" พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แทบจะเป็นรายชื่อเดียวที่นำโด่งมาตลอดว่า อยู่ในข่ายต้องได้รับการปูนบำเหน็จ โดยโผแต่งตั้งโยกย้ายของกระทรวงยุติธรรมครั้งนี้ เป็นชื่อที่นอนมากับตำแหน่ง "อธิบดีกรมราชทัณฑ์" แบบโผไม่มีพลิก ไม่มีเพี้ยน โดยโยกให้ "ชาติชาย สุทธิกลม" อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้นั่ง "รองปลัดกระทรวงยุติธรรม" แทน

           สำหรับตำแหน่ง "อธิบดีกรมคุก" ถือว่า "พ.ต.อ.สุชาติ" น่าจะเป็นตำรวจคนแรกที่ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุด "บิ๊กตู่" เป็นอดีตนายเวร "พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์" อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษน้องชาย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีต รมว.ยุติธรรม โดยย้ายติดตาม "พล.ต.อ.สมบัติ" มาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดดีเอสไอ และได้รับแต่งตั้งเป็น "ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ" ที่ผ่านมาเคยมีผลงานการสอบสวนคดีสำคัญมากมาย

           ไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงจนนำไปสู่การชี้มูลความผิด "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" การรื้อฟื้นคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุฯ จนอัยการสั่งฟ้อง "พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม" หรือคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร แต่คดีที่ทำให้ พ.ต.อ.สุชาติ กลายมาเป็นคู่อาฆาตกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นคดีเงินบริจาคของบริษัททีพีไอ ซึ่งขยายผลสู่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์

           แต่ "พ.ต.อ.สุชาติ" ก็ได้รับการเลื่อนระดับจากซี 9 ตำแหน่ง "รองอธิบดีดีเอสไอ" เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีทีในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ จนสามารถสไลด์ข้ามกลับมาเป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวงยุติธรรมได้อีกครั้ง

           ที่สำคัญ "กรมราชทัณฑ์" ถือเป็นกรมใหญ่ที่สุดของกระทรวงยุติธรรม มีงบประมาณและข้าราชการมากกว่าทุกกรมในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงรวมกัน โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด เรือนจำหลายแห่งต้องปรับปรุงพื้นที่และติดตั้งอุปกรณ์ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นการปูนบำเหน็จให้แก่ "พ.ต.อ.สุชาติ" ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นการตอบแทนที่มากกว่าตำแหน่ง "อธิบดีดีเอสไอ"

           ซึ่งตำแหน่ง "อธิบดีดีเอสไอ" ธาริต เพ็งดิษฐ์ ครั้งนี้ฝ่ายการเมืองไม่อยากแตะ เพราะไม่อยากให้เหมือนกรณีของ "ถวิล เปลี่ยนศรี" ที่ฟ้องร้องนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีโยกย้ายไม่เป็นธรรม เก้าอี้ "อธิบดีดีเอสไอ" จึงอยู่ในกระแสสังคมเมื่อไม่อยากเกิดแรงกระเพื่อม จึงหันมาปรองดองโดยให้ "ธาริต" ทำงานในตำแหน่งเดิมต่อไป เมื่อเคยทำงานให้รัฐบาลที่แล้วอย่างสุดใจ เมื่อ "เพื่อไทย" มาเป็นรัฐบาลก็หวังว่า "ธาริต" จะทำงานนี้ให้รัฐบาลนี้สุดใจเช่นกัน

           นอกจากนี้ได้โยก "เพื่อนซี้" ของ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม คือ "พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ" ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ไปนั่ง "เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ" (ป.ป.ท.) แทน "อำพล วงศ์ศิริ" ที่ไปนั่งในตำแหน่ง "ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม"

           ขณะเดียวกัน "พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก" รมว.ยุติธรรม ได้ขอตัว "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาช่วยราชการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 1 ปี โดยให้ "สุรีย์ประภา ตรัยเวช" เลขาธิการ ป.ป.ส. ไปดำรงตำแหน่ง "รองปลัดกระทรวงยุติธรรม"

           สำหรับการขอตัว "อดุลย์ แสงสิงแก้ว" มาใช้งานที่ ป.ป.ส.ถือว่า "ประชา" ชื่นชอบผลงานของ "อดุลย์" เป็นการส่วนตัว เนื่องจาก อดุลย์ ได้ทั้ง "บู๊และบุ๋น" ทำงานตรงไปตรงมา ทำงานเข้าตา "ประชา" ตั้งแต่สมัยนั่ง "ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3" (ผบช.ภ.3) ก่อนเป็นที่กล่าวขวัญชื่นชมของผู้บังคับบัญชา รวมถึงผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลภายนอกที่ได้ร่วมทำงานด้วย

           โดยเฉพาะสำหรับผลงานที่โดดเด่นในการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วม 4 ปี หลังจากย้ายมาเป็น ผบช.ภ.9 เป็น ผบช.ภ.9 คนเดียวที่ไม่นั่งโต๊ะทำงานประจำสำนักงานตำรวจภาค 9 ที่จ.สงขลา แต่ไปอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา ตั้งแต่เป็น ผบช.จนเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.

           แต่น่าแปลกใจที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" กลับไม่ให้ "อดุลย์" ไปช่วยงานในตำแหน่ง "เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" (ศอ.บต.) ที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

           แต่กลับปรากฏชื่อ "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รองปลัดกระทวงยุติธรรม โดดข้ามห้วยไปนั่ง "เลขาธิการ ศอ.บต." ซึ่งเป็นระดับ 11 ที่ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย

           ที่สำคัญเก้าอี้ที่ "ทวี" จะได้ไปนั่งนอกจากดูแลเรื่องกำลังพลชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปทั้งฝ่ายปกครอง และความมั่นคง เงินงบประมาณที่อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของ "เลขาธิการ ศอ.บต." ก็ไม่ธรรมดาตัวเลขหลักหมื่นล้านบาท

           ดังนั้น การวางคนเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ เพื่อผลักดันองคาพยพของรัฐบาลจึงไม่น่าแปลกใจว่าการโยกย้ายครั้งนี้จะยึดหลัก "เข้าขา มองตา รู้ใจ"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ