Lifestyle

วิจัยสำเร็จ “ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม(THAI Colostomy Bags)”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก้ปัญหาการขับถ่ายผู้ป่วยมะเร็งลำไส้และทวารหนัก ที่คนไทยป่วยมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านม และ มะเร็งตับและท่อน้ำดี ผลงานคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) มีคุณสมบัติ เก็บกลิ่น กันการรั่วซึม สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยได้มากถึง 24 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ลดมูลค่าการนำเข้าได้ถึง 540 ล้านบาท นำไปทดลองกับคนป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 322 โรงพยาบาลแล้ว

วิจัยสำเร็จ “ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม(THAI Colostomy Bags)”

นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2560 – 2561 พบว่าคนไทยเป็นโรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก อันดับ 3 รองจากมะเร็งเต้านม และ มะเร็งตับและท่อน้ำดี  โดยจากการเก็บข้อมูลอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 และมีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี มาอยู่ที่ 21,188 ราย โดยผู้ป่วยมะเร็งลำไส้จำนวนมากต้องถูกผ่าตัดลำไส้จะต้องทำการเปิดหน้าท้อง หรือที่เรียกว่า ทวารเทียม ซึ่งจะมีชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมมีหน้าที่สำหรับรองรับของเสียจากร่างกายที่ขับออกมาแทนทวารหนัก ซึ่งปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมมีอยู่หลากหลายยี่ห้อ หลากหลายราคา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ชุดละ 300 บาทขึ้นไป ทำให้ภาครัฐต้องแบกรับงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยที่มีทวารเทียมที่สูง อีกทั้ง สปสช. ให้สิทธิผู้ป่วยสามารถเบิกได้เพียงเดือนละ 4 ชุดเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องหาซื้อเพิ่มเติมส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลทวารเทียมแต่ละเดือนที่สูง ส่วนรายไหนขัดสนจำใจต้องทน ต้องนำไปล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ระคายเคือง แป้นรั่วซึม หลุดง่าย และมีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้น

วิจัยสำเร็จ “ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม(THAI Colostomy Bags)”

นพ.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีการใช้แป้นและถุงทวารเทียมจากต่างประเทศ เฉลี่ย 52,719 ชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นเงินเฉลี่ย 4,664,678 บาทต่อปี  และยังมีค่าใช้จ่ายแฝงของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในการเดินทาง ค่าที่พัก และการเสียโอกาสในการหารายได้ ดังนั้นทีมวิจัย มอ.โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ผลิตชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียมจากเม็ดพลาสติก Compound LLDPE ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติและยางพารา ทั้งนี้ อุปกรณ์ มีลักษณะเป็นถุงทำจากพลาสติก และมีฝารองถุง ทำจากยางพารา ออกแบบมาติดลำตัวหรือแนบสนิทกับผิวได้ดี ลดการระคายเคือง นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนของเดิมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ฝารองถุงเป็นพลาสติก เมื่อนำไปติดผิวหนังทำให้ร้อน เกิดการระคายเคือง ทำให้ติดได้ไม่นาน เปลี่ยนบ่อย  สามารถ เก็บกลิ่น กันการรั่วซึม โดยใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้นทดสอบต่างๆ กว่า 5 ปีจนได้ผลิตภัณฑ์ THAI Colostomy Bags ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม “จากคนไทย สู่คนไทย” และมีการนำไปใช้จริงในโรงพยาบาล 5 แห่งของภาคใต้ ปรากฏว่า  สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยได้มากถึง 24% ต่อปี ซึ่งจากเดิม 15,000 บาท/ปี/คน เป็น 11,400 บาท/ปี/คน สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาชุดๆ ละ 250-300 บาท ในผู้ป่วย 150,000 คน รวมมูลค่า 2,250 ล้านบาท/ปี เป็นชุดละ 190 บาท มูลค่า 1,710 ล้านบาท/ปี ลดลงถึง 540 ล้านบาท

 

นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ ผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากภายในประเทศและต่างประเทศ การันตีผ่านรางวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “รางวัลผลงานที่น่าลงทุนที่สุดในกิจกรรม NSTDA Investors' Day 2019 งาน THAILAND TECH SHOW 2019” “รางวัลเหรียญเงินจากงาน 44th International Exhibition of Inventions เมืองเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รางวัล Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) สาธารณรัฐเกาหลี และ “รางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ STSP Award 2019”

วิจัยสำเร็จ “ชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม(THAI Colostomy Bags)”

ด้าน น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สอว.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัยดังกล่าว กล่าวว่า ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการนำผลงานไปใช้ทดลองกับคนป่วยทั่วประเทศทั้งหมด 322 โรงพยาบาล โรงพยาบาลละ 30 คน คิดเป็นคนป่วยทั้งหมดประมาณ 9,000 คน ผ่านธุรกิจจัดตั้งใหม่หรือสตาร์ทอัพ โดยทีมนักวิจัย หจก.ดับเบิ้ลยู อิน เซอร์เจอรี่  เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐานและราคาที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้ป่วยทุกระดับสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ