ชีวิตดีสังคมดี

ความจำเป็น 'ห้องเรียนปลอดฝุ่น' ความจริงที่น่ากลัวมากกว่าการเสียงบ 219 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดความจำเป็นที่ต้องมี 'ห้องเรียนปลอดฝุ่น' เรื่องจริงที่น่ากลัวกว่าการสูญเสียงบประมาณ 219 ล้านบาท ทำวันนี้ดีกว่ารอให้ฝนตกมาชะล้างฝุ่น PM2.5

กลายเป็นกระแสที่สังคมต่างตั้งคำถามมากมาย ถึงการที่สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.)ปัดตกงบประมาณการจัดทำ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" PM 2.5 จำนวน 219 ล้านบาท ทำให้หลายคนเรียกการปัดตกงบประมาณดังกล่าว เป็นการตีเช็คเปล่า

 

 

การตัดงบประมาณในครั้งนี้ สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก และมีการตั้งคำถามากมายว่า การที่ สภา กทม. ปัดตก "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" ในครั้งนี้ไม่ได้คำนึงความปลอดภัยของเด็กในช่วงวัยที่สมองกำลังเจริญเติบโต แต่ต้องมารับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับ ฝุ่นพิษ

  • ทำไม "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" จึงจำเป็นสำหรับเด็กๆ

หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเราสามารถดำเนินกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเป็นการปกกันฝุ่นได้ แต่ที่ผ่านมามีเด็กเล็กเจ็บ ป่วย ด้วยโรคทางเดินหายใจเข้ารับการรักษาตังที่โรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจาก หน่วยระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า ฝุ่น PM2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็ก และอาการรุนแรงในกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เพราะฝุ่น PM2.5 แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด เซลล์สมองถูกทำลาย กระทบต่อสติปัญญา หากสะสมมีความเสี่ยงทำให้เด็กมีสมรรถภาพปอดลดลง และในระยะยาวอาจสะสมจนเกิดโรคมะเร็งปอด  

 

ไม่ใช่แค่เล็กเด็กเท่านั้น แต่พบว่า ทารกในครรภ์มารดา ซึ่งช่วงอายุครรภ์ 6 เดือนแรก เป็นช่วงสร้างอวัยวะปอด สมอง หัวใจ ทางเดินอาหารให้เจริญเติบโต หากได้รับฝุ่น PM2.5 เข้าไป ทำให้อวัยวะไม่สมบูรณ์ เซลล์สมองถูกทำลาย ทารกน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ และเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ในที่สุดส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้ สมาธิสั้น

  • กรุงเทพมหานครมีวันอากาศดีแค่  49 วัน แล้วทำไมต้องปัดตกงบสร้าง "ห้องเรียนปลอดฝุ่น"

แม้เหตุผลที่ สภากทม. ปัดตก "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" โดยบอกว่า สามารถดำเนินการปลูกต้นไม้ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อลดปัญหา PM2.5  ในพื้นที่ซึ่งดีกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยสร้าง ห้องเรียนปลอดฝุ่น แต่รู้หรือไม่แนวทางดังกล่าว กทม. ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น แต่ปริมาณฝุ่นพิษ ที่มีมากมายและอยู่ยาวนานขึ้นการทำกิจกรรมพื้นๆ อาจจะไม่เพียง เพราะต้องบอกว่า สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครเลวร้ายเกินไปแล้ว  จากข้อมูล สถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project และอ้างอิงค่าระดับคุณภาพอากาศของค่า PM2.5 จากข้อเสนอของกรีนพีซ พบว่า ในปี 2022  กรุงเทพฯ มีวันที่อากาศดี คืออยู่เกณฑ์สีเขียวเพียง 49 วัน คิดเป็น 13.42% ของทั้งปี น้อยกว่าในปี 2021 ที่มีถึง 90 วัน ในขณะที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นวันที่อากาศมีคุณภาพปานกลาง คือเกณฑ์สีเหลือง 261 วัน หรือคิดเป็น 71.51% ของทั้งปี มากกว่าปี 2021 ที่มีจำนวน 202 วัน ส่วนวันที่มีคุณภาพอากาศที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษหรือสีส้มนั้นมีจำนวน 52 วัน หรือคิดเป็น 14.25% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2021 ที่มี 61 วัน และวันที่มีอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออยู่ในเกณฑ์สีแดงนั้นมีเพียง 3 วัน หรือคิดเป็น 0.82% ของทั้งปี ลดลงจากปี 2021 ที่มีถึง 12 วัน

 

 

 

  • ปรับเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศลง ไม่ได้แปลว่าฝุ่น PM 2.5 จะลดน้อยลง

ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ จากที่ผ่านมายึดใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครอน ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2553  ขณะที่ค่ามาตรฐานใหม่ ปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงลงมาเหลือที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 และปรับค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตามการปรับค่ามาตรฐานครั้งนี้ ถือว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน

 

 

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ SDGMOVE ระบุว่า ทุก ๆ ปีมีประชากรโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในสิ่งแวดล้อมมากถึง 7 ล้านคน โดยมีสาเหตุมาจากเฉพาะมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไปภายนอกอาคาร (ambient) มากถึง 4.2 ล้านคน  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรวมทั้งเด็กๆ ตัวเล็กอยู่ในนั้นด้วย สำหรับโครงการ "ห้องเรียนปลอดฝุ่น" คงต้องตามลุ้นต่อไปว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือต้องรอให้ฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นให้ไปเองเหมือนที่ผ่านๆ มา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ